คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 141, 142, 157, 202, 243, 246

ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่6ทราบวันนัดด้วยการที่ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์ไปและมีคำสั่งว่าจำเลยที่6ขาดนัดพิจารณาให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินค้าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่6ไปฝ่ายเดียวจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(2)ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่6ทราบแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่6ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีความหมายว่าให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่6ขาดนัดพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่6ให้ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่6ทราบแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่6ตามรูปคดีโดยพิพากษายืนในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1ที่2ที่3ที่5และที่7แต่ปรากฏว่าหลังจากโจทก์ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่6ซึ่งศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่6ได้ตามคำร้องและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่6เสียจากสารบบความของศาลฎีกาจึงไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่6ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อไปอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่6ทราบแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่6ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1ที่2ที่3ที่5และที่7ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีความหมายว่าพิพากษายืนในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1ที่2ที่3ที่5และที่7นั้นจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา141(4)และมาตรา142ประกอบด้วยมาตรา246อันเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 358

แม้ผู้เสียหายทั้งสองกับจำเลยยังมีเรื่องโต้เถียงกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะทำลายต้นยูคาลิปตัส ที่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นผู้ปลูกที่ดินพิพาทได้ หากจะถือว่าการปลูกต้นยูคาลิปตัส ลงในที่ดินเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของจำเลย ในกรณีที่ต่างโต้เถียงสิทธิครอบครองกันเช่นนี้ต่างก็ต้องฟ้องเอาคืนการครอบครองโดยต้องว่ากล่าวกันในทางศาล การที่จำเลยเข้าตัดฟัน ขุดและเผาต้นยูคาลิปตัส จึงเป็นการทำให้เสียทรัพย์ของผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5813

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5813/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 880

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้เมื่อผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกในอายุความอย่างใดผู้รับประกันภัยก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกภายในอายุความอย่างเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132, 260, 264

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฎว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่นั้นศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วโดยพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นผลก็คือโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยผู้ขอคุ้มครองชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา264เป็นฝ่ายชนะคดีและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาย่อมเป็นอันยกเลิกไปในตัวตามมาตรา264วรรคสองประกอบมาตรา260(1)จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไปศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ยอมส่งตัวลูกจ้างที่ขับรถยนต์พิพาทไปเกิดอุบัติเหตุไปให้พนักงานสอบสวนและไม่นำรถยนต์พิพาทไปมอบให้พนักงานสอบสวนต่อมาเมื่อโจทก์และจำเลยเลิกสัญญาเช่าต่อกันและจำเลยมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์แล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้มายึดรถยนต์พิพาทไปการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถนำรถยนต์พิพาทไปให้เช่าได้ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังนี้การที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์ไปเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายมิใช่การกระทำของจำเลยจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 86, 94

ช. บิดาโจทก์จำเลยเป็นคนต่างด้าวที่ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จึงลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทนการที่ซ. ได้ที่ดินมาดังกล่าวแม้จะถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา86แต่การได้ที่ดินมานั้นก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใดๆเสียเลยเพราะซ. ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา94ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดหรืออธิบดีอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้จึงต้องถือว่าตราบใดที่หรืออธิบดียังไม่ได้จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็ยังเป็นของซ. เมื่อซ.ถึงแก่ความตายนั้นย่อมเป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของซ. มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจากจำเลยได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5815

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5815/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 79 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153

จำเลยอ้างในคำร้องว่าบ้านเลขที่ตามคำฟ้องไม่มีตัวบ้านหรืออาคารที่พักอาศัยและพนักงานเดินหมายนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายเรียกของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปปิดไว้ณหอพักระพีพร ซึ่งไม่ใช่บ้านเลขที่ตามคำฟ้องหากเป็นจริงตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวการส่งหมายดังกล่าวก็เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา79และไม่มีผลตามกฎหมายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153ดังนั้นศาลชั้นต้นชอบที่จะรับคำร้องของจำเลยไว้ไต่สวนต่อไปว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยชอบหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 248, 296

คดีเดิมต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคสองอุทธรณ์ชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาก็ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 10

สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสาธร-ลาดพร้าว(บริเวณโรงซ่อมบำรุง)กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนและจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่จะถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขณะทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯนั้นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ.2530ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่1เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วเพราะหมดอายุฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่1กับฐานะของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานครตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่พ.ศ.2530ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่953/2534สิ้นสุดลงไปด้วยและราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดย่อมสิ้นผลไปด้วยดังนั้นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวซึ่งจำเลยทั้งสองทำในขณะไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่แล้วจึงเป็นการกระทำโดยผู้ปราศจากอำนาจและไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา10วรรคหนึ่งย่อมไม่มีผลใช้บังคับการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงต้องดำเนินการใหม่เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ.2535มีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1727 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 42, 88

ศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องมิใช่บุตรของผู้ตายและมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีการะหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาผู้คัดค้านถึงแก่กรรมผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีศาลฎีกาอนุญาตให้จำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านเสียจากสารบบความแต่ยังคงวินิจฉัยประเด็นที่ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ต่อไป คดีที่ไม่มีการชี้สองสถานผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่7ตุลาคม2535เป็นระยะเวลาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันโดยศาลชั้นต้นไต่สวนไว้วันที่12พฤศจิกายน2535และเลื่อนไปนัดไต่สวนวันที่17ธันวาคม2535แล้วเลื่อนไปนัดไต่สวนวันที่18มกราคม2536ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่1เมื่อวันที่18ธันวาคม2535ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันอันเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา88วรรคสองและวรรคสามต่อมาศาลชั้นต้นนัดและไต่สวนพยานผู้คัดค้านในวันที่24กุมภาพันธ์2536ในวันเดียวกันนี้แต่ก่อนไต่สวนผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่2หนึ่งอันดับคือทะเบียนบ้านซึ่งแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายผู้ร้องมิได้แถลงคัดค้านแต่กลับยอมรับด้วยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายจึงไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบหรือทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบประกอบกับคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ด้วยมิใช่มีแต่เพียงประเด็นที่ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่และมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกหรือไม่จึงถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานที่ขออนุญาตระบุเพิ่มเติมนี้เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมศาลชั้นต้นใช้คำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่2ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

« »
ติดต่อเราทาง LINE