คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7032/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23
ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อล่วงเลยเวลากำหนด1เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา247โดยอ้างว่าหลงลืมวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกาในกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ดังนี้การที่โจทก์จะขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23นั้นจะต้องกระทำเสียก่อนระยะเวลายื่นฎีกาสิ้นสุดลงเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยแต่เหตุที่ทนายโจทก์อ้างว่าหลงลืมวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมิได้ได้ยื่นฎีกาในกำหนดอายุฎีกานั้นมิใช่เหตุสุดวิสัยแต่อย่างใดกรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้โจทก์ได้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาจึงไม่ชอบฎีกาของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาจึงเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดอายุฎีกาจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกันศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7030/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 73 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 66
แม้ใบแต่งทนายความของจำเลยจะลงชื่อส. หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยเพียงคนเดียวไม่เป็นไปตามข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการที่ระบุให้ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับค. และประทับตราห้างจำเลยตามหนังสือรับรองนิติบุคคลซึ่งทำให้อำนาจของผู้แทนนิติบุคคลในการดำเนินคดีของจำเลยบกพร่องก็ตามแต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา66ให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องโดยการร้องขอต่อศาลตั้งผู้แทนชั่วคราวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา73และให้จัดทำใบแต่งทนายความขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นอำนาจที่ศาลอุทธรณ์กระทำได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจให้แก้ไขข้อบกพร่องนี้ได้เมื่อพบเห็นเองส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งส. เป็นผู้แทนชั่วคราวของจำเลยตามที่จำเลยยื่นคำร้องขอมาโดยค.ยังเป็นหุ้นส่วนของจำเลยผู้มีอำนาจลงชื่อร่วมกับส.ในการทำนิติกรรมต่างๆของห้างอยู่แต่ปรากฎว่าค.แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยไม่ยอมลงชื่อในใบแต่งทนายความร่วมกับส.ตามข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมเกิดความเสียหายแก่จำเลยได้และไม่มีทางใดที่จะบังคับค. ได้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งส. เป็นผู้แทนชั่วคราวของจำเลยและจำเลยได้เสนอใบแต่งทนายความฉบับใหม่ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์แล้วย่อมทำให้อำนาจฟ้องที่บกพร่องนั้นเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มแรกจำเลยจึงมีอำนาจให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 569, 1312, 1336
โรงเรือนพิพาทเดิมเป็นของ ท. โดย ท. เช่าที่ดินของ บ. เพื่อปลูกโรงเรือนพิพาทดังกล่าว ต่อมาปี 2530 บ.ยกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้ ล. ต่อมา ล. ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลง ทำให้โรงเรือนพิพาทอยู่บนที่ดินสองแปลงคือโฉนดเลขที่ 6204 และ 62023 ครั้นปี 2533 จำเลยซื้อโรงเรือนพิพาทมาจาก ท. หลังจากนั้นปี 2537 ล. ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 แก่โจทก์กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยซื้อเฉพาะโรงเรือนพิพาทจาก ท. แม้การซื้อขายจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะโรงเรือนพิพาทเท่านั้น หามีสิทธิในที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือนไม่ และเป็นเรื่องที่จำเลยมีโรงเรือนส่วนหนึ่งในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิและแม้จำเลยจะเช่าที่ดินของ ล. ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ และโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5297/2539
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 102
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา102เป็นการให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานและไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้จึงต้องหมายถึงการไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นและต้องเป็นสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างดังกล่าวสังกัดอยู่เท่านั้นมิใช่สหภาพแรงงานใดก็ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัดมิฉะนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่องหากกฎหมายประสงค์จะให้สิทธิลูกจ้างไปประชุมในเรื่องอื่นก็จะต้องบัญญัติไว้ดังนั้นการที่ส. ไปร่วมประชุมในฐานะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เกี่ยวกับกรณีลูกจ้างบริษัทว.ยื่นคำร้องกล่าวหาว่าถูกนายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรมซึ่งไม่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานโจทก์ที่ส. สังกัดอยู่ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเป็นส่วนตัวหาใช่เป็นการร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดไม่จึงไม่ก่อให้ส.เกิดสิทธิลาไปร่วมประชุมตามนัยมาตรา102จึงถือไม่ได้ว่าวันที่ส. ลาไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกรณีข้างต้นรวม8วันเป็นวันทำงานเมื่อส. เป็นลูกจ้างรายวันและไม่ได้ทำงานในวันดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันลาทั้ง8วันนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2539
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 10 ทวิ, 25, 26 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ม. ,
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน60วันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา25วรรคสองและโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน1ปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวตามมาตรา26วรรคหนึ่งเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีโดยล่วงเลยกำหนดนั้นจึงไม่มีสิทธิฟ้องและประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44ข้อ2ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแก้ไขค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้เมื่อเห็นว่าราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนสูงขึ้นและราคาที่จ่ายให้ผู้ถูกเวนคืนไปแล้วหรือราคาเบื้องต้นที่กำหนดและประกาศไปแล้วไม่เป็นธรรมก็หามีผลบังคับให้เป็นคุณแก่โจทก์ไม่เพราะการฟ้องคดีของโจทก์ได้เสร็จเด็ดขาดไปก่อนแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ม. 25 วรรคสอง, 26 วรรคหนึ่ง
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี ดังนี้เมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 วันที่ 20 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่วันดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 1 มิถุนายน 2537 จึงฟ้องหลังจากพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 25 วรรคสอง, 26 วรรคหนึ่ง
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา26วรรคหนึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำฟ้องภายใน1ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีซึ่งตามมาตรา25วรรคสองให้รัฐมนตรีวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์แต่หากรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเสียภายใน1ปีนับแต่วันพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์คดีนี้รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยคำอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา25วรรคสองโจทก์ต้องยื่นคำฟ้องภายใน1ปีนับแต่วันที่6ตุลาคม2533อันเป็นวันพ้นกำหนดเวลาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา25วรรคสองโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้วันที่24มกราคม2535อำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นอันสิ้นไปตามมาตรา26แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680
ตามสัญญาค้ำประกันมีใจความว่าข้าพเจ้า(จำเลย)ขอทำสัญญาค้ำประกันว. ไว้ต่อบริษัทน. มีข้อความดังต่อไปนี้ข้อ5"ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับคำสั่งให้โยกย้ายไปปฏิบัติงานในบริษัทอื่นซึ่งต่างนิติบุคคลกับบริษัทน. แต่เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มที.ซี.ซี.ไม่ว่าจะตั้งสำนักงานอยู่ณที่ใดก็ตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้ย่อมมีผลใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างของบริษัทในเครือของบริษัทกลุ่มที.ซี.ซี."หมายความว่าจำเลยยอมผูกพันตนชำระหนี้ค่าเสียหายไม่ว่ากรณีใดๆอันเกิดจากการกระทำของว.ในขณะปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างของบริษัทน. หรือบริษัทในกลุ่มที.ซี.ซี. เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าขณะที่ว. ไปก่อให้เกิดความเสียหายนั้นว.ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานในบริษัทน.แต่ไปทำหน้าที่ในเครือบริษัทกลุ่มที.ซี.ซี.และโจทก์เป็นบริษัทในเครือกลุ่มที.ซี.ซี.ดังนั้นเมื่อว.ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญานี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9060/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 144
คดีก่อนโจทก์ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยขอไถ่ถอนจำนองที่ดิน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินให้แก่ผู้ร้องสอดและได้มอบสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ร้องสอดโดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนการโอนให้เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอน และเพื่อเป็นหลักประกันโจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่ผู้ร้องสอดสัญญาจะซื้อขายจึงขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ ส่วนสัญญาจำนองมีผลบังคับได้ ผู้ร้องสอดครอบครองในฐานะผู้รับจำนองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องสอดอ้างว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอดแต่เนื่องจากมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี โจทก์จึงจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้ร้องสอด โจทก์ได้สละสิทธิและส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ร้องสอดแล้วผู้ร้องสอดจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินคดีทั้งสองโจทก์กับผู้ร้องสอดเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีนี้มีว่า ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินหรือไม่ ส่วนคดีก่อนแม้ประเด็นจะมีว่า โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินหรือไม่ แต่การที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ก็จะต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าผู้ร้องสอดมีสิทธิครอบครองที่ดินหรือไม่เสียก่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องสอดในคดีนี้จึงซ้ำกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ปัญหาที่ว่าผู้ร้องสอดดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 142(5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2539
พระราชบัญญัติป่าไม้ ม. 54 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ม. 14
แม้จำเลยจะซื้อสิทธิครอบครองที่ดินจากบุคคลผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติก็เป็นเพียงแสดงว่าเฉพาะตัวผู้ที่ขายสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยขาดเจตนาที่จะบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้นเมื่อปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยซื้อได้มีกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อวันที่12มิถุนายน2529จำเลยเบิกความว่าได้ซื้อมาระหว่างปีพ.ศ.2530ถึงปี2535จึงเป็นระยะเวลาที่รัฐประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้วและจำเลยก็ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติการที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507มาตรา14และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484มาตรา54ซึ่งบัญญัติห้ามยึดถือครอบครองป่าเช่นกันด้วย