คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9307

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9307/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

คำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมไว้รอบไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้คงมีทางออกอยู่ทางเดียวที่จำเลยปิดกั้นเสียทางดังกล่าวจึงเข้าลักษณะทางจำเป็นทั้งคำขอท้ายฟ้องก็ขอให้บังคับให้จำเลยรือถอนสิ่งปลูกสร้างใดๆที่ทำขึ้นบนที่ดินเพื่อให้โจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโจทก์และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาทจึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9306

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9306/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 149 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ม. 28 ทวิ, 28 จัตวา

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานเขตภายใต้บังคับบัญชาของหัวหน้าเขตซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยนัยแห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 28 จัตวา(2)หัวหน้าเขตย่อมมีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1ให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินภายในเขตท้องที่และถือว่าจำเลยที่ 1เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเสมียนสัสดี เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกและรับเงินจากบรรดาทหารกองเกินผู้ได้รับหมายเรียกให้เข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการเป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือมิให้ต้องเข้ารับการตรวจเลือกและไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9303

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9303/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59, 177

จำเลยที่1และที่2มีหน้าที่ปฏิบัติราชการตามคำสั่งของฝ่ายพัสดุที่กำหนดให้จำเลยที่1มีหน้าที่เบิกจ่ายและให้ยืมวัสดุแบบพิมพ์แก่หน่วยงานของโจทก์ที่ขอเบิกและยืมเก็บรักษาใบยืมและติดตามหน่วยงานที่ขอยืมให้ทำใบเบิกเพื่อชดใช้การยืมให้เสร็จสิ้นและจำเลยที่2มีหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่1การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นไม่ปรากฏว่าการเบิกจ่ายวัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ได้กระทำโดยไม่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาส่วนหลักฐานการลงบัญชีรับ-จ่ายการเก็บรักษาวัสดุแบบพิพม์ของเจ้าหน้าที่ก็มีการปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการทุกประการแม้ผู้ยืมจะรับวัสดุแบบพิมพ์ไปก่อนโดยเขียนใบยืมไว้แต่ยังไม่ตัดจ่ายออกจากบัญชีดังนั้นจำนวนวัสดุแบบพิมพ์คงเหลือจึงน้อยกว่าจำนวนคงเหลือในบัญชีเมื่อมีการตรวจนับในภายหลังทำให้ของขาดบัญชีได้และทางปฏิบัติในการยืมยังไม่รัดกุมพอไม่มีการทำทะเบียนควบคุมใบยืมและใบยืมไม่มีการอนุมัติตามขั้นตอนโดยจำเลยที่1และที่2ละเลยไม่สนใจติดตามให้ผู้ยืมทำใบเบิกเพื่อตัดออกจากบัญชีหรือทำใบยืมสูญหายแต่เมื่อวัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ได้ถูกยืมไปใช้ในทางราชการไม่ได้สูญหายไปโดยเหตุอื่นการละเลยของจำเลยที่1และที่2จึงเป็นเรื่องการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายส่วนจำเลยที่3และที่4เป็นลูกจ้างประจำตามคำสั่งของฝ่ายพัสดุกำหนดให้เป็นผู้ช่วยจำเลยที่2ประจำห้องครัววัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่1ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่2ไม่มีหน้าที่เก็บรักษาลูกกุญแจเปิดปิดคลังวัสดุและไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารใบเบิกหรือใบยืมจำเลยที่3และที่4มีหน้าที่เพียงจัดขนส่งวัสดุแบบพิมพ์มอบให้แก่หน่วยงานที่ขอเบิกหรือขอยืมตามคำสั่งของจำเลยที่2เท่านั้นจำเลยที่3และที่4จึงไม่ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในเหตุที่วัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ขาดจากบัญชีดังกล่าวข้างต้นด้วย จำเลยที่3และที่4ให้การว่ายอมร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามรายการดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์คำให้การของจำเลยที่3และที่4จึงหมายความว่ายอมร่วมกับจำเลยที่1และที่2ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามรายการดังกล่าวในกรณีที่จำเลยที่1และที่2ต้องรับผิดเท่านั้นมิใช่คำให้การยอมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เมื่อจำเลยที่1และที่2ให้การปฏิเสธซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่3และที่4ด้วยและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีมูลที่จะให้จำเลยที่3และที่4รับผิดต่อโจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9300

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9300/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 232

ส. ถูกฟ้องว่าร่วมกันฆ่าผู้ตายด้วย แต่เป็นคนละสำนวนกับคดีนี้ การที่โจทก์อ้าง ส. เป็นพยานจึงมิใช่กรณีที่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 คำเบิกความของส. จึงรับฟังได้ แต่จะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ข้อแตกต่างเกี่ยวกับสถานที่กระทำความผิดเป็นเพียงรายละเอียด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติมิให้ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันให้ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยก็เข้าใจดีแล้วว่าเหตุเกิดในบริเวณใดมิได้หลงต่อสู้จึงลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9299

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9299/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 30, 193 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 78, 160

ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 78,160 รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหานี้ไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ก็ต้องหมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะที่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 เท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9270

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9270/2539

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 11 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 114

คดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินของผู้ล้มละลายกับผู้คัดค้านซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 อันเป็นกฎหมายพิเศษ มิใช่คดีแพ่งที่ฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้เยาว์ก็ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลที่พิจารณาคดีล้มละลายจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 372, 378 (3), 456 วรรคสอง

วัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทนั้นคือการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลยเมื่อปรากฎตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดินและที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วยอันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ดังนั้นการปฎิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขายกรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา372ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีกกรณีไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาแต่ประการใดโจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จากโจทก์40,000,000บาทนั้นเมื่อการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9239

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9239/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 127 พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชน ฯ

เอกสารการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นเอกสารมหาชนซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา127ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ถูกเอกสารมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารแต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอย่างใดดังนั้นโจทก์จึงนำสืบผู้รับมอบอำนาจโจทก์ประกอบเอกสารดังกล่าวก็เป็นการเพียงพอแล้วไม่จำต้องนำสืบเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนอีก โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินเป็นความสมัครใจของจำเลยเองอันเป็นการตกลงในเรื่องดอกเบี้ยสองลักษณะคือดอกเบี้ยปกติ(ร้อยละ14.5ต่อปี)กับดอกเบี้ยผิดนัด(ร้อยละ18.5ต่อปี)หากจำเลยได้ชำระหนี้ตามปกติโจทก์ย่อมไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดแต่เมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยในอัตราผิดนัดตามที่ตกลงกันส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19ต่อปีตามหนังสือต่ออายุสัญญานั้นโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่1ได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ.2523และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ลงวันที่20พฤศจิกายน2533ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามสัญญากู้เงินย่อมผูกพันใช้บังคับกันได้หาใช่เป็นเบี้ยปรับเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนไม่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9216

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9216/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 6

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,80ลดมาตราส่วนโทษแล้วลงโทษจำคุกจำเลย6ปีให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมแทนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา295ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาจำเลยไปอบรมดูแลดังนี้เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษจำเลยเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและการให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมหรือมอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาจำเลยไปอบรมดูแลฯถือได้ว่าเบากว่าโทษจำคุกจึงเป็นการให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534มาตรา6ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคหนึ่งที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9269

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9269/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 84, 87, 161 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 11 (3) พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 114

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าจำเลยที่2เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแต่จดทะเบียนใส่ชื่อผู้คัดค้านทั้งสามถือกรรมสิทธิ์แทนซึ่งเป็นการกระทำภายในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้จำเลยที่2ล้มละลายโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนขอให้สั่งเพิกถอนการกระทำของจำเลยที่2ที่ยินยอมให้ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าถือกรรมสิทธิ์แทนในโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าการที่จำเลยที่2จดทะเบียนใส่ชื่อผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวเป็นการกระทำใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่2ตามความในมาตรา114แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการกระทำของจำเลยที่2ในคดีนี้ได้ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่าจำเลยที่2ไม่ใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทก็เป็นเพียงคำให้การที่ปฏิเสธคำร้องของผู้ร้องและทำให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทซึ่งคู่ความมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบในชั้นพิจารณาต่อไปหาทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนในคดีนี้ไม่ เมื่อในชั้นพิจารณาผู้ร้องและผู้คัดค้านได้นำพยานหลักฐานของตนเข้ามาสืบจนสิ้นกระแสความแล้วผู้ร้องจะได้นำสืบข้อเท็จจริงใดๆอันเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของจำเลยที่2หรือไม่จึงเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาล คดีที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้นต้องเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวหรือเป็นคดีที่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้ความคุ้มครองผู้เยาว์เท่านั้นแต่คดีนี้เป็นคดีร้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่2ผู้ล้มละลายซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483อันเป็นกฎหมายพิเศษมิใช่คดีแพ่งที่ฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แม้ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้เยาว์คดีนี้ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว การเพิกถอนการโอนหรือการกระทำเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนก็ยังถือเป็นการโอนหรือการกระทำโดยชอบอยู่จึงถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านทั้งสามต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำเป็นต้นไปปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ผู้ร้องว่าความเองในศาลชั้นต้นจึงไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่าทนายความให้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้ผู้คัดค้านทั้งสามใช้แทนผู้ร้องจึงไม่ชอบศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE