สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 372, 378 (3), 456 วรรคสอง

วัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทนั้นคือการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลยเมื่อปรากฎตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดินและที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วยอันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ดังนั้นการปฎิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขายกรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา372ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีกกรณีไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาแต่ประการใดโจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จากโจทก์40,000,000บาทนั้นเมื่อการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2533 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 902 ตำบลคลองสี่ (ตก) อำเภอแสนแสบกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 92 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา ให้โจทก์ราคาที่เหลือในราคา 135,000,000 บาท จำเลยรับมัดจำแล้ว 40,000,000บาทราคาที่เหลือ 95,000,000 บาท โจทก์ตกลงจะชำระให้จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินภายในวันที่ 6 มีนาคม2534 หากโจทก์ผิดสัญญายอมให้จำเลยริบมัดจำ หากจำเลยผิดสัญญายอมคืนมัดจำและชำระค่าปรับอีก 40,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี แก่โจทก์ และให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ ก่อนถึงวันกำหนดนัดจดทะเบียนโอน โจทก์สืบทราบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตสำรวจของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเวนคืนสำหรับก่อสร้างสถานีหรือศูนย์คอนเทนเนอร์ (ที่บรรจุและแยกสินค้า) โจทก์จึงแจ้งจำเลยขอขยายเวลารับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินที่เหลืออีก 95,000,000 บาท จนกว่าจะทราบแนวเวนคืนที่แน่ชัด แต่จำเลยไม่ยอม ในวันที่ 6 มีนาคม 2534 โจทก์นำเช็คธนาคารจำนวนเงิน 95,000,000 บาท ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินและให้บันทึกแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่อาจจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ในวันเดียวกันจำเลยไปพบเจ้าพนักงานที่ดินและให้ทำบันทึกว่า โจทก์ไม่มาจดทะเบียนรับโอนต่อมาจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำ 40,000,000 บาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญาและไม่ได้จงใจผิดนัด แต่เนื่องจากมีพฤติการณ์พิเศษและเหตุขัดข้องดังกล่าว โจทก์ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนมัดจำแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ16 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 กันยายน 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน5,470,684.70 บาท และชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์อีก 40,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2534ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,069,041.09 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น87,539,725.79 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 87,539,725.39บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีของต้นเงิน 80,000,000นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ทราบว่าที่ดินแปลงพิพาทอยู่ในเขตสำรวจของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเวนคืนสำหรับก่อสร้างสถานีหรือศูนย์คอนเทนเนอร์ หากมีการสำรวจจริงก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าที่ดินจะถูกเวนคืนหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเวนคืนที่ดินแปลงนี้หรือกำหนดให้ที่ดินแปลงนี้อยู่ในบริเวณที่จะเวนคืนโจทก์อ้างเหตุดังกล่าวเพื่อเลื่อนกำหนดวันรับโอนและการชำระเงินเท่านั้น โจทก์และจำเลยไม่มีข้อตกลงหรือเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าวไว้จำเลยไม่จำต้องรับข้อเสนอการขอเลื่อนกำหนดรับโอนและการชำระเงิน หากโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วถูกเวนคืนโจทก์ย่อมจะได้รับค่าทดแทนตามกฎหมายการชำระหนี้ไม่เป็นพ้นวิสัยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ โจทก์อ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษและเหตุขัดข้องที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบไม่ได้ ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์จำเลยไปรอโจทก์จนหมดเวลาราชการ จำเลยบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำโดยชอบไม่จำเป็นต้องคืนมัดจำและชำระเบี้ยปรับตามฟ้อง หากโจทก์เสียหายก็ไม่เกิน 3,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง

โจทก์ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

โจทก์ ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับตรงกันเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 6กันยายน 2533 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.3 แต่ก่อนวันถึงกำหนดโอนปรากฎว่าทางราชการได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ดินจะซื้อขายอยู่ในเขตเวนคืนทั้งแปลง โจทก์จึงเจรจากับจำเลยขอเลื่อนกำหนดนัดโอนออกไปอีกหกเดือนเพื่อฟังผลการเวนคืนโดยโจทก์ยืนยันว่าจะรับโอนและชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน จำเลยตกลงยอมเลื่อนเวลาให้โดยตั้งเงื่อนไขให้โจทก์วางเงินมัดจำเพิ่มอีก 10 ล้านบาท โจทก์เห็นว่ามากไปจึงไม่ยอมวางเงินมัดจำเพิ่มตามที่เรียกร้อง และมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.24 ถึงจำเลยยืนยันขอเลื่อนกำหนดการโอน จำเลยมีหนังสือ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 ตอบยืนยันให้ทำการโอนตามกำหนดเดิมตามเอกสารหมาย ล.4 หนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2534 และในวันถึงกำหนดโอนคือวันที่ 6มีนาคม 2534 โจทก์ได้ทำบันทึกพร้อมแสดงแคชเชียร์เช็คสำหรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินยืนยันขอเลื่อนไปอีก 6 เดือนเพื่อฟังผลการเวนคืนปรากฎตามเอกสารหมาย จ.27จำเลยยื่นบันทึกต่อเจ้าพนักงานที่ดินและแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีว่าได้มารอพร้อมจะทำการโอนแล้วแต่โจทก์ไม่มารับโอนและชำระราคาที่ดิน ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึงล.16 ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำปรากฎตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่า จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิและเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงขอมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ต่อมาปรากฎผลการเวนคืนว่าที่ดินพิพาทถูกเวนคืนไปเพียงบางส่วนเป็นจำนวน 4 ไร่ 3 งาน ตารางวา และคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินพิพาทตารางวาละ4,000 บาท จำเลยในฐานะประธานสภาเขตลาดกระบังเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอยู่ด้วย แต่จำเลยยังไม่พอใจอัตราค่าทดแทนดังกล่าวและยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนอยู่

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยผิดสัญญาและต้องคืนมัดจำกับต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าวัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.21, ล.3 นั้น คือ การรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดินและที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วย อันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนั้น การปฎิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย กรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 372 ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีก กรณีไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาแต่ประการใด โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จากโจทก์ 40,000,000 บาท นั้นเมื่อการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ฟ้องเป็นต้นไปด้วย

พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 40,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายถาวร เรืองจรุงพงศ์ จำเลย - นายบรรลือนิตย์ พรมเพิ่ม

ชื่อองค์คณะ วินัย วิมลเศรษฐ จิระ บุญพจนสุนทร ชูชาติ ศรีแสง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE