คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9720/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1474, 1475, 1495 เดิม
แม้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับโจทก์ และการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะก็ตามแต่เมื่อในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่พิพาทมายังไม่มีฝ่ายใดฟ้องให้การสมรสเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1495 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นที่บัญญัติว่าคำพิพากษาศาลเท่านั้นจะแสดงว่าการสมรสใดเป็นโมฆะแล้ว จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ยังมีอยู่ ที่พิพาทจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2จึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2ย่อมมีสิทธิลงชื่อเป็นเจ้าของรวมในโฉนดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9373/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการแก้ไขเรื่องการส่งเชื้อเพลิงไปยังหน่วยบินต่างจังหวัดโดยมีคำสั่งด้วยวาจาเป็นนโยบายว่าให้มีพลขับ 1 คนและผู้ควบคุมน้ำมัน 1 คน เป็นพลขับสำรองสามารถสับเปลี่ยนขับรถยนต์กับพลขับแทนกันได้ซึ่งแตกต่างจากระเบียบของกรมตำรวจโจทก์ที่ต้องให้มีพลขับ2 คน และผู้ควบคุมน้ำมัน 1 คนและมีการถือปฏิบัติกันตลอดมาแม้จะเป็นการสั่งด้วยวาจาก็ต้องถือว่าเป็นระเบียบและคำสั่งที่จำเลยทั้งสองต้องปฏิบัติตาม การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพลขับมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมน้ำมันขับรถยนต์แทนและเกิดพลิกคว่ำทำให้รถยนต์เสียหายในระหว่างทางจึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว ไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 343
ความผิดฐานฉ้อโกงผู้กระทำความผิดต้องกระทำโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามการที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมซื้อคอนโดมิเนียมตึกแถวและที่ดินโดยยืนยันว่าอีก4เดือนจะมีผู้ซื้อต่อการที่จำเลยให้ผู้เสียหายทำพิธีเสริมดวงและเรียกค่าครูโดยยืนยันว่าจะทำให้ดวงดีขายตึกแถวที่ดินได้หรือบุตรจะมีบุญบารมีสูงกว่าบิดามารดาผู้เสียหายกับสามีจะไม่ต้องหย่ากันล้วนเป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้นคำยืนยันดังกล่าวไม่ใช่คำหลอกลวงแต่เป็นคำคาดการณ์ที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเข้าทำพิธีตามคำแนะนำและเสียค่าใช้จ่ายจึงมิได้เป็นผลจากการหลอกลวงการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9679/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 97
ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายมีข้อความระบุไว้ในข้อ4ว่าในการจะซื้อจะขายผู้จะขายจะต้องเป็นผู้ยื่นเรื่องขอรังวัดแบ่งแยกรวมโฉนดและออกโฉนดใหม่ให้กับผู้จะซื้อถ้าหากที่ดินไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาผู้จะขายจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้จะซื้อถ้าหากจำนวนที่ดินเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาผู้จะซื้อจะต้องออกเงินให้ผู้จะขายจนครบจำนวนซึ่งในการจะซื้อจะขายนี้ทั้งสองฝ่ายตกลงจะออกเงินค่าธรรมเนียมค่าภาษีเงินได้ค่าขอรังวัดแบ่งแยกรวมโฉนดออกโฉนดใหม่ฝ่ายละเท่าๆกันซึ่งไม่มีข้อความชัดเจนว่าการขอรังวัดแบ่งแยกรวมโฉนดและออกโฉนดและออกโฉนดใหม่นั้นจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือเมื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันแล้วจึงจะร่วมกันยื่นเรื่องขอรังวัดแบ่งแยกรวมโฉนดและออกโฉนดใหม่นั้นจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือเมื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันแล้วจึงจะร่วมกันยื่นเรื่องขอรังวัดแบ่งแยก รวมโฉนดและออกโฉนดใหม่ดังนี้การที่จำเลยทั้งสองนำสืบพยานบุคคลว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่าเมื่อจดทะเบียนโอนกันแล้วจึงจะร่วมกันยื่นเรื่องขอรังวัดแบ่งแยกรวมโฉนดและออกโฉนดใหม่จึงเป็นการนำสืบประกอบข้ออ้างในการตีความหมายของข้อความในสัญญาจึงนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94วรรคท้ายหาได้เป็นนำสืบเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันต้องห้ามมิให้นำสืบตามมาตรา94(ข)ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9371/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
คดีอาญาโจทก์ที่2ถูกพนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา291ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าเหตุที่รถยนต์โดยสารที่โจทก์ที่2ขับชนรถยนต์ที่อ.ขับนั้นจุดชนอยู่ในช่องเดินรถของโจทก์ที่2โจทก์ที่2ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องซึ่งในคดีอาญาดังกล่าวต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีแทนจำเลยที่1ถึงที่5ซึ่งเป็นภริยาและบุตรของอ. ด้วยคดีถึงที่สุดแล้วดังนั้นที่จำเลยที่1ถึงที่5ได้ฟ้องคดีนี้ขอให้โจทก์ที่2ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่โจทก์ที่2ทำละเมิดให้อ.ถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สินเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา420ในการพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9678/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456
จำเลยได้ตกลงขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้โดยจำเลยได้รับเงินมัดจำของโจทก์ไปแล้วจำนวน15,000บาทและจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์พร้อมทั้งรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือเมื่อจำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินเสร็จแล้วข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังนั้นถึงแม้ตามสัญญาซื้อขายจะมิได้ระบุรายละเอียดว่าสัญญาทำขึ้นระหว่างใครกับใครที่ดินโฉนดเลขที่เท่าใดเนื้อที่และราคาเท่าใดชำระราคาหรือวางมัดจำกันแล้วหรือไม่เพียงใดส่วนที่เหลือจะชำระกันอย่างไรไม่มีรายละเอียดที่จะบังคับกันได้ตามเอกสารดังกล่าวก็ตามแต่เมื่อจำเลยตกลงจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ได้วางมัดจำให้แก่จำเลยแล้วจำเลยไม่ยินยอมขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งห้าฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าอาหารค่าที่พักค่าใช้จ่ายในการติดต่อเจ้าหน้าที่ในประเทศ สิงคโปร์ และค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งห้าได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอับอายขายหน้าสูญเสียเวลานัดหมายและธุรกิจแต่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่าการที่จำเลยห้ามไม่ให้โจทก์ที่1ขึ้นเครื่องบินของจำเลยเดินทางไปประเทศ สหรัฐอเมริกาทำให้โจทก์ทั้งห้าจำยอมอยู่ในประเทศ สิงคโปร์ไม่สามารถเดินทางไปประเทศ สหรัฐอเมริกาตามเจตนาได้เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพจำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในการทำให้โจทก์ทั้งห้าเสียเสรีภาพเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องแม้ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์ทั้งห้าเสียเสรีภาพก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งห้าฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2478/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 วรรคสอง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 146, 153
เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ในราคาต่ำผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลา14วันนับแต่วันที่ได้ทราบการขายทอดตลาดนั้นขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดและประกาศขายทอดตลาดใหม่ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา146กรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสองที่จะอนุโลมนำมาใช้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติ ล้มละลายฯมาตรา153เพราะพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา146บัญญัติไว้โดยเฉพาะอยู่แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 705, 1373 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288
เดิมที่ดินพิพาทเป็นของส. เมื่อส. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกได้แก่ช. มารดาของผู้ร้องต่อมาช.ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องได้ยึดถือครอบครองมาโดยตลอดผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแม้ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะมีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าจำเลยมีสิทธิเช่นนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1373เมื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทข้อสันนิษฐานตามมาตราดังกล่าวย่อมตกไปการที่จำเลยซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่โจทก์แม้โจทก์จะรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตามก็หามีผลให้โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาทในฐานะผู้รับจำนองไม่เพราะขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา705จึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2539
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 24, 114
การที่ลูกหนี้ที่1ได้ทำนิติกรรมขายที่ดินและบ้านพิพาทให้ผู้คัดค้านที่1โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา24จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113(มาตรา150ใหม่) การที่ผู้รับโอนจะพิสูจน์แสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่าการโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนอันจะทำให้ไม่ถูกศาลสั่งให้เพิกถอนการโอนได้ก็ต่อเมื่อการโอนได้กระทำในระหว่างระยะเวลา3ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นซึ่งคำว่า"ภายหลังนั้น"หมายถึงภายหลังจากการขอให้ล้มละลายแล้วจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นแต่ถ้าการโอนได้กระทำลงภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้นั้นคดีก็ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา24หาใช่บังคับตามมาตรา114ไม่