คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 569, 1312, 1336
โรงเรือนพิพาทเดิมเป็นของ ท. โดย ท. เช่าที่ดินของ บ. เพื่อปลูกโรงเรือนพิพาทดังกล่าว ต่อมาปี 2530 บ.ยกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้ ล. ต่อมา ล. ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลง ทำให้โรงเรือนพิพาทอยู่บนที่ดินสองแปลงคือโฉนดเลขที่ 6204 และ 62023 ครั้นปี 2533 จำเลยซื้อโรงเรือนพิพาทมาจาก ท. หลังจากนั้นปี 2537 ล. ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 แก่โจทก์กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยซื้อเฉพาะโรงเรือนพิพาทจาก ท. แม้การซื้อขายจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะโรงเรือนพิพาทเท่านั้น หามีสิทธิในที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือนไม่ และเป็นเรื่องที่จำเลยมีโรงเรือนส่วนหนึ่งในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิและแม้จำเลยจะเช่าที่ดินของ ล. ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ และโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 จำนวนเนื้อที่ 84 ตารางวา จากนางสาวลัดดา สุวรรณแสง ภายหลังโจทก์ทั้งสองให้เจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดสอบเขต ปรากฏว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ทั้งสองประมาณ 2.50 เมตร ยาวไปตามแนวเขตที่ดินประมาณ 10 เมตรโดยไม่สุจริต โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์ทั้งสอง จำเลยรับหนังสือแล้วเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์ทั้งสองจำเป็นต้องใช้ที่ดินปลูกสร้างบ้าน ทำให้โจทก์ทั้งสองขาดประโยชน์จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเดือนละ 4,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำออกไป ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่ยอมรื้อถอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำเสร็จเรียบร้อย
จำเลยให้การว่า เดิมโรงเรือนเลขที่ 50/5 หมู่ที่ 3 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองสุขบัวเนียม โดยเช่าที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 19468 ของนางบุญส่ง สุวรรณแสงต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2530 นางบุญส่ง ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 19468 ให้แก่นางสาวลัดดา สุวรรณแสง ในปี 2532 นางสาวลัดดาแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลง ทำให้บ้านของนายทองสุขอยู่บนที่ดิน 2 แปลง คือโฉนดเลขที่ 6204 และ 62023 ครั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2533 นายทองสุขขายบ้านเลขที่50/5 ให้จำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยได้เช่าที่ดินปลูกบ้านจากนางสาวลัดดา ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 จากนางสาวลัดดา โดยรู้อยู่แล้วว่ามีโรงเรือนบางส่วนของจำเลยอยู่บนที่ดินที่จะซื้อ โจทก์ทั้งสองจึงใช้สิทธิไม่สุจริต เมื่อจำเลยรับโอนโรงเรือนมาโดยสุจริตก่อนโจทก์ทั้งสองจะซื้อที่ดินจากนางสาวลัดดา โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนโรงเรือนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ทั้งสอง ส่วนค่าเสียหายโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย เพราะโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองสละประเด็นในเรื่องค่าเสียหายศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดเลขที่ 62023 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากคำฟ้องและคำให้การว่า โรงเรือนพิพาทเดิมเป็นของนายทองสุข บัวเนียม โดยนายทองสุขเช่าที่ดินของนางบุญส่ง สุวรรณแสง เพื่อปลูกโรงเรือนพิพาทดังกล่าว ต่อมาปี 2530 นางบุญส่งยกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้นางสาวลัดดา สุวรรณแสง นางสาวลัดดาได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลงทำให้โรงเรือนพิพาทอยู่บนที่ดินสองแปลงคือโฉนดเลขที่ 6204 และ 62023 ครั้นปี 2533 จำเลยซื้อโรงเรือนพิพาทมาจากนายทองสุข หลังจากนั้นปี 2537 นางสาวลัดดาได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนี้ เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องจำเลยซื้อเฉพาะโรงเรือนพิพาทจากนายทองสุขแม้การซื้อขายจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะโรงเรือนพิพาทเท่านั้นหามีสิทธิในที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือนไม่ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีโรงเรือนส่วนหนึ่งในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีสิทธิ และแม้จำเลยจะเช่าที่ดินของนางสาวลัดดาซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ดังที่จำเลยฎีกาจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ศิรินาถ แสวงกิจ กับพวก จำเลย - นางสาว จินตกาล ตันติศุภรักษ์
ชื่อองค์คณะ สมพงษ์ สนธิเณร สมภพ โชติกวณิชย์ ไพโรจน์ คำอ่อน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan