คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 210, 212

ความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น ผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำความผิด คือร่วมคบคิดกัน ประชุมปรึกษาหารือกัน หรือการแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน อันมีสภาพเป็นการกระทำระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5ร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ มีลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4993

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4993/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 249 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375

ประเด็นในคดีก่อนมีว่า โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หรือจำเลย(โจทก์คดีนี้) ครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนประเด็นในคดีนี้มีว่าโจทก์ได้ซื้อและครอบครองที่ดินพิพาทจนเป็นเจ้าของแล้วจำเลยได้บุกรุกที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นทั้งสองว่าใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเช่นเดียวกันจึงเป็นประเด็นอย่างเดียวกัน ปัญหาว่าโจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนการครอบครองหรือถูกแย่งการครอบครองจึงขาดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทนั้นแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ก็ตามแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะจำเลยให้การต่อสู้ไว้ตั้งแต่ต้น จำเลยเพิ่งเข้าไปครอบครองปลูกต้นมันสำปะหลังในที่ดินพิพาทเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2521 และต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521 ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อปี 2526 การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองมายันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นหาได้ไม่การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2522 จึงยังไม่ขาดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองแต่อย่างใด.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4992

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4992/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 448, 680

โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าขายสินค้าของโจทก์ไป มิใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดในค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ซึ่งจะใช้อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 การฟ้องผู้ค้ำประกันเช่นนี้ กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นโจทก์มีสิทธิฟ้องได้ภายใน 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1154 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 25

การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายย่อมทำให้จำเลยที่ 2 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนรวมทั้งสามารถต่อสู้คดีได้เอง โจทก์ฟ้องคดีภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้จึงมีอำนาจฟ้อง แม้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 25 เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีหรือมีคำขอให้จำหน่ายคดี ศาลย่อมมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ต่อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 2 ย่อมขาดจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1154 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกต่อไป เมื่ออำนาจจัดการทรัพย์สินจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 หมดไปแล้ว จึงมิอาจเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 267 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 39 (4), 220

แม้ในการวินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำของศาลชั้นต้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายก่อนมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267ก็ตาม แต่ผลจากคำวินิจฉัยในเรื่องฟ้องซ้ำนั้นย่อมทำให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าวอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาดังกล่าวซึ่งไม่ถูกต้องก็ตาม ก็มีผลเท่ากับเป็นการยกฟ้องโจทก์ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4989/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 145 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 292, 293, 296 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 63

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทแก่ผู้ซื้อ โดยไม่งดการขายทอดตลาดไว้รอพิจารณาคำขอประนอมหนี้ตามคำขอของจำเลย จำเลยยื่นคำร้องว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจำเลยประวิงคดี ขอให้ยกคำร้องของจำเลยระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด จำเลยและ ส.ผู้ซื้อรายใหม่ตกลงกันว่า ผู้ซื้อรายใหม่ตกลงวางเงิน 100,000 บาทให้ผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดรับไปเป็นค่าเสียหาย เพื่อจะได้ไม่คัดค้านที่จะมีการขายทอดตลาดใหม่ มิใช่เป็นการตกลงว่าผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดสละสิทธิในที่ประมูลซื้อได้ในครั้งก่อน เพราะการที่ผู้ซื้อรายใหม่ตกลงจะเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทครั้งใหม่ในราคาไม่ต่ำกว่า 18,000,000 บาทนั้น จะต้องจัดหาธนาคารมาค้ำประกันจำนวน 2,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันค่าเสียหายแก่กองทรัพย์สินหากผู้ซื้อรายใหม่เข้าสู้ราคาต่ำกว่า 18,000,000 บาท ซึ่งเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้ซื้อรายใหม่ต้องปฏิบัติก่อน เมื่อผู้ซื้อรายใหม่ไม่สามารถหาธนาคารมาค้ำประกันได้ จึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงศาลต้องจำหน่ายคำร้องของจำเลยตามสัญญาที่ตกลงไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4988

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4988/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680, 688, 689, 702, 732 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 9, 10, 14 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84

เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยมีทรัพย์สินเป็นที่ดินจำนวนหลายแปลง ซึ่งแม้ที่ดินดังกล่าวจะติดจำนองทุกแปลง และจำเลยนำสืบว่าราคาที่แท้จริงมากกว่ามูลค่าจำนองโดยการประมาณของจำเลยเอง โดยไม่มีหลักฐานจากสำนักงานที่ดินมายืนยันสนับสนุน แต่จำเลยก็มีที่ดินอยู่มากแปลงซึ่งเมื่อรวมมูลค่ากันแล้ว ส่วนที่เกินจากการถูกบังคับจำนองก็น่าจะมีมูลค่าเหลืออยู่เป็นเงินจำนวนสูง นอกจากนี้จำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นอีกมาก และยังประกอบอาชีพมีรายได้ รวมทั้งจำเลยนำสืบได้อีกว่าช. ลูกหนี้โจทก์ซึ่งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน ยังประกอบธุรกิจหากโจทก์บังคับคดีแก่ ช. ก็จะได้ชำระหนี้ส่วนหนึ่ง สรุปแล้วจำเลยนำสืบมาพอที่จะเชื่อได้ว่า จำเลยยังอยู่ในฐานะที่อาจชำระหนี้ได้ กรณีมีเหตุไม่ควรให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4984

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4984/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)

แม้จำเลยจะถูกแยกฟ้องในความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ของผู้เสียหายหลายคนเป็นหลายสำนวน แต่จำเลยรับทรัพย์สินนั้นไว้คราวเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว แม้โจทก์จะแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายสำนวนแต่เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานรับของโจรในคดีก่อนแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 72, 75 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 60 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 46 กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2513) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

โจทก์เป็นวัดที่อยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ไทย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 46 บัญญัติว่า "การปกครองคณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์ไทยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง" แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าได้ออกกฎกระทรวงใช้บังคับแก่คณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์จีนนิกายอนัมนิกายแต่อย่างใด การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมดังนั้น การที่อธิบดีสงฆ์พม่าแต่งตั้งพระณรงค์นันทิโยเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิใช่เป็นการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคม พระณรงค์นันทิโย จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4933

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4933/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 458, 1332, 1336

สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท มีเงื่อนไขเฉพาะวิธีการชำระราคาให้ชำระเป็นเช็ค 2 งวด หากผิดเงื่อนไขยอมให้ผู้ขายยึดรถคืนได้โดยไม่ได้ระบุว่าให้กรรมสิทธิ์โอนไปเมื่อผู้ขายได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว เช่นนี้เป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่วันทำสัญญา เงื่อนไขยอมให้ผู้ขายยึดรถคืนได้เป็นเพียงข้อกำหนดวิธีการบังคับเมื่อเกิดกรณีผิดสัญญาเท่านั้นโจทก์ผู้ซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้ซื้อเดิมโดยสุจริตย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น

« »
ติดต่อเราทาง LINE