คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5018/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยคดีส่วนอาญาที่จำเลยถูกฟ้องว่าพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมานั้นทำให้เกิดความสงสัยว่าจำเลยเป็นคนขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุหรือไม่ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย จึงพิพากษายกฟ้องโดยไม่ได้ชี้ขาดว่าจำเลยเป็นคนขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุหรือไม่ ถ้าหากฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนขับ ก็จะต้องชี้ขาดอีกด้วยว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาทหรือไม่ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย จึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 60
การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 นับแต่ ค. ผู้เป็นบิดาถึงแก่ความตายตลอดมาจนถึงการขอออกโฉนด เป็นชื่อ ของจำเลยที่ 1และทำการแบ่งมรดกกันเป็นการเจตนาครอบครองแทนผู้อื่น ในฐานะที่เป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1หาใช่เป็นการยึดถือครอบครองไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวไม่แม้จะครอบครองมานานกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 ส่วนที่จำเลยที่ 2 เข้ามาอยู่ในที่พิพาทเป็นการอาศัยสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ และการที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินจากจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมมิใช่เป็นการฟ้องเรียกให้แบ่งมรดก จำเลยที่ 2ย่อมไม่อาจยกเอาเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754มาปรับแก่คดีได้ ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง แห่ง ป. ที่ดิน ที่บัญญัติว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งประการใดแล้วให้แจ้งคู่กรณีทราบและให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องหรือร้องต่อศาลภายในกำหนด60 วันนั้น เป็นเรื่องการให้ฝ่ายที่ไม่พอใจต้องไปดำเนินการทางศาลถ้า พ้นกำหนด 60 วันแล้วเจ้าพนักงานที่ดินก็มีอำนาจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการได้ดัง ที่กล่าวไว้ในวรรคสามของมาตรานี้หาใช่เป็นการจำกัดอำนาจการฟ้องแต่อย่างใดไม่ คดีก่อนแม้โจทก์จะฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ ค.ให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันแบ่งให้แก่โจทก์ แต่คดีนั้นศาลยกฟ้องเพราะปรากฏในวันชี้สองสถานว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับตามคำขอได้ซึ่งเท่ากับการยกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์บกพร่องโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ฟ้องโจทก์ที่ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในคดีนี้จึงมิได้เป็นการฟ้องซ้ำ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4996/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
ตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดค่าเช่าซื้องวดแรกวันที่ 1 ตุลาคม 2531แต่จำเลยนำรถยนต์ไปกระทำความผิดและถูกพนักงานสอบสวนยึดไว้ก่อนจะถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดแรก แม้ผู้ร้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้ผู้เช่าซื้อจัดการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนหรือให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยหลังจากครบกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดแรกแล้ว 3 เดือนเศษก็ตาม แต่ยังไม่มีพฤติการณ์ใดส่อว่าผู้ร้องปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเพื่อช่วยเหลือผู้เช่าซื้อแต่อย่างใด เพราะผู้เช่าซื้ออยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนส่วนผู้ร้องอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบว่าจำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดฟังได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5017/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 169, 420, 448, 575 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถมีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งผู้โดยสาร จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถด้วยความประมาททำให้รถของโจทก์รถของบุคคลอื่นเสียหายและทำให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่รถของโจทก์ถูกเฉี่ยวชนและชดใช้เงินที่โจทก์ใช้เป็นค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องดังกล่าวนอกจากจะเป็นฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดเนื่องจากกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหายแล้วยังเป็นฟ้องที่อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง เป็นการทำผิดหน้าที่ที่จำเลยจะต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองประการแม้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอายุความ 10 ปีแต่เงินค่าซ่อมรถของโจทก์ที่โจทก์เสียไปถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่นั้น ไม่ใช่นับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถให้แก่ผู้รับจ้างซ่อม เมื่อนับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 207 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22 (3), 25
ก่อนจำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยหลังจากนั้นเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 22(3) การยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ในคดีนี้เป็นการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะยื่นคำขอจำเลยหามีสิทธิยื่นไม่ การที่ศาลจะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 25 นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ไว้ก่อนแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา และศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ภายหลัง เมื่อจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปก่อนแล้วจึงยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายหลัง กรณีย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวที่ศาลจะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาว่าคดีแทนจำเลย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5014/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 206, 224, 425, 444, 445, 448, 887 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243, 247
ประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยเมื่อเห็นสมควรศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเหล่านั้นไปได้โดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ ข. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1และที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ที่ ส.ขับทำให้ส.ได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวไม่สามารถไปประกอบหน้าที่การงานให้โจทก์ได้ตามปกติ การกระทำละเมิดของ ช. ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากแรงงานของ ส. ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ ส. ในระหว่างนั้น โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ประกอบด้วยมาตรา 425 และ มาตรา 887 แม้จำเลยที่ 3 จะจ่ายค่าขาดประโยชน์แรงงานให้ ส. ไปแล้วและระหว่างที่ ส.พักรักษาตัวเนื่องจากถูกรถชนส. มีสิทธิลาป่วยได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ส.ที่จะฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากแรงงานจากจำเลยอีก โจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยค้ำจุนไว้ จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 โดยตรง เกิดเหตุละเมิดเมื่อเวลา 20 นาฬิกาเศษของวันศุกร์ ที่ 22กรกฎาคม 2526 ซึ่งเป็นช่วงนอกเวลาราชการ ที่จังหวัดนครสวรรค์ส. ได้รับบาดเจ็บมากคงไม่สามารถไปรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบได้ในวันนั้นจึงเชื่อว่าโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครคงไม่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวจำเลยที่ 2ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันนั้น อย่างเร็วที่สุดโจทก์จะรู้ในวันเปิดทำการคือวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2526 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2527 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์มิใช่ผู้ต้องเสียหายโดยตรง แต่เป็นเพียงนายจ้างที่ต้องขาดแรงงานไปเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิดและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดี.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5012/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43, 51, 148, 157
จำเลยขับรถยนต์จะเลี้ยวซ้ายแต่ไม่นำรถเข้าชิดขอบทางเดินรถด้านซ้ายกลับเลี้ยวรถตัดหน้ารถที่โจทก์ร่วมขับในระยะกระชั้นชิดในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร และเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน ทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสและรถที่โจทก์ร่วมขับได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดในครั้งคราวเดียวที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2533
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 42
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานละเมิดงานสร้างสรรค์ ของ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ต่างประเทศ จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงต้องนำสืบว่ากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานวีดีโอเทปภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่ที่โจทก์นำสืบกฎหมายของต่างประเทศซึ่งมีคำแปลเพียงบางส่วนนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แน่นอนว่ากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานวีดีโอเทปภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ดัง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521โจทก์ร่วมจึงไม่ได้รับความคุ้มครองดังกล่าวในประเทศไทยและลงโทษจำเลยไม่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5006/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 172, 181 วรรคสอง, 574, 686, 1600, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 62, 174 (2), 246
ทนายความจะต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความและเอาใจใส่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง ทนายโจทก์อ้างว่าหลงลืมและเข้าใจผิดถึงสถานที่ที่จะนำส่งจึงไม่ได้นำส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นข้อแก้ตัวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 โดยถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิสัญญาเช่าซื้อแทนป. ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน และร้องขอให้เรียกป. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แม้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ บ. ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ บ. ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถของ บ.ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อโดยชำระภายในกำหนด 1 ปีนั้น ถือเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้นับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้รถและใช้ราคารถตามสัญญาเช่าซื้อ มีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 การส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคานั้น เมื่อ บ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาตาย ถือว่าจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อสืบต่อมาจึงต้องรับผิดคืนรถที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแก่โจทก์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5005/2533
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183
จำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับเงินประกันความว่า "หากมีความเสียหายเกิดขึ้นอันอยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ของพนักงาน ไม่ว่าจะโดยเจตนา ไม่เจตนา ประมาทเลินเล่อ อันเป็นความผิดจากการกระทำของพนักงาน โรงพยาบาลมีสิทธิหักค่าเสียหายออกจากเงินประกันได้ทันทีตามความเป็นจริง และพนักงานต้องไม่กระทำความผิดสถานร้ายแรงตามกฎหมาย และถูกเลิกจ้างตามความผิดนั้นโรงพยาบาลจะคืนเงินประกันให้"การที่โจทก์ขาดงานอันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเวลาติดต่อกันถึงห้าวัน ย่อมเป็นการเสียหายแก่จำเลยอยู่ในตัวและถือได้ว่าเป็นการร้ายแรง เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุนี้จึงเข้าเกณฑ์ตามระเบียบดังกล่าว ซึ่งจำเลยมีสิทธิหักเงินประกันได้ ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า สำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้โดยชัดแจ้งจึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าการกำหนดประเด็นไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี.