คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2533
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 42
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานละเมิดงานสร้างสรรค์ ของ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ต่างประเทศ จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงต้องนำสืบว่ากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานวีดีโอเทปภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่ที่โจทก์นำสืบกฎหมายของต่างประเทศซึ่งมีคำแปลเพียงบางส่วนนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แน่นอนว่ากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานวีดีโอเทปภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ดัง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521โจทก์ร่วมจึงไม่ได้รับความคุ้มครองดังกล่าวในประเทศไทยและลงโทษจำเลยไม่ได้.
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 13, 24, 25, 26, 27, 42, 43, 44, 47, 49พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศพ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 และสั่งให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา บริษัทพาราเมาท์พิคเจอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัดโดยบริษัทซีเนแอดส์วีดีโอ จำกัด ผู้รับมอบอำตาจ บริษัทยูนิเวอร์แซล ซิตี้ สติวดิโอส์ อิงค์ จำกัด โดยบริษัทซีเนแอดส์วีดีโอ จำกัด ผู้รับมอบอำนาจ บริษัทเทเลวิชั่นบรอคแคสทจำกัด โดยบริษัทซีเนคัลเลอร์แลป จำกัด ผู้รับมอบอำนาจและบริษัทชอว์บราเดอร์ส (ฮ่องกง) จำกัด โดยบริษัทซีเนคัลเลอร์แลป จำกัดผู้รับมอบอำนาจ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้เรียกเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27(1), 44 วรรคสอง, 47, 49 จำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ร่วม 4 ราย เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ร่วมที่ 1 ภาพยนตร์วีดีโอเทป 1 เรื่องปรับ 20,000 บาท ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ร่วมที่ 2 ภาพยนตร์วีดีโอเทป 2 เรื่อง 2 กระทง ปรับกระทงละ 20,000 บาท ร่วม 40,000บาท ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ร่วมที่ 3 ภาพยนตร์วีดิโอเทป 2 เรื่อง2 กระทงปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 40,000 บาท ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ร่วมที่ 4 ภาพยนตร์วีดีโอเทป 5 เรื่อง 5 กระทงปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 100,000 บาท รวมปรับทั้งสิ้น200,000 บาท ให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้จ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมทั้งสี่และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานละเมิดงานสร้างสรรค์ของโจทก์ร่วมทั้งสี่ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ต่างประเทศ จำเลยให้การปฏิเสธจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงที่ว่ากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา แลเมืองฮ่องกง ได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานวีดีโอเทปภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แต่โจทก์นำสืบ ล. นิติกรของรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบหนังสือเวียนของสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเอกสารหมาย จ. 43 ช. อาจารญืประจำคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศแคนาดา มาตรา 4(1) และ (2) เอกสารหมาย จ.47 และ ก.ซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ค.ศ. 1956 (ตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2) เอกสารหมาย จ.64 กับ สำเนาพระราชกฤษฎีกาลิขสิทธิ์เมืองฮ่องกงเอกสารหมาย จ.66 พร้อมทั้งคำแปลบางส่วนของเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว แต่ละฉบับซึ่งได้ความแต่เพียงว่า เอกสารหมาย จ.43ซึ่งมีคำแปลบางส่วนแนบท้ายเป็นเอกสารที่สำนักงานลิขสิทธิ์ประเทศสหรัฐอเมริกาออกเพื่อแสดงการรับรองคุ้มครองเกี่ยวกับวรรณกรรมของลิขสิทธิ์ประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย ส่วนเอกสารหมายจ.47 ซึ่งมีคำแปลบางส่วนแนบท้ายเป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศแคนาดา ที่ระบุถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ไว้ในมาตรา 4(1) และ (2) โดยมาตรา 4 (1) ระบุถึงการมีลิขสิทธิ์ในประเทศแคนาดา ส่วนมาตรา 4 (2)ระบุถึงกรณีที่รัฐมนตรีอาจให้หนังสือรับรองการขยายความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ขจองประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งมิได้เป็นภาษีแห่งอนุสัญยากรุงเบอร์น ส่วนเอกสารหมาย จ.64 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศอังกฤษ และมีคำแปลบางส่วนตามเอกสารหมาย จ.65ได้ระบุไว้ในมาตรา 31 ว่า ให้ขยายขอบเขตการใช้บังคับตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังอาณานิคม และดินแดนภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษด้วย ทั้งระบุไว้ในมาตรา 32 (3) ว่าสมเด็จพระบรมราชินีนาถจะไม่ตราพระราชกฤษฎีกาภายใต้มาตรานี้เพื่อใช้บังคับบทบัญญัติใด ๆ แห่งพระราชบัญญัตินี้ในกรณีของประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นภาคีอยู่…ส่วนเอกสารหมาย จ.66 ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยลิขสิทธิ์ของฮ่องกง และมีคำแปลบางส่วนตามเอกสารหมาย จ.67 ระบุในข้อ 3 ว่าให้นำพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศอังกฤษที่ระบุไว้ในภาค 1 ของตารางอ้างอิง 1 มาใช้บังคับครอบคลุมถึงฮ่องกงด้วยทั้งนี้ภายใต้บังคับของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ระบุไว้ในภาค 2ของตารางอ้างอิงนั้นดังนี้จะเห็นว่า ตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งมีคำแปลเพียงบางส่วนดังที่กล่าวมาแล้วนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทีแน่นอนว่า กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานวีดีโอเทปภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 โจทก์ร่วมจึงไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ดังกล่าวในประเทศไทย และลงโทษจำเลยไม่ได้โดยไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ - โจทก์ร่วม โจทก์ - บริษัท พา ราเมาท์พิคเจอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับพวก จำเลย - นาย สุรชัย ศรารัชต์
ชื่อองค์คณะ พัลลภ พิสิษฐ์สังฆการ ประจักษ์ พุทธิสมบัติ ประคนธ์ พันธุ์วิชาติกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan