สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 267 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 39 (4), 220

แม้ในการวินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำของศาลชั้นต้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายก่อนมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267ก็ตาม แต่ผลจากคำวินิจฉัยในเรื่องฟ้องซ้ำนั้นย่อมทำให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าวอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาดังกล่าวซึ่งไม่ถูกต้องก็ตาม ก็มีผลเท่ากับเป็นการยกฟ้องโจทก์ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13.

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180,267, 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

ในวันนัดสอบคำให้การจำเลยและนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 เป็นฟ้องซ้ำกับข้อหาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 13837/2525 ของศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดี ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ตามฟ้องของโจทก์เท่านั้นในปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 คดีนี้ เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 13837/2525ของศาลชั้นต้น ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหานี้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในปัญหาข้อนี้โดยเห็นว่าเป็นการฟ้องซ้ำเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น เห็นว่าแม้ในการวินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำดังกล่าวของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายก่อนมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ก็ตาม แต่ผลจากคำวินิจฉัยในเรื่องฟ้องซ้ำนั้น ย่อมทำให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าวอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาดังกล่าวซึ่งไม่ถูกต้องก็ตาม ก็เท่ากับมีผลเป็นการยกฟ้องโจทก์นั่นเอง ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษา โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17)พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายกฎีกาโจทก์.

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย วิวัฒน์ หรือ คล้อย สุข ประเสริฐ จำเลย - นาย กำพล วัชร พล กับพวก

ชื่อองค์คณะ มนู วงศ์แสงจันทร์ เสริมพงศ์ วรยิ่งยง ชุม สุกแสงเปล่ง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE