คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4931

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4931/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 161, 165 (7)

ค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์พูดวิทยุโทรศัพท์ไปยังต่างประเทศโดยผ่านเครื่องวิทยุของโจทก์ มีลักษณะเป็นสินจ้างโจทก์จึงเป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) สิทธิเรียกร้องหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลของโจทก์ จึงมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความครบกำหนดตรงกับวันเสาร์หยุดราชการ การนับระยะเวลาวันสุดท้ายของการฟ้องร้อง ก็ต้องถือหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 คือให้นับวันจันทร์อันเป็นวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยเป็นวันสุดท้าย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2533

ประมวลรัษฎากร ม. 4 ทศ, มาตรา 78 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 ม. 5 (8) กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

สินค้ายากานาไมซินซัลเฟตและเจนตาไมซินซัลเฟต แม้จะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคโดยไม่ต้องใส่ยาตัวอื่นเติม เข้าไป แต่เมื่อจะใช้ต้องไปทำตามกรรมวิธีด้วยเครื่องจักรในสถานที่ปราศจากเชื้อตลอดจนภาชนะและตัวผู้ทำก็ต้องปราศจากเชื้อด้วย เป็นการเอาไปผลิตใหม่เพื่อให้เป็นยาสำเร็จรูปใช้ได้ทันที จึงไม่เป็นยาซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรง ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 บัญชีที่ 3 หมวด 2(1) โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้านั้นตามมาตรา 5(8) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ตามมาตรา 5 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 1(2) ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 28พฤศจิกายน 2529 จึงครบระยะเวลาสามเดือนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์2530 และต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2530เป็นต้นไป แม้ว่าตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตรามากกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลจึงพิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศวรรคสอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977 - 4979/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 72, 75 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. , 60 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 46 กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2513) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

โจทก์เป็นวัดที่อยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ไทย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 46 บัญญัติว่า "การปกครองคณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์ไทยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง" แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าได้ออกกฎกระทรวงใช้บังคับแก่คณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์จีนนิกายอนัมนิกายแต่อย่างใด การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมดังนั้น การที่อธิบดีสงฆ์พม่าแต่งตั้งพระณรงค์ นันทิโยเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิใช่เป็นการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคม พระณรงค์ นันทิโย จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4975

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4975/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 899, 904, 917, 967, 989, 995 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 162, 249

เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยที่ 4 สั่งจ่ายระบุชื่อจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก และขีดคร่อมระบุไว้กลางเส้นขนานที่ขีดคร่อมว่า "เฉพาะ" ดังนี้ จำเลยที่ 4 อาจประสงค์ให้เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะและให้ใช้เงินแก่ธนาคารตามเช็คก็ได้ ทั้งจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าในทางปฏิบัติหรือประเพณีของธนาคารเป็นที่ยอมรับกันว่าเช็คที่ใช้ถ้อยคำเช่นนี้ห้ามมิให้เปลี่ยนมือ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำอื่นอันได้ความทำนองเดียวกับคำว่า "เปลี่ยนมือไม่ได้" ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง ข้อความดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน จึงหามีผลต่อเช็คพิพาทไม่ตามมาตรา 899 เมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คนั้นมาขายลดให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สลักหลัง ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 989จึงเป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในค่าฤชาธรรมเนียม แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 4 จำกัดอยู่เพียงไม่เกินจำนวนเงินในเช็คพิพาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทราบดีตั้งแต่ตอนต้น ฉะนั้น การที่จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเกินไปกว่านี้ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อจำเลยที่ 4แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ไว้ เพิ่งจะยกขึ้นในฎีกาก็ตามศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงศาลล่างได้ด้วย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4954

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4954/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 30, 83, 264, 268 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1096

การที่จำเลยที่ 2 นำบิลเงินสดซึ่งตนรู้อยู่ว่าเป็นเอกสารปลอมไปแสดงต่อกรมสรรพากรพร้อมกับให้ถ้อยคำประกอบเพื่อขอเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากร จนกรมสรรพากรคืนเงินภาษีอากรให้แก่จำเลยที่ 1ผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปกระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยถือว่า เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรแล้ว จำเลยที่ 2ต้องรับผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมด้วย โทษปรับนิติบุคคลจะกักขังแทนเงินไม่ได้ จึงจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 เท่านั้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335, 357 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 134, 226, 227

การรับฟังคำรับสารภาพชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยปฏิเสธชั้นศาลมาใช้ลงโทษจำเลยโจทก์ต้องมีพยานประกอบว่าจำเลยกระทำผิดจริงและพยานประกอบนั้นมิใช่มีเพียงคำเบิกความของพนักงานสอบสวนผู้สอบสวนคำรับสารภาพเท่านั้น คดีนี้พยานประกอบของโจทก์คือ ด. ซึ่งอาจตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับจำเลย ด. อาจซัดทอดจำเลยเพื่อให้ตนพ้นจากการตกเป็นผู้ต้องหาก็ได้ คำเบิกความของ ด. จึงมีน้ำหนักน้อยพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4955

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4955/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 195, 225 พระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณในระหว่างเวลา ประกาศใช้กฎอัยการศึกของคณะปฏิวัติ ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ประกาศใช้กฎอัยการศึกของคณะปฏิวัติ พ.ศ.2522 ม. 69 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 72 วรรคแรก

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับฎีกาภายหลังระยะเวลาที่จะยื่นฎีกาได้สิ้นสุดลงแล้ว ดังนี้ จำเลยมีสิทธิจะขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น แต่พฤติการณ์ตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า จำเลยไม่เข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ในการต่อสู้คดีว่าจำเลยมีสิทธิที่จะยื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทนายจำเลยเพิ่งทราบว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้วจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น ไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีมอร์ฟีน โคเคอีน และฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในวาระเดียวกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดจะต่างชนิดกัน แต่ต่างเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองพร้อมกระสุนปืนลูกซองและกระสุนปืนขนาด .32 ไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกัน แต่ศาลล่างทั้งสองวางโทษ 2 กระทง จึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์และฎีกาปัญหาข้อนี้แต่ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงวางโทษเสียใหม่ให้ถูกต้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4942

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4942/2533

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 27, 91

ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้เงินที่มีอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ด ขาด โจทก์จึงต้องไปดำเนินการขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป ศาลฎีกาจึงสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 877, 887 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 243 (1), 247

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้เกิดชนกันขึ้น จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 4ระบุวงเงินค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้ว่าไม่เกิน 100,000 บาท ต่อหนึ่งครั้ง จึงหมายความว่า จำเลยที่ 4จำกัดความรับผิดในค่าเสียหายต่อบุคคลภายนอกไม่ว่าคนเดียวหรือหลายคนในอุบัติเหตุครั้งเดียวกันไว้ไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้นและหากจำเลยที่ 4 ได้ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในอีกคดีซึ่งได้ฟ้องในอุบัติเหตุครั้งเดียวกันกับคดีนี้เต็มจำนวน 100,000 บาทตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในคดีนี้อีก การชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเป็นการชำระหนี้โดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 4 ไม่ต้องเฉลี่ยเงินค่าเสียหายให้โจทก์คดีนี้ จำเลยที่ 4 อ้างสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นพร้อมทั้งสรรพเอกสารเป็นพยานในคดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 4 ได้ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ในคดีอื่นเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะนำมาพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ไปเลย แต่ควรกำหนดเป็นเงื่อนไขในความรับผิดของจำเลยที่ 4 เท่านั้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4939

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4939/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538, 569

สัญญาที่เจ้าของที่ดินตกลงให้โจทก์ก่อสร้างตึกแถวลงบนที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนให้เจ้าของที่ดิน และให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินช่วย ค่าก่อสร้างจากผู้เช่าเมื่อเจ้าของที่ดินจดทะเบียนการเช่าแล้วให้โจทก์ยกตึกแถวแก่เจ้าของที่ดิน เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีผลผูกพันโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จำเลยผู้ซื้อจะรับโอนที่ดินจากทายาทของเจ้าของที่ดินเดิมพร้อมตึกซึ่งเป็นของโจทก์โดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินเดิม ทำสัญญาผูกพันกับโจทก์ที่จะต้องไปจดทะเบียนการเช่าที่ดินพร้อมตึกนั้นให้แก่ผู้ประสงค์จะเช่า แต่สัญญาระหว่างโจทก์กับเจ้าของที่ดินเดิม ดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนก่อให้เกิดแต่เพียงบุคคลสิทธิผูกพันบังคับได้ระหว่างทายาทของเจ้าของที่ดินเดิม กับโจทก์เท่านั้น จำเลยเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่สัญญา เมื่อจำเลยไม่ได้ยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันจำเลย.

« »
ติดต่อเราทาง LINE