คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
นางสาว ร. ลูกจ้างคนหนึ่งของจำเลยยักยอกทรัพย์ของจำเลยไป แต่โจทก์ไม่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินนั้น และความเสียหายที่เกิดแก่จำเลยก็เป็นการกระทำของนางสาว ร. โจทก์มิได้กระทำการใด ๆเป็นที่เสียหายแก่จำเลย แม้โจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการติดตามเอาทรัพย์ที่ นางสาว ร.ยักยอกไปและจับกุมนางสาวร. ได้ขณะอยู่กับโจทก์ก็ตาม ก็หาเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2) ไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4951/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 175, 224, 249
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารพิพาท กับเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายซึ่งขณะยื่นฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้ให้การกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 การที่โจทก์ฎีกาเรื่องนี้ขึ้นมาอีก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2533
ประมวลรัษฎากร ม. 30 (2) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2
เมื่อโจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร เจ้าพนักงานกรมศุลกากรได้ประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลและในรายการที่สำแดงภาษีอากรมียอดเงินสำหรับอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแยกกันแต่ละรายการ ย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรแล้ว หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรเสียก่อนการที่โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากรมิใช่เป็นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ซื้อสินค้าพิพาทจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศในราคาต่ำกว่าที่โจทก์เคยซื้อและสำแดงราคาในการนำเข้าครั้งก่อนเพราะผู้ขายซื้อจากผู้ผลิตได้ในราคาต่ำลง แต่เป็นการขายสินค้าในราคาปกติทั่วไป เพื่อจะให้ลูกค้าสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้มิใช่ลดหย่อนให้แก่โจทก์โดยเฉพาะเพียงรายเดียว แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่การนำเข้าในครั้งก่อน ราคาของประเภทและชนิดเดียวกันก็มีราคาลดลงได้ อีกทั้งปรากฏด้วยว่าเมื่อโจทก์นำสินค้าชนิดเดียวกันเข้ามาในราชอาณาจักรภายหลังกรณีพิพาทนี้จำเลยก็ได้ยอมรับราคาที่ลดต่ำลงดังที่โจทก์สำแดงด้วย ยิ่ง สนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยได้ยอมรับว่าสินค้าพิพาทมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดลดต่ำลง และฝ่ายจำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเท่าใด เพียงแต่อาศัยราคาที่โจทก์เคยนำเข้าในครั้งก่อนภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน มาเป็นเกณฑ์ประเมินราคาเท่านั้น จึงถือได้ว่าราคาสินค้าพิพาทที่ต่ำลงตามที่โจทก์สำแดงนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4947/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 1466 ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ม. 5 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5)
อ. ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการรับมรดกระหว่างเป็นสามีโจทก์เมื่อปรากฏว่า อ. ได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาก่อนวันที่ 16 ตุลาคม2519 อันเป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มีผลใช้บังคับ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่าง อ. กับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1466 แม้ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสระหว่าง อ. กับโจทก์ก็ตามเมื่อปรากฏว่าการที่ อ. ยกที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยด้วยนั้น โจทก์ซึ่งรู้เห็นอยู่แล้วไม่ได้คัดค้านหรือทักท้วงประการใดกลับปล่อยให้จำเลยดำเนินการไถ่ถอนการขายฝาก และจดทะเบียนโอนที่ดินยกให้เป็นของจำเลยแล้ว โจทก์จะมาใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4914/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 341, 343 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคแรก พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 ม. 7, 27
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2521 มีกำหนด 1 เดือน และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 รวม 5 กระทงจำคุกกระทงละ 2 ปี ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2521 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนส่วนความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนพิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวและลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี ความผิดทั้งสองฐานจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก การที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนรับสมัครไปทำงานและรับเงินค่าบริการจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมานั้นฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ว่าจำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย ทั้งมิได้รับเงินไว้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ขอให้ศาลฎีการับฟังพยานเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยส่งมาพร้อมฎีกาและขอให้รอการลงโทษจำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม จำเลยหลอกลวงว่าสามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศได้ผู้เสียหายแต่ละคนหลงเชื่อจึงมาสมัครงานกับจำเลยและมอบเงินค่าบริการให้ตามที่จำเลยเรียกร้อง โดยกระทำในวันเวลาที่แตกต่างกันรวม 5 ครั้ง แต่ละครั้งจำเลยหลอกลวงประชาชนต่างกลุ่มกันผู้เสียหายแต่ละกลุ่มมาสมัครงานและมอบเงินแก่จำเลยต่างวันเวลากัน เป็นการกระทำโดยเจตนาให้เกิดผลต่อประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกันต่างกรรมต่างวาระ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนรวม 5 กระทง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4878/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 428, 820
การที่จำเลยเป็นผู้นำชี้แนวทำถนนให้ผู้รับจ้าง และควบคุมดูแลการทำถนนตลอดเวลา กับการที่ผู้รับจ้างไม่มีความรู้ในเชิงวิชากาทำถนนที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างข้างเคียงหรือไม่ยอมทำตามวิธีการที่ถูกต้อง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ผู้ว่าจ้างให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างและแม้จำเลยจะมิใช่ผู้ทำสัญญาจ้าง แต่จำเลยก็มอบหมายให้ ป.เป็นผู้ว่าจ้างแทน ป.จึงเป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านว่า ป.มิได้ทำไปภายในขอบเขตอำนาจแห่งฐานตัวแทนแล้วจำเลยซึ่งเป็นตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายที่ ป.ซึ่งเป็นตัวแทนได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 จำเลยจะปัดความรับผิดโดยเหตุที่ตนมิได้เป็นผู้ทำสัญญาหาได้ไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937 - 4938/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 (1)
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีหนึ่งในขณะที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในเรื่องเดียวกันอีกแม้จะเพิ่มข้อหาและมีคำขออื่นเพิ่มเติมด้วย มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็เป็นเรื่องเดียวกันมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง ทั้งเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173(1) การที่โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนหลังจากฟ้องคดีนี้ ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีใหม่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4911/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 241, 705, 1336
เมื่อการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง ล. เจ้าของเดิมผู้จำนองกับจำเลยที่ 1 ผู้รับจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว จำเลยที่ 1ย่อมไม่มีอำนาจที่จะยึด น.ส.3 สำหรับที่ดินพิพาทไว้ได้ ต้องส่งมอบแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่แท้จริง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4909/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 306, 702, 729 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 104, 142
แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ได้ความว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาจำนองได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงเรื่องการบอกกล่าวการโอนการรับจำนองหรือจำเลยได้ยินยอมด้วยแล้ว เมื่อจำเลยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยไม่รู้เรื่องการโอนดังกล่าว การโอนการรับจำนองนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลย การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4929/2533
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2, 11, 40
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 40 กำหนดให้โจทก์สามารถนำสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากรได้โดยชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกันก็ได้ แต่โจทก์เลือกชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนด ถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรส่วนที่เกินโดยสมัครใจ การฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินอากรส่วนที่เสียไว้เกินจึงต้องนำอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ โจทก์มาฟ้องเรียกร้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า คดีจึงขาดอายุความ ลวดเหล็กชุบ ทองแดง สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจากต่างประเทศใช้ผลิตยางรถยนต์ ส่วนสินค้าของบริษัท อ. ใช้ผลิตยางรถจักรยานยนต์และต่างมีขนาดหน้าตัดไม่เท่ากัน ทั้งมีปริมาณการนำเข้าแต่ละครั้งแตกต่างกันมาก ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันพอที่จะเปรียบเทียบราคากันได้ จึงไม่อาจนำราคาสินค้าของบริษัท อ. มาประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาท ขณะที่โจทก์นำเข้าได้ เมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทควรจะเป็นอย่างอื่น จึงพออนุมานได้ว่าราคาสินค้าพิพาทตามที่โจทก์ซื้อมานั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.