คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 199

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จึงมีสิทธิเพียงสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ ไม่อาจเรียกพยานของตนเข้าสืบได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรค 2 จึงรับฟังใบเสร็จรับเงินหมาย ล.1 ประกอบคำให้การของตัวจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234 - 235/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88, 205

จำเลยขาดนัดพิจารณาคดีที่จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยมาศาลในวันสืบพยานโจทก์และยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อศาลสืบพยานโจทก์เสร็จก่อนฟังคำพิพากษา คดีไม่เข้ามาตรา 88 ซึ่งเป็นเรื่องอ้างพยานเพิ่มเติมศาลไม่อนุญาตให้อ้างและสืบพยานจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจาก นาย อ. ผู้เสียหายให้เป็นผู้จัดการและเป็นผู้ดูแลโรงงานผลิตรองเท้าพลาสติคพีวีซี และมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษารับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เสียหายในโรงงานดังกล่าวนั้นด้วย เมื่อวันที่12 กันยายน 2517 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ (มีรายละเอียดตามฟ้อง) รวมราคาทั้งสิ้น 218,000 บาท ของผู้เสียหายซึ่งได้มอบให้จำเลยที่ 1 ไว้สำหรับใช้และผลิตขึ้นในโรงงานดังกล่าวข้างต้นไปเป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)และครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตอย่างไร เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 221

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 221/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296

เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเสร็จและจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว แม้อยู่ระหว่างโอนทางทะเบียนแก่ผู้ซื้อก็ถือว่าการบังคับคดีเสร็จแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรค 2 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าสมยอมกันขายราคาต่ำไปไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4, 179, 226

สถานที่รับมอบสินค้าที่สั่งซื้อเป็นสถานที่ที่มูลคดีผิดสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นด้วย

การที่ศาลใดจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลนั้นศาลย่อมจะใช้ดุลพินิจสั่งตั้งแต่ชั้นพิจารณาคำร้องของโจทก์ที่ยื่นพร้อมคำฟ้อง เมื่อได้อนุญาตให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลนั้นแล้ว แม้ต่อมาจะปรากฏว่าการพิจารณาคดีที่ศาลนั้นมิได้เป็นการสะดวกก็ไม่ทำให้การสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นฟ้องกลายเป็นการสั่งอนุญาตโดยไม่มีอำนาจ

คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้

จำเลยเคยยื่นคำร้องคัดค้านการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องแต่ต่อมาจำเลยได้แถลงต่อศาล ว่าจำเลยไม่ติดใจคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ตามคำร้องดังกล่าวต่อไป ดังนี้ ถือว่าจำเลยมิได้คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 214

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 214/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านฎีกามิได้อ้างโดยชัดแจ้งว่าคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อใด เพียงแต่มีข้อความขอความเห็นใจไม่เจตนาให้เสียหายแก่กองมรดกเท่านั้น ไม่เป็นฎีกาที่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 213 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483

ตัวแทนธนาคารยอมรับผิดต่อธนาคาร ในกรณีที่ผู้กู้และผู้ค้ำประกันหนี้ของธนาคารไม่ใช้หนี้แก่ธนาคาร โดยธนาคารไม่ต้องฟ้องลูกหนี้ ก่อนตัวแทนล้มละลาย ธนาคารขอรับชำระหนี้ได้ทันทีไม่ต้องรอจนธนาคารฟ้องลูกค้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารก่อน เพราะจะพ้นเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแต่ถ้าธนาคารได้รับชำระหนี้จากลูกค้าเท่าใด ตัวแทนก็พ้นความรับผิดเพียงนั้นธนาคารจะได้รับชำระหนี้ไม่เกินจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริง

สัญญาตั้งตัวแทนธนาคารห้ามมิให้ตัวแทนกู้ยืมเงินจากธนาคารตัวแทนฝ่าฝืนข้อสัญญาและกู้เงินจากธนาคาร ธนาคารเลิกสัญญาได้ แต่ไม่ทำให้ตัวแทนไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่กู้เงินจากธนาคาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2523

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243 (ก (3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 222

จำเลยมิได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ แต่ออกเพื่อเป็นประกันเงินกู้ ป.โจทก์เป็นผู้ทรงโดยได้รับเช็คมาจาก ป. เช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

คดีที่ฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 แต่ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาหาจำเป็นต้องฟังตามไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2523

พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 ม. 11 ทวิ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ม. 40, 42, 43 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145

พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง มาตรา 11 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้อำนาจสิทธิขาดแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่จะจัดการตามที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงและหรือรื้อถอนอาคารและส่วนแห่งอาคารซึ่งปลูกสร้างโดยมิได้รับอนุญาตนั้นได้เอง โดยไม่ต้องขอให้ศาลบังคับ

โจทก์ปล่อยปละละเลยให้จำเลยปลูกสร้างอาคารจนเสร็จและส่งมอบให้เจ้าของที่ดินไป และเจ้าของที่ดินได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทที่จำเลยปลูกสร้างดังกล่าวนั้นเท่ากับเป็นการฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอนหรือทำลายทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่เป็นคู่ความในคดีด้วย ศาลจึงบังคับให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 206

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 206/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

โจทก์ฟ้องตั้งประเด็นว่า จำเลยประกาศโฆษณาจะทำการก่อสร้างตลาดและตึกแถวให้ประชาชนเช่า โจทก์จึงไปจองเช่าตึกแถวบริเวณรอบนอกตลาดกับจำเลย ต่อมาจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะก่อสร้างตึกแถวขึ้นอีกแถวหนึ่งภายในบริเวณตลาดซึ่งบังหน้าตึกแถวที่โจทก์จองเช่าไว้ ทำให้ทำเลการค้าของโจทก์เสียไป โจทก์ขอเลิกสัญญากับจำเลย และขอเรียกเงินมัดจำคืนไม่มีประเด็นเรื่องสัญญาจองเช่าตึกแถวเป็นโมฆียะด้วยหรือไม่แต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติแห่งทรัพย์ และจำเลยฉ้อฉลโจทก์ สัญญาจองเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆียะ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จึงไม่ชอบ

« »
ติดต่อเราทาง LINE