คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2523
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ม. 4, 14, 24, 29
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯ มาตรา 14 วรรคสอง มิได้ใช้ถ้อยคำแต่เพียงว่า "เวลาราชการ" แต่ใช้คำว่า "เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ" ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า เพราะ "เวลาราชการ" นั้น หมายถึงเวลาราชการจริง ๆ ส่วน "เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ" หมายถึงเวลาราชการจริง ๆ รวมทั้งเวลาราชการที่ไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ ด้วย เช่น มาตรา 24 วรรคสอง ให้นับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่ได้มีประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นทวีคูณเป็นต้นซึ่งไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ ด้วยเหตุนี้ มาตรา 14 วรรคสอง จึงไม่ใช้ถ้อยคำว่า"ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว" แต่ใช้ว่า "ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว" เพื่อให้มีความหมายกว้างและเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการผู้ลาออกจากราชการนั่นเอง ดังนั้น เมื่อโจทก์มีเวลาราชการจริง ๆ 17 ปี 10 เดือน 30 วัน และมีเวลาราชการทวีคูณในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก อีก 6 ปี 9 เดือน 27 วัน หักวันลากิจลาป่วยระหว่างเวลาราชการทวีคูณแล้ว รวมเป็นเวลาราชการทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน18 วัน อันเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตามนัยดังกล่าวแต่โดยที่ มาตรา 4 ประกอบด้วยมาตรา 29 วรรคแรก บัญญัติให้นับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญแต่จำนวนปีเศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี ซึ่งโจทก์มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญที่เป็นเศษของปีถึงครึ่งปี คือ 7 เดือน 18 วัน จึงต้องนับเป็นหนึ่งปี เมื่อรวมกับ 24 ปีแรก จึงเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำนาญ
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญซึ่งขณะยื่นฟ้อง ไม่อาจกำหนดจำนวนเงินได้แน่นอนโดยโจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 193 ทวิ
ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ 500 บาท ในคดีบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ เพราะศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย แล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแล้วพิพากษากลับให้ลงโทษตามศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2523
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484
ไม้หวงห้ามของกลางเป็นแผงรองลังน้ำอัดลมเป็นเครื่องใช้ซึ่งโรงงานเป๊ปซี่อุดรธานีจ้างนำไปส่งนครราชสีมา ในอุดรธานีไม่มีการใช้ไม้ ดังนี้เป็นปกติ จึงเป็น 'ไม้แปรรูป' ตาม ป.ว.106 วันที่ 10 เมษายน 2515
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 86
โจทก์แต่งทนาย 2 คน ในวันนัดสืบพยานครั้งแรกตัวโจทก์และทนายไม่มาศาลทนายโจทก์คนหนึ่งมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเพราะเหตุเจ็บป่วย แม้ทนายโจทก์อีกคนหนึ่งมิได้แจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด ก็เป็นเพียงความบกพร่องในการเขียนคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ ซึ่งทนายโจทก์ที่ขอเลื่อนน่าจะได้แจ้งให้ทนายโจทก์อีกคนหนึ่งทราบเพื่อจะได้ดำเนินคดีแทนตนได้ เมื่อเป็นการเลื่อนคดีครั้งแรก จะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ยังไม่ถนัด ทั้งโจทก์เป็นฝ่ายฟ้องคดี ไม่มีเหตุผลที่จะฟังได้ว่าโจทก์ประวิงคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1306, 1308, 1382 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 8
ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่ง มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง แม้หนองน้ำจะตื้นเขินขึ้นมีระดับเสมอกับที่ดินโจทก์ที่ล้อมรอบหนองน้ำอยู่ ก็มิใช่ที่งอกริมตลิ่ง เพราะมิได้งอกออกจากตลิ่งที่ดินโจทก์ การที่หนองน้ำสาธารณะกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขินทั้งแปลงเช่นนี้ แม้ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยโจทก์เข้าทำนาแต่ผู้เดียว ถ้ายังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หนองน้ำดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม แม้โจทก์จะได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 166
ในสัญญากู้ที่โจทก์อาศัยเป็นหลักฐานฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ต้นเงินกู้นั้นได้มีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนส่งได้เป็นรายเดือน ๆ ละ 500 บาท และต่อมาจำเลยยังได้นำเอาหมูตีใช้หนี้ไปแล้วคิดเป็นเงิน 3,500 บาท คงค้างชำระอีก9,000 บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระต้นเงินตามสัญญากู้ตามฟ้องจึงถือได้ว่า เรียกเอาจำนวนเงินอันพึงส่งนอกจากดอกเบี้ยเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความห้าปี ตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 189/2523
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 22 ทวิ
ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลแขวงสั่งคำร้องที่โจทก์ขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า "อนุญาตสำเนาให้จำเลย" นั้น เป็นคำสั่งอนุญาตลอย ๆ โดยมิได้ชี้แจงแสดงเหตุผลให้ปรากฏในคำสั่งว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์แต่ประการใดเลยจึงถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษานั้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1468, 1469 เดิม พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 ม. 7 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1476
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 บัญญัติว่าบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 ใหม่นี้ เมื่อคดีได้ความว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 โจทก์ซึ่งเป็นสามีมีอำนาจจัดการรวมทั้งมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ที่พิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์นั้นได้อยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5(เดิม) มาตรา 1468,1469 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยลำพัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 1504, 1594, 1596 เดิม
ข้อตกลงตามบันทึกหลังทะเบียนหย่าที่ว่า โจทก์รับหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรและธิดาทั้งสามเป็นผู้ส่งเสียให้การศึกษาเอง โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดูแต่อย่างใดทั้งปัจจุบันและอนาคต เป็นอันบังคับได้จนกว่าศาลจะสั่งเปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นเรื่องสละสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่เป็นโมฆะ โจทก์จะมาฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรที่โจทก์ได้จ่ายไปหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1555 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 254, 264
ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งว่า ผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ม.มิได้มีคำขอเกี่ยวกับทรัพย์สิน จึงไม่มีเหตุที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องในระหว่างพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา ทั้งเมื่อศาลตัดสินให้ผู้ร้องชนะ ผู้คัดค้านก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาแต่อย่างใดไม่จำเป็นจะสั่งอายัดเงินบำเหน็จตกทอดและบำนาญพิเศษของ ม.