คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 240/2523
พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 ม. 5, 20 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 95 (5)
จำเลยเป็นคนต่างด้าวที่มีอายุเกิน 12 ปีแล้ว อยู่ในราชอาณาจักรไทยตลอดมาโดยไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 5 จำเลย ต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ถ้าไม่มีก็เป็นความผิดซึ่งมาตรา 20 กำหนดโทษปรับเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 500 บาท ตลอดเวลาที่จำเลยไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จในแต่ละปีไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง ความผิดในปีสุดท้ายจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 264
ผู้ร้องกับผู้คัดค้านมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับการที่จะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินมรดกของผู้ตาย คงพิพาทกันเพียงว่า สมควรเพิกถอนผู้คัดค้านออกเสียจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทนหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่การจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินมรดกของผู้ตายแต่อย่างใด การที่ผู้ร้องทั้งสอง ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในเรื่องเกี่ยวกับการรักษาประโยชน์ในทรัพย์สินมรดกนั้น จึงไม่อยู่ในกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538
จำเลยออกเงินซ่อมตึกของโจทก์ก่อนทำสัญญาเช่าก็เพื่อความสะดวกสบายของจำเลยในการใช้ทรัพย์สินที่เช่าไม่มีลักษณะพิเศษยิ่งไปกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ถ้าไม่จดทะเบียนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 ก็มีผลบังคับเพียง 3 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 728 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 249
ปัญหาที่ว่าโจทก์นำเช็คที่จำเลยที่ 1 ขายให้ไปเข้าบัญชีหลังวันถึงกำหนดสั่งจ่ายเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงไม่พอจ่าย หนี้ย่อมระงับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดก็ดี ปัญหาที่ว่าสัญญาจำนองที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ลงชื่อแทนโจทก์ โดยมิได้ประทับตราของโจทก์ไม่มีผลบังคับก็ดี และปัญหาที่ว่าสัญญาขายลดเช็คสัญญาค้ำประกันลงชื่อจำเลยฝ่ายเดียวเป็นโมฆะก็ดี ล้วนเป็นเรื่องส่วนได้เสียของจำเลยเองมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์เคยทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ด้วยวาจาแล้วหลายครั้ง การที่โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองกำหนดเวลาให้ชำระหนี้จำนวน 1,350,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้น เป็นการบอกกล่าวภายในเวลาอันสมควรแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 393
จำเลยนำภาพของโจทก์ลงพิมพ์ที่หน้าปกของหนังสือพิมพ์รายวันเสียงปวงชน รวมกับภาพอื่นซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 20 ภาพเศษ นอกจากภาพบุคคลแล้วยังมีภาพไฟไหม้อาคาร ภาพเครื่องบินชนโรงงานและภาพงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทุกภาพไม่มีข้อความอธิบายเหตุการณ์หรือบอกชื่อบุคคลในภาพนั้นแต่อย่างใด คงมีแต่ข้อความซึ่งพิมพ์ด้วยอักษรภาษาไทย ขนาดตัวโตขวางทับอยู่กลางหน้ากระดาษว่า "ภาพเหตุการณ์ในรอบปี" เท่านั้นและภาพโจทก์ที่นำลงพิมพ์ไว้นั้นจัดวางไว้ทางตอนบนของหน้ากระดาษเป็นภาพครึ่งตัวส่วนบนแต่งกายเรียบร้อย สวมเสื้อนอก มีผ้าผูกคอ ผิดกับภาพบุคคลอื่น ๆ และเป็นภาพ ของโจทก์เดี่ยว ๆ เป็นเอกเทศ แม้จะมีภาพผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดในคดีอาญาที่ร้ายแรงพิมพ์รวมอยู่รอบ ๆ ภาพของโจทก์ด้วยก็ตามแต่ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงน่าจะเป็นการเสนอภาพเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณา ไม่พอที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 249/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 151
ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 414,000 บาท คู่ความตกลงรับข้อเท็จจริงและกำหนดจำนวนค่าเสียหายกันว่า 100,000 บาท สละข้ออ้างและต่อสู้นอกจากนี้ ดังนี้ โจทก์ไม่ได้แก้ฟ้อง และมิใช่คดีเสร็จโดยประนีประนอมยอมความ จึงคืนค่าขึ้นศาลในจำนวนเดิมที่เกิน100,000 บาทไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
ม. สมัครใจเข้าวิวาทโดยใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ ม. สมัครใจยินยอมเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดมีขึ้นแก่ตนจากการยิงต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2เมื่อจำเลยที่ 1 ยิงถูก ม. ถึงแก่ความตายในการต่อสู้กันนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อ ม. จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ทำให้ ม. ถึงแก่ความตายนั้นแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 247/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 851, 1468, 1473
สามีโจทก์และสามีจำเลยได้ตกลงทำบันทึกกันยอมให้ฝ่ายจำเลยไถ่นาพิพาทคืนจากโจทก์ได้ในราคา 5,200 บาท บันทึกนั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850, 851 และที่ดินพิพาทเป็นสินบริคณห์ ย่อมอยู่ในอำนาจสามีโจทก์ที่จะจัดการสินบริคณห์ รวมทั้งจำหน่ายได้ด้วยตามมาตรา 1468, 1472 เดิม อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น โจทก์ต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่สามีโจทก์ทำไว้โดยต้องยอมให้จำเลยไถ่ถอนคืนตามสัญญานั้น จะปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96, 362, 364 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน แต่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364 ซึ่งเป็นบทความผิดอันยอมความได้ (มิได้อ้างมาตรา 365) โดยมิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 109
จำเลยปลูกตึกในที่ดินของผู้ร้อง ปลูกยังไม่เสร็จจำเลยยกตึกให้ผู้ร้องใช้หนี้เงินยืม ตึกเป็นของผู้ร้องในฐานะส่วนควบ โดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์