คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
เจ้าอาวาสละทิ้งหน้าที่โดยออกนอกเขตปกครองไปอยู่ที่อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร เกินกว่า 30 วัน เจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจปลดออกจากตำแหน่งได้ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 5(พ.ศ. 2506) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และตามระเบียบมหาเถรสมาคม พ.ศ. 2506 ข้อ 4 และข้อ 5 หากจะมีการร้องทุกข์ ผู้ถูกปลดจะต้องร้องทุกข์ต่อ ผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปภายใน 15 วัน นับแต่ทราบคำสั่งลงโทษ เมื่อมิได้มีการร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 683, 856
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ตามที่โจทก์จะพิจารณาอนุญาต ตามวิธีและประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคาร และจำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่สัญญากู้เพราะจำนวนที่กู้ไม่แน่นอนสุดแท้แต่โจทก์ผู้ให้กู้จะอนุญาต และเมื่อสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 เต็มจำนวนเมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 76/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของคู่ความฝ่ายซึ่งศาลแสดงว่าขาดนัดพิจารณา และมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 นั้น จะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้น การที่มีคำขอให้พิจารณาใหม่มาในฎีกาเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2)
คดีความผิดต่อส่วนตัว การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยเพราะจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 15,000 บาท เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกับจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ส่วนการที่ผู้เสียหายแถลงต่อศาลว่าการดำเนินคดีสุดแต่ศาลจะพิจารณานั้นหมายความว่า ให้ศาลดำเนินการต่อไปตามกฎหมายศาลจึงต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดี เพราะสิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 867
สารบัญประกันภัยที่โจทก์อ้างมีข้อความระบุถึงผู้รับประกันภัย ผู้เอาประกันภัยและรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้นไม่มีลายมือชื่อผู้รับประกันภัยหรือลายมือชื่อตัวแทนผู้รับประกันภัยแต่อย่างใด โจทก์จึงอาศัยเอกสารดังกล่าวฟ้องร้องบังคับคดีเอาจากผู้รับประกันภัยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 203 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517
การทำนาปรังเป็นการทำนานอกฤดูการทำนาประจำปี ทั้งคำว่า 'พืชอายุสั้น' และ 'พืชไร่' ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา มาตรา 20 ก็มิได้หมายความถึงข้าว ฉะนั้นเมื่อผู้เช่านาทำนาปรังในนาพิพาท ผู้เช่านาก็ต้องชำระค่าเช่าสำหรับการทำนาปรังนั้น และเมื่อฤดูการทำนาปรังสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม ผู้ให้เช่านาก็ฟ้องให้ผู้เช่าชำระค่าเช่านานั้นในเดือนกันยายน ต่อมาได้ เพราะเป็นเวลาภายหลังจากเสร็จฤดูการทำนาปรังปีนั้นแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (4), 307
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) มิได้บังคับว่าศาลต้องทำการไต่สวนทุกกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามา แต่ศาลมีอำนาจจะไต่สวนตามคำขอหรือไม่แล้วแต่ศาลจะพิจารณาเห็นสมควร กรณีศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะเห็นว่า คำร้องขอของจำเลยไม่ต้องด้วยมาตรา 307 ดังนี้ แม้จะไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องขอก็ไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอนั้นได้ จึงชอบแล้ว
แม้จำเลยจะมีสำนักงานตั้งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์รายได้จากการเป็นทนายความของจำเลยก็เกิดจากการประกอบวิชาชีพของจำเลยนั่นเอง รายได้จากการใช้วิชาชีพดังกล่าวไม่ใช่เป็นการค้าหรือมีลักษณะคล้ายคลึงใกล้เคียงกับการประกอบการพาณิชยกรรม จึงถือไม่ได้ว่าเป็นรายได้จากอสังหาริมทรัพย์หรือรายได้จากการประกอบพาณิชยกรรมในอันที่จะให้ศาลมีคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1374 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
ที่พิพาทเป็นป่า แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โจทก์ย่อมเข้ายึดถือครอบครองได้ ส่วนจะได้กรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิเพียงใดนั้น เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นซึ่งเข้าครอบครองภายหลัง การที่จำเลยเข้าแย่งการครอบครองอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1113
การที่จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ชื่อบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด ตลอดจนเครื่องหมายของบริษัทและหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวติดที่ข้างรถ จำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นการยอมให้รถจำเลยที่ 2 เดินรับส่งคนโดยสารในนามของบริษัทฯ และถือได้ว่าเป็นการยอมรับต่อบุคคลภายนอกว่า รถของจำเลยที่ 2 เป็นรถของบริษัทนั้นเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้บริษัทนครหลวงรถเมล์เล็กจำกัดดังกล่าวยังมิได้จดทะเบียนไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลก็ตาม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติในมาตรา 1113 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (6), 138
เจ้าพนักงานตำรวจไล่จับญาติของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในข้อหาฆ่าคนตายจำเลยที่ 1 กอดเอวเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ดึงเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจอีกคนหนึ่งไว้ เพื่อมิให้เจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาการที่จำเลยที่ 1 กอดเอวและจำเลยที่ 2 ดึงเสื้อนั้นเป็นการใช้แรงกายกระทำต่อกายของเจ้าพนักงานตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) เพื่อต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรค 2