คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478

ผู้ร้องขอให้จดทะเบียนสมรส เท่ากับอ้างว่าขณะนี้ต่างไม่มีคู่สมรสนายอำเภอคัดค้านปฏิเสธว่าผู้ร้องต่างมีคู่สมรสอยู่ผิดเงื่อนไขการสมรสในรายงานกระบวนพิจารณาผู้คัดค้านแถลงว่าผู้คัดค้านไม่ทราบว่าผู้ร้องมีคู่สมรสอยู่หรือไม่ ต่างไม่สืบพยาน ดังนี้ ผู้คัดค้านมิได้รับข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องต่างไม่มีคู่สมรส และมิได้ตกลงสละประเด็นข้อนี้ ผู้ร้องยังมีหน้าที่นำสืบอยู่เมื่อผู้ร้องไม่สืบพยานผู้ร้องต้องแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1449, 1599, 1600, 1629 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 249

โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอ้าง เมื่อเห็นสมควรศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัย แล้วพิพากษาคดีไปได้

เมื่อการสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. มิได้จดทะเบียนการสมรสดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมิใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ท. และไม่เป็นคู่สมรสซึ่งจะมีสิทธิเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. ผู้ตาย เหตุนี้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิหน้าที่เกี่ยวกับกองมรดกของท. โจทก์จะฟ้องให้บังคับจำเลยโอนที่นาซึ่ง ท.ผู้ตายทำสัญญาขายให้โจทก์แต่ท.ถึงแก่กรรมเสียก่อนทำการโอน หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

โจทก์จ้างจำเลยถางป่าผิด ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 แม้จำเลยหลอกลวงเอาเงินค่าจ้างโจทก์ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะร่วมกระทำผิดกับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391, 537

จำเลยเช่าช่วงห้องทำการค้า เสียค่าตกแต่งไป 100,000 บาทโดยทำตามแบบที่ผู้ให้เช่าเดิมกำหนด ไม่มีข้อตกลงกับโจทก์ผู้เช่าเดิมไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าเช่าธรรมดา โจทก์เลิกสัญญาแล้ว จำเลยไม่ส่งมอบห้องคืน ค่าเสียหายคือค่าเช่าที่โจทก์ควรได้รับในการเช่าห้องนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 78

จำเลยให้การว่าไม่ได้ขว้างระเบิด แต่ลูกระเบิดเกี่ยวรั้วลวดหนามตกลงไปเอง ศาลไม่เชื่อจำเลย คำรับของจำเลยว่ามีลูกระเบิดจึงไม่ให้ความรู้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา แต่จำเลยเข้ามอบตัวเมื่อหนีไป 9 เดือนถือได้ว่าลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน ลดโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 339 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 650

จำเลยบังคับให้ บ. ยืมเงิน ท. มาให้จำเลย การที่จำเลยถือปืนขู่ บ. เป็นการขู่ ท. อยู่ในตัว ท. หยิบเงินออกมายังไม่ทันส่งมอบแก่ บ. จำเลยเอาเงินไปจากมือ ท. เป็นชิงทรัพย์ ท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 175, 177

ความเท็จที่นำไปฟ้อง อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 นั้น ต้องเป็นความเท็จในเรื่องที่เป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดอาญา เมื่อจำเลยได้ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คและธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน องค์ประกอบของการกระทำที่จำเลยฟ้องโจทก์ คือการที่โจทก์ออกเช็คและธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น การที่โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดนำเอาเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค มิใช่เป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดที่จำเลยฟ้อง ดังนั้นการที่จำเลยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยนำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แม้จะไม่เป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จ แต่ในข้อหาฐานเบิกความเท็จนั้นในเรื่องที่ว่าผู้ใดนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นย่อมเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะผู้นำเช็คไปเข้าบัญชีย่อมเป็นผู้ทรง เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็ค ผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องผู้ออกเช็คได้ฉะนั้น เมื่อจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จว่าเป็นผู้นำเช็คเข้าบัญชี ซึ่งความจริงจำเลยได้ขายลดเช็คนั้นไปแล้วจำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83

จำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายขับชลอตามรถจักรยานที่ผู้เสียหายขี่ จำเลยที่ 2 กระชากแขนผู้เสียหายล้มลงแล้วลงจากรถบีบคอกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายกลับไปขึ้นรถที่จำเลยที่ 1 จอดติดเครื่องรออยู่บริเวณที่เกิดเหตุออกรถหนีย้อนกลับ ทางเดิมไปทันที จำเลยแบ่งหน้าที่กันทำเป็นตัวการชิงทรัพย์ทั้ง 2 คน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 292, 293

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีในกรณีต่าง ๆ หลายกรณีด้วยกัน และโดยเฉพาะใน (2) ได้บัญญัติไว้ว่า "ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้" แสดงว่า มาตรานี้มิใช่บทบัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีอย่างเดียว แต่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลในอันที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีได้เมื่อเห็นสมควรไว้ด้วย ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลสั่งงดการบังคับคดีได้ ในเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอีกคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจจะชนะคดี และนำหนี้นั้นมาหักกลบลบกันกับหนี้ตามคำพิพากษาที่กำลังบังคับคดีกันอยู่ แต่มิใช่ว่าศาลจะมีอำนาจสั่งงดการบังคับคดีได้เฉพาะกรณีตามมาตรา 293 เพียงกรณีเดียว หากมีกรณีอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีได้ดังเช่นที่มาตรา 292(2) บัญญัติไว้ ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งงดการบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 147, 157, 264, 265, 266, 268, 352, 353, 354 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 158, 192

จำเลยเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์เบิกเงินค่าจ้างในงบงานจัดทรัพย์สินของรัฐกรมธนารักษ์ โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน มีตำแหน่งเป็นพนักงานเก็บเงินที่มีผู้ชำระต่อราชพัสดุจังหวัดเท่านั้น จึงมิใช่เป็นข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมาย คำสั่งจ้างจำเลยระบุเพียงว่าให้จ้างจำเลยเข้าเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ มิได้อ้างว่าแต่งตั้งจำเลยโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายใดฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าอาคารราชพัสดุก็มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้าง หาใช่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่

เงินที่จำเลยยักยอกไปเป็นเงินที่จำเลยเก็บจากผู้เช่าอาคารราชพัสดุแล้ว ยังมิได้ส่งต่อทางราชการ จำเลยมีหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาเงินนั้น และต้องส่งมอบให้แก่ทางราชการเงินที่จำเลยรับไว้จึงเป็นของราชการกรมธนารักษ์ไม่ใช่เป็นของประชาชนผู้ชำระค่าเช่าแต่ละราย เพราะกรมธนารักษ์ต้องรับผลในการกระทำของจำเลยในอันที่จะไปเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าให้ชำระอีกไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแลที่ราชพัสดุแทนกรมธนารักษ์จึงเป็นผู้เสียหาย

สารสำคัญตามฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินไป เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยักยอกเอาเงินไปจริงก็เป็นอันตรงกับคำฟ้องแล้ว ส่วนที่ตามฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานนั้น แม้ตามทางพิจารณาจะไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ก็ยังถือไม่ได้ว่าคดีได้ความตามทางพิจารณาต่างกับฟ้อง และไม่ใช่เป็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือฟ้องไม่สมบูรณ์

« »
ติดต่อเราทาง LINE