คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 329/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 686 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271
คำพิพากษาตามยอมมีความว่า เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับคดีจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ยอมชำระแทนภายใน 6 เดือนดังนี้ หมายความว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์ที่โจทก์จะยึดมาขายทอดตลาดได้โจทก์จึงจะยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1,2 พร้อมกันไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2522
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 112 ทวิ, 112 จัตวา, 112 เบญจ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 ม. 19 ประมวลรัษฎากร ม. 78 นว พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2513 ม. 11
โจทก์ได้เสียภาษีอากรสำหรับสินค้าปลากระป๋องเที่ยวที่ 8 ตามใบขนสินค้าขาเข้า คืออากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวม 227,046.41 บาท ให้กรมศุลกากรจำเลยไว้แล้วสินค้าปลากระป๋องเที่ยวนี้โจทก์ได้ส่งกลับออกไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ทั้งหมดและได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวจากจำเลยแล้วซึ่งในกรณีเช่นนี้จำเลยจะต้องคืนเงินอากรขาเข้าให้แก่โจทก์เก้าในสิบส่วนหรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจำนวนที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 18 และคืนภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราส่วนเช่นเดียวกับการคืนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 78 นว แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2513 มาตรา 11 ฉะนั้น จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีการค้าให้โจทก์ 224,670.94 บาท จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ต้องชำระภาษีการที่จำเลยเรียกเก็บเพิ่มจากโจทก์สำหรับสินค้าปลากระป๋องทั้ง 8 เที่ยวให้จำเลยเสียก่อนจึงจะคืนเงินภาษีอากรให้โจทก์ตามมาตรา 112 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 15 หาได้ไม่ เพราะมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องให้อำนาจอธิบดีกักของไว้จนกว่าจะได้รับชำระเงินอากรที่ค้างครบถ้วนเป็นคนละเรื่องกัน และจำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ขอคืนและจำเลยไม่คืนให้ซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์ผิดนัด
โจทก์วางเงินประกันค่าอากรเพิ่มสำหรับสินค้าเที่ยวที่ 8 ไว้คุ้มค่าอากรที่จำเลยประเมินเพิ่ม จำเลยจึงเรียกเก็บเงินประกันค่าอากรเพิ่มเป็นค่าอากรตามที่ประเมินไว้ได้ทันทีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ทวิ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 แต่เมื่อเงินประกันค่าอากรเพิ่มที่จำเลยเรียกไว้เกินจำนวนที่โจทก์ต้องเสียเพิ่ม จำเลยก็ต้องคืนเงินส่วนที่เกินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 บาทต่อเดือน ตามมาตรา 112จัตวา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 173, 224, 344, 418 ประมวลรัษฎากร
ภาษีเงินได้บริษัทจำกัดถึงกำหนดชำระ 150 วัน จากครบรอบระยะบัญชีแต่ละปี อายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 167 นับตั้งแต่วันนั้น ครบ 150 วัน จากรอบปีบัญชี 30 พ.ค.2496 กรมสรรพากรแจ้งการประเมินภาษีเพิ่ม 26 ธ.ค.2505 ไม่เกิน 10 ปี ถือเสมือนฟ้องคดีตาม มาตรา 173 แล้ว โดยเป็นการใช้สิทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 โดยไม่ต้องฟ้อง การแจ้งผลวินิจฉัยอุทธรณ์หลังจากนั้นไม่ขาดอายุความ
เงินเดือนพนักงานของโจทก์ที่สำนักงานภาคส่งเข้ามาสอนพนักงานสาขาในประเทศ เป็นรายจ่ายที่หักได้ จึงต้องคืนเงินนี้แก่บริษัทโจทก์รวมกับดอกเบี้ย ตาม มาตรา 224 ไม่มีกฎหมายให้กรมสรรพากรเอาเป็นเครดิตสำหรับภาษีปีต่อไปเหมือนชำระภาษีล่วงหน้าตาม มาตรา 18ทวิ 20ทวิ และหักกลบลบหนี้ไม่ได้เพราะยังมีข้อต่อสู้ อายุความเรียกเงินคืนมิใช่ลาภมิควรได้ จึงไม่ใช่ 1 ปี ตาม มาตรา 419
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375, 1377
เดิมที่พิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยได้เข้าแย่งการครอบครองโดยเข้าทำนาใน พ.ศ.2516 และ 2517 เป็นเวลาถึง 2 ปี โจทก์หาได้ฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองไม่ โจทก์จึงเสียสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่หลุดมือไปแล้วตั้งแต่นั้นทันที และพร้อมกันนั้นจำเลยก็ได้สิทธิเพิ่มขึ้นใหม่อีกที่จะไม่ต้องคืนการครอบครองให้แก่โจทก์ที่จำเลยแย่งการครอบครองมา การที่โจทก์เอากล้าของจำเลยดำทำนาและเก็บเกี่ยวข้าวเอาไประหว่างที่จำเลยถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาว่าบุกรุกที่พิพาทใน พ.ศ.2518 และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีอาญาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเข้าทำนาพิพาทโดยถือว่าเป็นของจำเลยเองแล้ว จำเลยจึงกลับเข้าทำนาพิพาทใน พ.ศ.2519 ต่อไปตามเดิมนั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือที่พิพาทในระหว่างถูกฟ้องคดีอาญา การครอบครองของจำเลยจึงไม่สิ้นสุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยได้ต่อยผู้เสียหาย และเอาอาวุธปืนจี้ที่หน้าท้องผู้เสียหายมีเสียงดังแชะกระสุนปืนไม่ลั่น แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนตบกกหูซ้ายผู้เสียหายบาดเจ็บก็ตาม ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนเกี่ยวกับความผิดของจำเลยจนศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้วย่อมถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องสิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไป การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 535
โจทก์ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยจำเลยตอบแทนช่วยทำสวนยางให้โจทก์ ไม่เป็นการยกให้โดยเสน่หา เรียกถอนคืนการให้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1541/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 136
ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยตามหน้าที่ในข้อหาวางคานเหล็กกีดขวางทางเท้า และให้จำเลยไปสถานีตำรวจโดยผู้เสียหายไปรออยู่ที่นั่นเพื่อนำจำเลยส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีพอจำเลยมาถึงสถานีตำรวจก็กล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายว่า "ลื้อจับแบบนี้แกล้งจับอั๊วนี่หว่าไม่เป็นไรไว้เจอกันเมื่อไรก็ได้" ดังนี้เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่ผู้เสียหายให้จำเลยไปที่สถานีตำรวจเพื่อนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีก็อยู่ในระหว่างจำเลยถูกจับกุมนั่นเอง เมื่อจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายในระหว่างนั้นจึงถือว่าจำเลยกล่าวขณะถูกจับกุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 222 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482
พนักงานคะแนน กรรมการตรวจคะแนน ผู้ดำเนินการเลือกตั้งและผู้อำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง เอาบัตรในหีบเลือกตั้งออกมานับว่าตรงกับจำนวนผู้ออกเสียงหรือไม่ และตรวจว่าเป็นบัตรเสียหรือไม่ ตามกฎกระทรวงมหาดไทยแต่ตรวจยังไม่หมดเกรงจะมืด จึงเอาบัตรใส่คืนลงในหีบแล้วนำออกนับคะแนนทันที ไม่เป็นการจงใจนับบัตรเลือกตั้งให้ผิดความจริงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 58
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคนละตอนขัดกัน ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่โดยไม่ย้อนสำนวนไปก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1539/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 69, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2503 ม. 12, 18
จำเลยเป็นลูกจ้าง ได้ร่วมกับพวกไปตัดฟันไม้มาทำการแปรรูปโดยไม่มีใบอนุญาตขณะถูกจับกุมจำเลยกำลังนอนเฝ้าไม้เหล่านั้นไว้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีไม้ของกลางไว้ในความครอบครองอันจะต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้แต่ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายจ้าง ซึ่งเป็นผู้มีไว้ในความครอบครองจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1536/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1482 (4)
ผู้ร้องรู้เห็นในการที่จำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ร้องเข้าเป็นกรรมการสหกรณ์โจทก์รับดำเนินงานจัดซื้อข้าวโพด โดยมีรายได้จากโจทก์วันละ 30 บาท ผู้ร้องเคยพาผู้อื่นไปขายข้าวโพดกับโจทก์ จึงมีส่วนช่วยในการดำเนินงานดังกล่าวหารายได้จุนเจือครอบครัว หนี้ตามคำพิพากษาเป็นค่าเสียหายเกิดจากจำเลยดำเนินงานดังกล่าวและประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์เป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรส ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่จำเลยกับผู้ร้องเป็นลูกหนี้ร่วมกันผู้ร้องต้องร่วมรับผิด จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนตามคำร้อง