คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1536/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1482 (4)
ผู้ร้องรู้เห็นในการที่จำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ร้องเข้าเป็นกรรมการสหกรณ์โจทก์รับดำเนินงานจัดซื้อข้าวโพด โดยมีรายได้จากโจทก์วันละ 30 บาท ผู้ร้องเคยพาผู้อื่นไปขายข้าวโพดกับโจทก์ จึงมีส่วนช่วยในการดำเนินงานดังกล่าวหารายได้จุนเจือครอบครัว หนี้ตามคำพิพากษาเป็นค่าเสียหายเกิดจากจำเลยดำเนินงานดังกล่าวและประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์เป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรส ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่จำเลยกับผู้ร้องเป็นลูกหนี้ร่วมกันผู้ร้องต้องร่วมรับผิด จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนตามคำร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 121, 122, 137, 138, 820, 894
โจทก์มิได้รับการตรวจสุขภาพ มิได้รับการฉายเอ๊กซเรย์และตรวจคลื่นหัวใจและจำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงให้โจทก์เอาประกันชีวิตโดยแจ้งว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพแล้วจัดหาบุคคลอื่นไปรับการตรวจสุขภาพแทน ทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์มีสุขภาพดี และรับประกันชีวิตโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิตโดยเข้าใจผิดว่าได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว ซึ่งถ้าโจทก์รู้ว่าเป็นการไม่ชอบก็จะไม่ทำสัญญาด้วย
จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนแสวงหาผู้เอาประกันของจำเลยที่ 1ขอให้โจทก์เอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะทำฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะโจทก์บอกล้างโดยชอบแล้วสัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดส่งคืนเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (7), 264, 268
จำเลยนำภาพถ่ายของผู้มีชื่อซึ่งถ่ายขณะรับพระราชทานปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต รวม 2 ภาพกับภาพถ่ายของผู้มีชื่อซึ่งถ่ายขณะสวมครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ 1ภาพ ซึ่งเป็นภาพอันแท้จริงมา นำเอาภาพเฉพาะใบหน้าของจำเลยปิดทับลงไปในตำแหน่งใบหน้าของผู้มีชื่อ และแก้เลข พ.ศ.2508 ในภาพผู้มีชื่อถ่ายขณะรับพระราชทานปริญญาภาพหนึ่ง เป็น พ.ศ.2504 แล้วถ่ายภาพอัดขยายใหม่ กลายเป็นภาพถ่ายซึ่งดูแล้วเป็นภาพจำเลยถ่ายขณะรับพระราชทานปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตรวม 2 ภาพ และเป็นภาพจำเลยสวมครุยปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต 1 ภาพ แล้วนำภาพถ่ายทั้ง 3 ภาพใส่กรอบติดไว้ในร้านขายยาของจำเลย
ดังนี้ การที่จำเลยเอาภาพเฉพาะใบหน้าของจำเลยปิดทับลงในตำแหน่งใบหน้าของภาพถ่ายผู้มีชื่อ แล้วถ่ายภาพอัดขยายใหม่กลายเป็นภาพถ่ายซึ่งดูแล้วเป็นภาพจำเลยถ่ายขณะรับพระราชทานปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต 2 ภาพ กับภาพถ่ายจำเลยถ่ายขณะสวมครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ 1 ภาพเป็นภาพถ่ายที่ไม่ได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น ตามความหมายของคำว่าเอกสารดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7)ภาพถ่ายทั้ง 3 ภาพของจำเลยจึงไม่เป็นเอกสารส่วนที่ภาพถ่ายภาพหนึ่งซึ่งดูแล้วเป็นภาพจำเลยถ่ายขณะรับพระราชทานปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตมีตัวอักษรและตัวเลขอยู่เหนือและนอกภาพถ่ายว่า 'มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ 2504' ซึ่งตัวเลข 2504จำเลยแก้จากตัวเลข 2508 นั้น โจทก์มิได้นำสืบว่าตัวอักษรและตัวเลขนั้นมีความหมายถึงอะไร จึงไม่ปรากฏความหมายอันจะทำให้เป็นเอกสารในตัวเอง หรือทำให้ภาพถ่ายที่ไม่เป็นเอกสารนั้นเกิดเป็นเอกสารขึ้นได้การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมดังโจทก์ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1529/2522
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)
จำเลยเป็นผู้รักษาเงินของบริษัทโจทก์ มีหน้าที่รับเงินจากพนักงานขายนำฝากธนาคารเป็นรายวันตามยอดที่รับไว้ จำเลยยักยอกเงินสดของโจทก์ที่จะต้องฝากเข้าธนาคารแล้วออกเช็คของจำเลยนำเข้าฝากธนาคารแทน เพื่อจะไม่ให้โจทก์รู้ความจริง และต้องการปิดบังความผิดฐานยักยอก ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยออกโจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานยักยอก ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ดังนี้ จำเลยมิได้ออกเช็คที่ฟ้องโดยเจตนาที่จะให้มีการใช้เงินตามเช็ค ทั้งศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงินตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องไปจนคดีถึงที่สุดแล้วด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
ผู้ร้องให้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ อ.ระหว่างอ.ส่งชำระค่าเช่าซื้อเหลืออีก 8 งวด จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปขนไม้เถื่อนด้วยความรู้เห็นของอ.ผู้ร้องประสงค์เพียงค่าเช่าซื้อที่ค้างคืนส่วนการขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีนี้แท้จริงเป็นความประสงค์ของ อ. ผู้ร้องยอมให้ อ.ใช้ชื่อผู้ร้องบังหน้าในการขอคืนของกลาง ดังนี้ถือว่าเป็นการขอคืนของกลางเพื่อประโยชน์ของ อ.ผู้รู้เห็นในการกระทำความผิดกรณีไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งคืนให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 161, 163
ฟ้องไม่ระบุที่เกิดเหตุ ศาลประทับฟ้องและถามคำให้การจำเลยนัดสืบพยานโจทก์แล้ว เลยเวลาที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 โจทก์มีอำนาจขอแก้ฟ้องตามมาตรา 163 แต่โจทก์มิได้ขอแก้อ้างว่าพลั้งเผลอศาลยกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91
ฉุดพาหญิงไปข่มขืนกระทำชำเราและกักขังไว้ เป็นความผิดฐานฉุดหญิงไปตาม ป.อ. ม.284 กระทงหนึ่ง ม.310 ฐานกักขังกระทงหนึ่งกับฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยโทรมหญิง ตาม ม.276วรรค 2 อีกกระทงหนึ่งการข่มขืนตาม ม.276 กระทำหลายครั้งหลายวันก็เป็นความผิดกรรมเดียวต่อเนื่องกันจากเจตนาเดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2522
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904, 920, 970, 989
จำเลยออกเช็คจำนวนเงิน 30,000 บาทให้โจทก์ เช็คดังกล่าวเป็นเช็คให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ต่อมาโจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คและส่งมอบเช็คให้ ช.ช.นำเช็คไปเข้าบัญชีของตนแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินช.คืนเช็คให้โจทก์ดังนี้ การที่โจทก์สลักหลังเช็คและส่งมอบเช็คให้แก่ช.ย่อมมีผลเป็นการโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้นแก่ ช.แล้วช.จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยตรงหาใช่เป็นตัวแทนในการเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ เมื่อช.เป็นผู้ทรงเช็คในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอันเป็นวันเกิดเหตุตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ช.จึงเป็นผู้เสียหายการที่ช.คืนเช็คให้โจทก์แม้จะเป็นเช็คให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ก็หามีผลให้โจทก์กลับเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาไม่โจทก์ไม่มีอำนาจนำเช็คมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4), 158 (5)
สถานที่เกิดเหตุเป็นสารสำคัญที่โจทก์จะต้องกล่าวบรรยายมาในฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์ขาดรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่เกิดการกระทำผิด ย่อมเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยได้กระทำผิด ณ สถานที่ใดจึงถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป แม้โจทก์จะยื่นฟ้องใหม่ก่อนอุทธรณ์คดีนั้น ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิที่จะฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 288, 289
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งใช้ป้ายทะเบียนปลอมโดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้าย จำเลยที่ 1 มีปืนพกขนาด 11 มม. ไม่มีทะเบียนพกอยู่ที่เอวไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองพบผู้ตายโดยบังเอิญหรือมีสาเหตุแห่งการยิงกันเกิดขึ้นในปัจจุบันทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังรถยนต์ของผู้ตายเข้าไปใกล้ในระยะห่างพอควรจำเลยที่ 2 ก็ใช้ปืนยิงเข้าไปในรถของผู้ตายทางด้านหลังรถทันที จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ขับรถจะแซงรถของผู้ตายขึ้นไปในขณะที่รถยนต์ของผู้ตายแฉลบไปทางขวามือเพราะถูกยิงเพื่อจะพากันหลบหนี เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับชนกับรถยนต์ของผู้ตายจำเลยทั้งสองตกจากรถ จำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนของจำเลยที่ 2 และของจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายอีกหลายนัดจนผู้ตายถึงแก่ความตายพฤติการณ์ดังนี้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดหลายกรรม กรรมหนึ่งให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอีกสองกรรมให้ลงโทษจำคุก 1 ปี4 เดือน ศาลชั้นต้นจึงเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก50 ปี เพื่อเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดกรรมเดียวซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิต กรณีไม่จำต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตโดยไม่เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปีได้ มิใช่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย