คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 381, 420

จำเลยจ้างโจทก์สร้างตึกแถว โจทก์ส่งมอบล่าช้าแต่จำเลยรับมอบโดยไม่สงวนสิทธิปรับตามสัญญาจำเลยบังคับเรียกเบี้ยปรับไม่ได้ตาม มาตรา 381 วรรคท้าย

โจทก์โอนสิทธิการเช่าตึกแถวแก่จำเลย แต่โจทก์ใส่กุญแจประตูตึกแถวเสีย จำเลยเข้าครอบครองไม่ได้ ไม่เป็นละเมิด ตามสัญญาสิทธิที่จำเลยได้จากสัญญาคือสิทธิการเช่าตึกเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1754

โจทก์ทราบว่า ป. ถึงแก่กรรมตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 แต่โจทก์มาฟ้องคดีในปี 2519 เพื่อบังคับให้ทายาทของ ป. โอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ ป. ทำไว้กับโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 34

น้าไม่ใช่บุพการีและไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูที่พอจะฟังได้ว่าเป็นผู้พิทักษ์ตามพฤตินัยจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้หลานเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299

โจทก์ได้กรรมสิทธิที่พิพาทโดยจดทะเบียนโอนตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งได้ที่พิพาทโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2522

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 16, 22, 23, 42 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

กรณีที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้านั้น ถ้าเป็นกรณีตามมาตรา 16 ก็เป็นเรื่องนายทะเบียนมีหนังสือปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนเพราะเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว หรือมีการโต้แย้งคัดค้านการขอจดทะเบียนตาม มาตรา22,23 อันเป็นการโต้แย้งสิทธิกัน ส่วนกรณีที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโดยอ้างเหตุตามมาตรา 42 คือจดทะเบียนไว้โดยมิได้ตั้งใจสุจริตที่จะใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้น ก็ต้องมีการโต้แย้งสิทธิและทำเป็นคำฟ้องเช่นเดียวกัน (อ้างฎีกาที่ 232/2504)

คำบรรยายฟ้องของโจทก์มีเพียงว่า นายทะเบียนไม่ยอมพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่านายทะเบียนปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนตามมาตรา 16 หรือจำเลยคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ตามมาตรา 22 ดังนี้ย่อมไม่มีการโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าจำเลยมิได้ตั้งใจสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายการค้าอันได้จดทะเบียนไว้ อันเป็นการฟ้องโดยอ้างเหตุตามมาตรา 42นั้น การฟ้องตามมาตรานี้ก็ต้องเป็นกรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิเช่นเดียวกัน คือโจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าแบบที่จำเลยจดทะเบียนไว้ก่อน แต่โจทก์กลับบรรยายฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าตราเสือที่ขอจดทะเบียนนั้นไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตราเสือที่จำเลยจดทะเบียนไว้เช่นนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 42 นี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 245

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 245/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

ผู้เช่าซื้อครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ แม้ไม่ใช่เจ้าของก็ฟ้องผู้ทำละเมิดให้รถเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382

การที่โจทก์ปลูกเรือนอยู่ในที่พิพาทโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382นั้น แม้โจทก์ไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดิน ไม่เคยเสียภาษีบำรุงท้องที่และเมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อโอนทางทะเบียนก็ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านแต่อย่างใด ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์เสียสิทธิที่มีอยู่กับที่พิพาทไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 280, 292

ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้อง ชั้นบังคับคดีโจทก์อายัดเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องจ่ายให้แก่จำเลย ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งขอให้เพิกถอนสัญญากู้ และฟ้องเรียกเงินที่อายัดดังนี้ ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 220 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 458 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2473 ม. 13

กรณีบุคคลภายนอกขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา36 ไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันมาให้ยกคำร้องของผู้ร้องผู้ร้องก็ยังฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

การแจ้งโอนทะเบียนรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2473 มาตรา 13 นั้น เป็นเรื่องกฎหมายกำหนดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ใช่แบบ ที่กำหนดไว้เพื่อความสมบูรณ์แห่งนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งซึ่งกรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 523, 665 วรรคสอง, 1336, 1600, 1719

บิดามีเจตนายกเงินให้บุตร ได้ยื่นคำร้องขอเปิดบัญชีกับธนาคารโดยระบุชื่อบุตรและในสมุดคู่ฝากก็ระบุชื่อบุตรเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก กรรมสิทธิ์ในเงินนั้นย่อมตกเป็นของบุตรทันทีที่ธนาคารรับเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตร แม้จะมีข้อตกลงกับธนาคารว่าบิดาเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากได้ก็ตาม

ครั้นเมื่อบิดาตาย ธนาคารย่อมต้องคืนเงินฝากนั้นให้แก่ทายาท เมื่อผู้จัดการมรดกขอถอนเงินฝากดังกล่าว การที่ธนาคารจ่ายเงินคืนให้ จึงเป็นการชอบ

ผู้จัดการมรดกต้องมอบเงินที่ถอนมาให้แก่บุตรผู้เป็นเจ้าของเงิน เพราะเงินนั้นมิใช่มรดก บุตรผู้เป็นเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากผู้จัดการมรดกผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE