คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 308

จำเลยทราบกำหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์ดีแล้ว และขายได้ราคาสูงกว่าราคาประเมิน แม้ต่ำกว่าราคาปานกลาง ไม่มีพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตไม่มีเหตุจะยกเลิกการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1618

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1618/2522

ประมวลรัษฎากร ม. 77,

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่18) พ.ศ.2504 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะที่โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสะระแหน่ หัวน้ำเชื้อมะนาว หัวน้ำเชื้อส้ม และขี้ผึ้งที่ได้จากพืชเข้ามาในราชอาณาจักร ได้บัญญัติจำกัดความคำว่า "สินค้าสำเร็จรูป" ไว้ในมาตรา 77 และในบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 1 ชนิด 9 ก็ได้บัญญัติถึงสินค้าที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูป อันเป็นการแสดงว่าเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากรในขณะนั้นต้องการเก็บภาษีการค้าสำหรับสินค้าสำเร็จรูป และสินค้าที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูปแตกต่างกัน กล่าวคือถ้าสินค้าที่นำเข้ามาเป็นสินค้าที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูปและกรณีต้องด้วยบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 1 ชนิด 9 ก็ต้องเสียภาษีการค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้านั้น แต่ถ้านำสินค้าที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูปเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อขายแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีการค้าส่วนสินค้าสำเร็จรูปนั้นถ้ามีการนำเข้ามาก็จะต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าในทุกกรณีไม่ว่าจะนำเข้ามาเพื่อการใด (อ้างฎีกาที่ 1176/2521)

มาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวให้คำจำกัดความคำว่า "สินค้าสำเร็จรูป" ไว้ว่าหมายความว่าสินค้าซึ่งตามสภาพการอุปโภคบริโภคได้โดยไม่จำต้องเปลี่ยนหรือดัดแปลงหรือนำไปผสมกับสิ่งอื่น ฉะนั้น ในการพิจารณาว่าสินค้าใดเป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือไม่ จึงจำต้องพิเคราะห์ถึงสภาพแห่งการใช้ของสินค้านั้น ๆ เป็นแต่ละชนิด ๆ ไปว่าสามารถนำไปอุปโภคหรือบริโภคได้ทันทีหรือไม่ เมื่อได้ความว่าหัวน้ำเชื้อสะระแหน่ หัวน้ำเชื้อมะนาว หัวน้ำเชื้อส้ม จะนำไปอุปโภคหรือบริโภคโดยไม่ผสมกับสิ่งอื่นไม่ได้ เพราะแรงไป หากนำไปบริโภคโดยไม่เจือปนจะกัดลิ้น ฉุนและจาม เป็นอันตรายแก่ร่างกายดังนี้ ต้องถือว่าหัวน้ำเชื้อทั้งสามชนิดไม่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ส่วนขี้ผึ้งที่ได้จากพืชนั้นนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือดัดแปลงหรือผสมกับสิ่งใดอีก จึงถือได้ว่าเป็นสินค้าสำเร็จรูป

โจทก์สั่งขี้ผึ้งที่ได้จากพืชซึ่งเป็นสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาผลิตสินค้าของโจทก์เองแม้จะมิได้สั่งเข้ามาเพื่อขายหรือยังมิได้ขาย โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า 1 การขายของชนิด 1 ก.(อ้างฎีกาที่ 1176/2521) ส่วนหัวน้ำเชื้อทั้ง 3 ชนิดซึ่งเป็นสินค้าสำเร็จรูปนั้น เมื่อโจทก์สั่งเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อขายโจทก์ก็ไม่ต้องเสียภาษีการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538, 1372 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 127

โฉนดมีชื่อโจทก์ สันนิษฐานว่าโจทก์เป็นเจ้าของโจทก์อ้างว่าให้จำเลยเช่า จำเลยอ้างว่าครอบครองเป็นเจ้าของ โจทก์ออกโฉนดโดยไม่สุจริต จำเลยมีหน้าที่นำสืบจำเลยนำสืบไม่สม ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยได้ การเช่าไม่มีเอกสารเป็นหลักฐาน ไม่ห้ามฟ้องขับไล่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 387, 391, 472

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายทำงานได้ระบบเดียว อีก 6 ระบบทำงานไม่ได้ตามสัญญา ผู้ซื้อเลิกสัญญาได้ศาลให้คืนเครื่องคอมพิวเตอร์ผู้ซื้อไม่ต้องใช้ราคา แต่ให้ใช้ค่าใช้ทรัพย์ที่ใช้ได้ 1 ระบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1611

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1611/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 65

จำเลยทำผิดเข้าไปลักปืนและยิงคน แต่ผู้เชี่ยวชาญทางนิติจิตเวชตรวจรักษาจำเลยอยู่ 9 เดือนเบิกความว่าจำเลยวิกลจริตมา 4 ปีขณะทำผิดไม่รู้ผิดชอบ ดังนี้รับฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา65 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 357

จำเลยอยู่ที่ปากถ้ำที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานพบคนร้ายมีกระบือผูกอยู่ในถ้ำ จำเลยเพียงแต่ดูกระบือ ตั้งใจจะซื้อ ยังไม่ตกลงจะซื้อก็ถูกจับ ยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362

บุกรุกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา362 เป็นการรบกวนสิทธิครอบครอง แม้อสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินที่ครอบครอง มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายก็เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

จอดรถไม่ขนานชิดขอบทาง มีความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 54,148 เป็นคุณกว่า พระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2477 มาตรา 19, 66 ศาลใช้กฎหมายใหม่ลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 83 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510

ธ. รับจ้างขนแร่ของบริษัทเกินจำนวนในใบอนุญาตให้ขนกว่าร้อยละ 5 บริษัทต้องรับผิดในการกระทำของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 10 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2516 มาตรา 8 ธ. ขนแร่ของตนรวมไปกับแร่ของบริษัท ถือว่าการขนแร่เป็นความผิดที่ผู้รับใบอนุญาตต้องรับผิดเป็นตัวการด้วยและถือเป็นแร่ผิดกฎหมายทั้งหมดตาม มาตรา110 ต้องริบตามมาตรา 154 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2516 มาตรา39 ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1599

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1599/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 366, 420

จำเลยประกาศแจ้งการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของจำเลยโจทก์ยื่นซองประกวดราคาโดยเสนอราคาต่ำกว่ารายอื่น เมื่อปรากฏตามประกาศแจ้งการประกวดราคาของจำเลยดังกล่าวว่าจำเลยทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเลือกจ้างผู้ประกวดราคารายใดก็ได้ หาจำต้องว่าจ้างผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไปไม่ประกอบกับการที่ต่อมาโจทก์กับจำเลยได้เจรจา แต่ตกลงกันไม่ได้ในรายละเอียดการก่อสร้างและกำหนดการจ่ายค่าจ้าง จึงยังมิได้ทำสัญญากัน ดังนี้ จึงหามีผลผูกพันให้จำเลยต้องยอมให้โจทก์เข้าทำการก่อสร้างอาคารโดยไม่ต้องทำสัญญากันไม่และจะถือว่า จำเลยทำผิดสัญญาหาได้ไม่

โจทก์ยื่นซองประกวดราคาโดยเสนอราคา 9,250,000 บาทต่ำกว่ารายอื่น แม้จำเลยจะมีเงินทุนที่จดทะเบียนไว้เพียง 1 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าจำเลยจะได้เงินค่าก่อสร้างล่วงหน้าจากผู้มาสั่งจองซื้ออาคารถึง 80 คูหา ๆ ละประมาณสองแสนบาท และจำเลยสามารถเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารได้ในวงเงิน 5 ล้านบาท แสดงว่าจำเลยมีเงินพอชำระค่าก่อสร้างให้โจทก์ และมีเจตนาที่จะทำการก่อสร้างจริงๆ ไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาไม่สุจริตโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายเหตุที่ไม่มีการทำสัญญากันเพราะตกลงกันไม่ได้ในรายละเอียดจำเลยจึงหาได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE