คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237
จำเลยที่ 1 ปลอมใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 สามี นำโฉนดที่ดินจำเลยที่ 2 ไปทำนิติกรรมขายฝากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงฟ้องขอเพิกถอนการขายฝาก ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารและฉ้อโกงเกี่ยวกับการขายฝากนั้นย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องถูกโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าขายฝากที่ดินคืนและจำเลยที่ 2 จะต้องถูกโจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นอีกดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนการหย่าหลังจากศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนการขายฝากเพียง 20 วันเศษ และบันทึกระบุเรื่องทรัพย์สินระหว่างจำเลยทั้งสองว่าให้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาดังกล่าวเพียง 7 วันจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเหตุนี้จึงเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926 - 1927/2522
ประมวลรัษฎากร ม. 40 (5), 70 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2502 ม. 17, 33
โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบธุรกิจให้เช่าและจัดจำหน่ายฟิลม์ภาพยนตร์ มีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทยโจทก์เช่าฟิลม์ภาพยนตร์จากบริษัทต่างประเทศแล้วเอาเข้ามาฉายในประเทศไทย ซึ่งทางโรงภาพยนตร์จะแบ่งปันรายได้ให้แก่โจทก์โจทก์จะหักไว้เป็นรายได้ของโจทก์ร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 ต้องหักค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ค่าตัดต่อฟิลม์ค่าพิมพ์คำบรรยายค่าบันทึกเสียงหรือพากย์ และค่าตรวจเซนเซ่อร์เสียก่อน เหลือเท่าไรบริษัทต่างประเทศจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้และโจทก์มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องส่งเงินสุทธิดังกล่าวเท่านั้นไปให้บริษัทต่างประเทศดังนั้นเงินค่าเช่าฟิลม์ภาพยนตร์ซึ่งถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์จะต้องรับผิดเสียภาษีตามมาตรา 40(5) ประกอบด้วยมาตรา 70 จึงได้แก่เงินที่โจทก์จ่ายให้บริษัทต่างประเทศหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วและการคำนวณภาษีเงินได้ของเงินดังกล่าวจะต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้อีกร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือตามมาตรา 70(3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 210, 218, 221
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 86 ให้เวนคืนที่ดินของผู้ร้องเพื่อประโยชน์ของทางราชการกรมชลประทาน และกำหนดค่าทดแทนให้ราคาไร่ละ 2,000 บาท ผู้ร้องปฏิเสธเพราะราคาไม่เป็นธรรมจึงมีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดราคา อนุญาโตตุลาการของทางฝ่ายกรมชลประทานและฝ่ายผู้ร้องมีความเห็นไม่ตรงกัน ได้ตกลงตั้งประธานอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดโดยให้ฝ่ายผู้ร้องร้องขอต่อศาลให้ตั้ง อ. เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้ง อ. เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ต่อมา อ. ทำคำชี้ขาดว่าราคาที่ดินที่เป็นธรรมควรกำหนดราคาไร่ละ 68,000 บาท และยื่นคำชี้ขาดต่อศาลทางฝ่ายกรมชลประทานไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้กรณีตามคำร้องเป็นการเสนอข้อพิพาทในการกำหนดค่าทดแทนให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเรื่องราคาที่ดินนอกศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 221 ข้อที่อนุญาโตตุลาการลงมติให้ผู้ร้องร้องขอแต่งตั้ง อ. เป็นประธานอนุญาโตตุลาการและศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง อ. ไปตามคำร้องแล้วนั้นเป็นเพียงข้อตกลงของคู่กรณีว่าให้ไปดำเนินการทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง อ. เท่านั้น หาใช่เป็นการตั้งอนุญาโตตุลาการในศาลไม่เพราะไม่มีคดีอันเป็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลตามมาตรา 220 เหตุนี้การที่ อ. ได้ทำคำชี้ขาดกำหนดราคาที่ดินยื่นต่อศาลก็หาเป็นการชี้ขาดที่ต้องให้ศาลพิพากษาตามที่บังคับไว้ในมาตรา 218 วรรคสองไม่
มาตรา 221 ที่ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ก็เพื่อแสดงว่าผู้ยื่นมีสิทธิตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่คดีเรื่องนี้ผู้ร้องมีคำขอให้บังคับกรมชลประทานปฏิบัติตามคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเข้ามาด้วยจึงเป็นคดีที่มีจำเลย เรียกว่าคดีมีข้อพิพาทผู้ร้องจึงต้องเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2522
พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ม. 121 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59
ฟ้องโจทก์มีใจความว่า "จำเลยบังอาจมียา ….ซึ่งเป็นยาสิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในสลากแล้ว (คือยาเสื่อมคุณภาพ) ไว้ในความครอบครองของจำเลยเพื่อขายและตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยา คำว่า "มีไว้เพื่อขาย" มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "ขาย" ฟ้องของโจทก์จึงได้ความตรงตามมาตรา 121 วรรคแรกแล้ว และความผิดตามมาตรานี้ (มาตรา 121) ต้องการเพียงเจตนาธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เท่านั้นเมื่อโจทก์ใช้คำว่า"จำเลยบังอาจ" ก็เป็นการแสดงความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยเจตนากระทำผิดกฎหมายโจทก์หาจำต้องกล่าวในฟ้องว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นยาเสื่อมคุณภาพไว้ด้วยอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 523, 1378
ยกที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญกับเรือน และยุ้งข้าวบนที่ดินนั้นให้สิทธิครอบครองของผู้ให้สิ้นสุดลง ตาม มาตรา 1377กระบือซึ่งไม่ปรากฏว่ามีทะเบียนสัตว์พาหนะ การให้สมบูรณ์โดยการส่งมอบ ไม่ต้องจดทะเบียน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1920/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 443, 444 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60, 172
จำเลยกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้เยาว์ของโจทก์บาดเจ็บสาหัสแม้โจทก์ในฐานะส่วนตัวจะเรียกค่าเสียหายมิได้เพราะบุตรไม่ถึงตายก็ตามแต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายแทนบุตรผู้เยาว์ได้ ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าบุตรโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอคิดค่าเสียหายจึงถือว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายแทนบุตรผู้เยาว์แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1911/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 319
ผู้เสียหายอายุ 15 ปี ได้เสียกับจำเลย แล้วมีจดหมายชวนจำเลยไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ วันเกิดเหตุผู้เสียหายมาหาจำเลยแล้วผู้เสียหายกับจำเลยพากันไปอยู่กรุงเทพฯดังนี้ เป็นเรื่องผู้เสียหายสมัครใจไปจากบิดามารดาเองจำเลยไม่ได้พรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510
ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยและริบแร่ แต่จำเลยไม่ใช่ตัวแทนหรือลูกจ้างผู้ร้อง ผู้ร้องมิใช่คู่ความในคดี คำพิพากษาไม่ผูกมัดผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของแร่และไม่รู้เห็นเป็นใจในการทำผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2522
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 20, 20 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 90
จำเลยมีเฮโรอีนจำนวน 740 กรัม ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามนำเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทที่หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 289 (4)
จำเลยไปติดต่อกับบริษัทประกันภัย เพื่อเอาประกันชีวิตผู้ตายในแบบอุบัติเหตุส่วนบุคคล ระบุจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ แล้วจำเลยมิได้ให้ผู้ตายลงชื่อในคำขอเอาประกันภัย แต่ใช้วิธีปลอมลายมือชื่อผู้ตายลงในคำขอ และเมื่อจำเลยได้ฆ่าผู้ตายแล้วก็ได้พยายามสร้างเหตุการณ์ขึ้นเพื่อทำให้ดูประหนึ่งว่าผู้ตายตายโดยอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเพื่อจำเลยจะสามารถรับเงินประกันชีวิตได้แล้วจำเลยได้ไปแจ้งต่อบริษัทรับประกันภัยในวันรุ่งขึ้นจากที่ผู้ตายถูกจำเลยฆ่าตาย ดังนี้ พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยมีแผนมาตั้งแต่แรกที่จะฆ่าผู้ตายเพื่อหวังประโยชน์จากเงินประกันชีวิตผู้ตาย ถือได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน