ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 362
ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 362 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
คดีบุกรุกยอมความได้หรือไม่
คดีบุกรุกเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ ยกเว้นความผิดฐานบุกรุกโดยมีเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 365
คดีบุกรุกหรือการบุกรุกเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ ยกเว้นความผิดฐานบุกรุกโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 365 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คำว่า เหตุฉกรรจ์ คือเหตุที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ได้แก่ ความผิดฐานบุกรุกที่ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ความผิดฐานบุกรุกโดยมีอาวุธความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน ความผิดฐานบุกรุกที่มีเหตุฉกรรจ์ดังที่กล่าวมานี้ยอมความไม่ได้
คดีอาญาที่ยอมความได้ มีอะไรบ้าง? หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย !
การบุกรุกคืออะไร
การบุกรุก คือ การเข้าไปในที่ดินหรือเคหสถานของผู้อื่น โดยไม่มีเหตุผลสมควร
ไม่เจตนาบุกรุก เช่น ข้อพิพาทในกรรมสิทธิ์ที่ดินยังไม่ชัดเจน เป็นเรื่องคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา
ไม่เจตนาบุกรุก ยกตัวอย่างที่ถือว่าไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดิน เช่น โจทก์กับจำเลย ต่างนำสืบโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์จริงหรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา การกระทำของจำเลย ตามที่โจทก์นำสืบหาว่า ร่วมกันเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตักเอาดินและต้นไม้ไปจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2537

การบุกรุกที่ดิน
การบุกรุกที่ดิน คือเป็นเรื่องการเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นเพื่อ 1. ถือการครอบครอง กล่าวคือแย่งที่ดินนั้นมาเป็นของตัวเอง 2. เข้าไปกระทำการใด เพื่อเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข
การรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข
คำว่า การรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข ไม่ได้หมายความถึง ต้องเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การที่จำเลยกระชากลากผู้เสียหายออกมาจากบริเวณที่ผู้เสียหายยืนอยู่ใต้ชายคาบ้านของผู้เสียหาย แม้จำเลยจะยืนอยู่นอกบริเวณบ้านของผู้เสียหาย แต่จำเลยก็จะต้องเอื้อมมือเข้าไปภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายเพื่อจับและฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกไป การเอื้อมมือเข้าไปฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกไปในลักษณะนี้ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขโดยใช้กำลังประทุษร้าย เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และมาตรา 365(1) แล้ว อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2540
ความผิดฐานบุกรุกทำร้ายร่างกาย
ความผิดฐานบุกรุกทำร้ายร่างกายคือการบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย
ความข้อหาบุกรุกทำร้ายร่างกาย ในทางกฎหมายจะเรียกว่าความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(6) ได้นิยามความหมายของคำว่า “ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน ดังนั้น การประทุษร้ายแก่กาย ทีความหมายไปในทางเดียวกันกับการทำร้ายร่างกายนั่นเอง
ตัวอย่างคดีบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย
จำเลยบุกรุกเข้าไปจับแขน ขา หน้าอก และกอดจูบผู้เสียหายซึ่งนอนอยู่ในมุ้งภายในบ้าน ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเข้าไปกระทำอนาจารผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคสอง มีความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน 364 ในเวลากลางคืน จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกโดยมีเหตุฉกรรจ์ 365 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2536)
ตัวอย่าง คดีที่ไม่ถือว่าเป็นการบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย ข้อเท็จจริงในคดีผู้เสียหายปิดประตูหน้าบ้านแต่ไม่ได้ล็อกประตู จำเลยเปิดประตูเข้ามาแล้วเข้ามาหาผู้เสียหายพร้อมกับใช้กรรไกรจี้บริเวณลำคอของโจทก์ร่วมแล้วพูดว่าอย่าส่งเสียงดัง หลังจากนั้นจำเลยใช้กรรไกรเหน็บไว้ที่สะเอวแล้วดึงผ้าขาวม้ามารัดคอผู้เสียหายเพื่อพยายามข่มขืน (การใช้กำลังประทุษร้ายเกิดขึ้นหลังจากบุกรุกสำเร็จแล้ว) เนื่องจากความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายจะต้องเป็นกรณีที่ใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่น การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายแล้ว จึงได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ถือเป็นการบุกรุกที่มีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อจะเข้าไปใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (1) (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3515/2563)
ความผิดฐานยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขต มาตรา 363
ผู้ใดยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตที่ดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 363 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตที่ดิน หรือสิ่งอื่นใดที่ตั้งไว้เป็นเครื่องหมายแสดงเขตที่ดินหรือที่ดินทำเลซึ่งผู้อื่นเป็นผู้ครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน มาตรา 364
ผู้ใดเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 364 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ความผิดฐานบุกรุกโดยมีเหตุฉกรรจ์ มาตรา 365
หากบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธ ร่วมกันกระทำผิด หรือในเวลากลางคืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 365 กำหนดไว้ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
- โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
- โดยมีอาวุธ
- โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
- โดยกระทำในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 366
ผู้ใดก็ตามที่พยายามกระทำการตามมาตรา 362 หรือมาตรา 364 แต่ไม่สำเร็จ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 366 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดก็ตามที่พยายามกระทำการตามมาตรา 362 หรือมาตรา 364 แต่ไม่สำเร็จ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
อ่านบทความ, คำปรึกษาจริง, กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่อง "บุกรุก" ได้ที่นี่ !
ความผิดฐานบุกรุกต่างๆ
ความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 362
ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานบุกรุก ได้แก่ (1) ความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 362 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139
ทั้งนี้ คำว่า อสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 บัญญัติไว้ว่า “อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย”
อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "บุกรุก" พร้อมคำตอบจากทนายความผู้เชี่ยวชาญ
Q: เป็นพนักงานส่งของเดินเข้ามาส่งของให้ลูกค้าในบ้าน เค้าขู่ฟ้องบุกรุก
Q: แบบนี้มีความผิดฐานบุกรุกมั้ยคะ
บุกรุกที่ดินต้องฟ้องภายในกี่เดือน
บุกรุกที่ดินต้องฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
บุกรุกที่ดิน ต้องฟ้องภายในกี่เดือน ความผิดฐานบุกรุกที่ดินผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 เป็นความผิดอันยอมความได้ เจ้าของที่ดินต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือฟ้องคดีบุกรุกภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ ตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน
ผู้ใดเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน ตามมาตรา 364 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไป จากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
เคหสถานตามมาตรา 1 ประมวลกฎหมายอาญา
คำว่า “เคหสถาน” ตามมาตรา 1 ประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือหรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึง บริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม สนามหญ้าหน้าบ้านพัก ถือว่าเป็น เคหสถาน เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2539 ตีความไว้ว่า สถานที่เกิดเหตุแม้จะเป็นสนามหญ้าตลอดติดต่อเป็นผืนเดียวไม่มีรั้วล้อมรอบไม่มีเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสนามหญ้านั้นอยู่หน้าบ้านพักซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายถือได้ว่าเป็นเคหสถานของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา1(4) ส่งยเรือหรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย ถือว่าเป็นเคหสถานเช่นกัน
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่เกี่ยวกับการบุกรุก
การสูบน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาในเวลากลางคืน ถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และบุกรุกอสังหาริมทรัพย์
คดีบุกรุก ที่ศาลมีคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2566 จำเลยนำเครื่องสูบน้ำเข้ามาแอบสูบน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาที่ผู้เสียหายทั้งสองยังคงครอบครองทำประโยชน์อยู่ตามสัญญาเช่า และยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาในเวลากลางคืน แม้จำเลยจะสูบไปเพื่อรดหญ้า เพื่อให้เป็นอาหารแก่โคที่จำเลยเลี้ยงอยู่บนที่ดินติดกับบ่อเลี้ยงปลานั้น ย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (1) และเป็นความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ในความเห็นของทนายคิดว่า การที่บุคคลดังกล่าวเข้ามาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น หรือเข้าไปกระทำการใด เพื่อรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข เมื่อการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 กำหนดไว้ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๖๒ (บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ตามมาตรา 362) ได้กระทำในเวลากลางคืน ผู้กระทำมีความผิดฐานบุกรุกโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3)
ความผิดฐานบุกรุกในยามวิกาล
ความผิดฐานบุกรุกในยามวิกาลคือการบุกรุกในเวลากลางคืน
ความผิดฐานบุกรุกในยามวิกาล ในทางกฎหมายคือความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน ซึ่งคำว่า “กลางคืน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(11) หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
ตัวอย่างคดีบุกรุกในเวลากลางคืน
ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าห้องพักของผู้เสียหาย มีการกั้นผนังด้วยอิฐบล็อกและมีช่องประตูทางเข้ากั้นไว้เป็นสัดส่วน บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ใช้สอยของผู้เสียหาย บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะเข้าไปใช้สอยได้ ที่เกิดเหตุถือได้ว่าเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (4) การที่จำเลยกับพวกเข้าไปรุมชกต่อย เตะผู้เสียหายที่บริเวณหน้าห้องพักของผู้เสียหาย ถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืนตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2550)
กรณีที่ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน
ในกรณีที่ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน ยกตัวอย่างเช่น จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่ดินพิพาทในเวลากลางวัน แม้พืชผลที่จำเลยปลูกจะอยู่ในที่ดินพิพาททั้งกลางวันและกลางคืนตลอดมา ก็เป็นเพียงผลของการกระทำคือการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(3) ไม่ได้ (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2546)
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



