representative (1).png
เผยแพร่เมื่อ: 2024-03-11

ตัวการตัวแทน คืออะไร?

ตัวการหรือตัวแทนนั้นในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับประมวลกฎหมายอาญา มีความต่างกันอยู่ หากเป็นในประมวลกฎหมายอาญาคือการที่มีบุคคลร่วมกันกระทำผิดมากกว่า 2คนขึ้นไป และทั้งหมดจะถูกเรียกว่า “ตัวการ” แต่สำหรับบทความนี้เราจะพูดถึง “ตัวการ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กันครับ บางครั้งในการนิติกรรมใดๆ ผู้ทำอาจไม่สะดวกเสมอไป ทางกฎหมายจึงมี “ตัวแทน” ขึ้นมาเพื่อกระทำการแทนให้ครับ สำหรับบทความนี้ Legardy จะพาผู้อ่านทุกท่านมารู้จักกับ “ตัวการ ตัวแทน” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กันครับ


representative.png

ตัวแทน หมายถึงอะไร?   

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 797

สัญญาตัวแทน คือ สัญญาที่บุคคลหนึ่ง(ตัวแทน) ได้รับมอบหมายหรือมีอำนาจทำการแทนอีกบุคคลหนึ่ง(ตัวการ) ให้มีอำนาจกระทำการดังกล่าวแทนตัวการโดยมีข้อตกลงว่าจะกระทำการแทนในเรื่องที่ตกลงกันไว้

ลักษณะของตัวแทน

1.สัญญาตัวแทนเกิดจากความตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่าย คือ ตัวการและตัวแทน โดยทั้งสองฝ่ายต้องมีเจตนาตรงกันก่อนที่จะเข้าทำสัญญาตัวแทน
2.ตัวแทนมีอำนาจทำการแทนตัวการ ตัวแทนมีความสามารถในการทำนิติกรรมหรือตัวแทนสามารถกระทำการทางกฎหมายใดๆแทนตัวการ เช่น การซื้อขาย การทำสัญญา การรับชำระหนี้ เป็นต้น
3.การกระทำของตัวแทนนั้นต้องอยู่ภายในขอบเขตอำนาจที่ตัวการมอบหมายให้ ซึ่งจะมีผลผูกพันต่อตัวการเสมือนว่าตัวการนั้นเป็นผู้กระทำการนั้นด้วยตนเอง
4.การทำสัญญาตัวแทนนั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เว้นแต่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนอาจทำได้โดยแสดงเจตนาอย่างชัดเจน เช่น การทำหนังสือมอบอำนาจ


การแต่งตั้งตัวแทนสามารถทำได้ 2 วิธี

1.แต่งตั้งตัวแทนโดยแสดงออกชัดแจ้ง  

การที่ตัวการแสดงเจตนาที่จะมอบอำนาจในการทำนิติกรรมต่างๆให้ตัวแทนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางวาจา การทำเป็นหนังสือ หรือการกระทำอื่นใดก็ตามที่ส่อให้เห็นถึงเจตนาของตัวการอย่างไม่คลุมเครือ

รูปแบบการแต่งตั้งตัวแทนโดยแสดงออกชัดแจ้ง

-การทำเป็นหนังสือมอบอำนาจ

เป็นวิธีที่ใช้กันบ่อยที่สุดในการแต่งตั้งตัวแทน โดยตัวการจะทำหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ตัวแทน เพราะเป็นลายลักษณ์อักษรหากเกิดข้อพิพาทขึ้น ก็สามารถโต้แย้งได้

-การแสดงเจตนาด้วยวาจา

การแต่งตั้งตัวแทนนั้นสามารถทำด้วยวาจาได้เช่นกัน แต่การแต่งตั้งด้วยวาจานั้นมีความไม่แน่นอนและยากต่อการพิสูจน์หากเกิดข้อพิพาทขึ้นในภายหลัง

-การแสดงฉันทะ

การที่บุคคลหนึ่ง (ตัวการ) ยอมรับและให้สัตยาบันย้อนหลัง ต่อการกระทำของบุคคลอื่น (ตัวแทน) ที่กระทำไปในนามของตัวการ โดยที่ในขณะกระทำการนั้น ตัวแทนไม่ได้รับมอบอำนาจจากตัวการมาก่อน หรืออาจได้รับมอบอำนาจแต่กระทำการเกินขอบเขตอำนาจที่ได้รับ

2.แต่งตั้งตัวแทนโดยปริยาย

คือการที่บุคคลหนึ่งกระทำการหรือแสดงออกในรูปแบบที่ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้โดยสมควรว่า มีการแต่งตั้งตัวแทนขึ้น การกระทำของตัวแทนโดนปริยายนั้น จะมีผลผูกพันเสมือนว่าตัวการกระทำการนั้นด้วยตนเอง

โดยมีหลักการพิจารณาการตั้งตัวแทนโดยปริยายดังนี้

1.ตัวการต้องมีพฤติการณ์หรือคำพูดที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า บุคคลนั้นมีอำนาจกระทำการแทนตน
2.บุคคลภายนอกต้องเข้าใจได้โดยสมควรว่า ตัวแทนนั้นมีอำนาจในการทำการแทน
3.บุคคลภายนอก ต้องเชื่อโดยสุจริตใจว่าตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนตัวแทน

แต่ถ้าตัวแทนกระทำการนอกเหนือขอบเขตอำนาจ ตัวการสามารถโต้แย้งการกระทำได้เช่นกันครับ

 

 


ตัวการ คืออะไร?

ตัวการ คือ บุคคลที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นในการกระทำการใดๆแทนตนเอง โดยการกระทำของตัวแทนนั้นจะมีผลผูกพันเปรียบเสมือนว่าตัวการเป็นคนกระทำการสิ่งนั้นด้วยตนเอง

หลักการสำคัญเกี่ยวกับตัวการ

1.ตัวการต้องมอบอำนาจอย่างชัดแจ้ง หรือโดยปริยาย
2.ตัวการจะต้องรับผิดในหนี้ที่ตัวแทนได้กระทำไปภายในอำนาจขอบเขต

ยกตัวอย่างเช่น

-บริษัท A(ตัวการ) มอบอำนาจให้ทนายความ(ตัวแทน)ไปทำสัญญาเช่าอาคารแทนบริษัท ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจะถือเป็นตัวแทน จึงมีอำนาจในการไปทำสัญญาเช่าอาคารในนามของบริษัท A

-นางสาวB มอบอำนาจให้นางC ไปรับชำระหนี้แทนตน นางCในฐานะตัวแทนจึงมีอำนาจไปรับชำระหนี้ในนามของนางสาวB

ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !


Untitled design - 2024-08-08T184635.643.png

สัญญาตัวแทน สิ้นสุดเมื่อใด

อำนาจของตัวแทนในการทำหน้าที่แทนตัวการนั้นสามารถสิ้นสุดได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และ 826 ดังนี้

1.การบอกเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญา

ตัวการและตัวแทนสามารถเลิกสัญญาตัวแทนได้ทุกเมื่อ ต่อให้ไม่ถึงกำหนดระยะเวลาตตามที่ตกลงกันไว้ก็ตาม
โดยการที่เลิกสัญญานั้นต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการเลิกสัญญา แต่หากการเลิกสัญญาตัวแทนก่อนกำหนดนั้นทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น

2.กรณีที่มีผู้เสียชีวิต ล้มละลาย หรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือตัวแทน

สัญญาตัวแทนย่อมสิ้นสุดโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เว้นแต่จะมีข้อตกลงในสัญญาตัวแทนที่ขัดแย้งกับหลักการนี้ หรือลักษณะของกิจการที่มอบหมายไม่สามารถกระทำโดยทายาทหรือผู้จัดการมรดกได้

3.สัญญาตัวแทนสิ้นสุดตามที่กำหนดไว้ในสัญญาตัวแทน

หากสัญญาตัวแทนมีการกำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สัญญาตัวแทนย่อมสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ หากไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญา ตัวการหรือตัวแทนสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ

4.เหตุอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

  • การบรรลุวัตถุประสงค์ของการมอบหมาย 
  • การเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้

การสิ้นสุดของสัญญาตัวแทนอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอกที่ได้ทำนิติกรรมกับตัวแทน ดังนั้น ตัวการควรแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบถึงการสิ้นสุดอำนาจของตัวแทนโดยเร็วครับ


นายหน้า คืออะไร?

นายหน้าในทางกฎหมายหมายถึงบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน เพื่อให้เกิดการทำธุรกรรมการซื้อขายหรือการทำสัญญาอื่น ๆ ระหว่างสองฝ่าย โดยมีหน้าที่เจรจาต่อรองในการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งนายหน้ามีบทบาทเพียงแค่เป็นตัวเชื่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้นไม่ได้เป็นคู่สัญญากันแต่อย่างใด และการแต่งตั้งนายหน้านั้นไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเฉพาะเจาะจง

ลักษณะสำคัญของการเป็น "นายหน้า"

  • เป็นคนกลางระหว่างคู่สัญญา
  • นายหน้ามีหน้าที่เพียงชี้ช่องทางหรือการจัดการให้มีการทำสัญญาเกิดขึ้น ไม่ได้มีอำนาจในการทำสัญญาด้วยตนเอง
  • นายหน้าไม่มีอำนาจในการรับเงินหรือกับชำระหนี้แทนคู่สัญญา
  • นายหน้าจะได้รับค่า คอมมิชชั่น ก็ต่อเมื่อการทำสัญญานั้นเสร็จสิ้นตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น
  • หากนายหน้าไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่น สามารถเรียกร้องค่านายหน้าได้ โดยมีอายุความ 10ปี

ฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1435/2563 (ตัวการตัวแทน)

การที่จำเลยอนุมัติให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ธ. เป็นบริษัทย่อยของจำเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัท ธ. รับงานก่อสร้างของจำเลย และให้พนักงานของจำเลยไปร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คของบริษัท ธ. เพื่อตรวจสอบการสั่งซื้อสินค้าของบริษัท ธ. ย่อมเอื้ออำนวยในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อจำเลยเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยว่าจ้างบริษัท ธ. ดำเนินการก่อสร้างโครงการคอนโด ล. และ ช. ของจำเลยและบริษัท ธ. สั่งซื้อสินค้าประเภทพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารชุดโครงการดังกล่าวของจำเลยที่บริษัท ธ. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ย่อมเป็นเรื่องปกติแห่งวิถีทางธุรกิจที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ธ. เป็นบริษัทย่อยของจำเลย เพื่อให้บริษัท ธ. รับงานก่อสร้างของจำเลย อันถือได้ว่าบริษัท ธ. เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคสอง ในการก่อนิติสัมพันธ์กับโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกที่ได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนของจำเลย จำเลยในฐานะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันบริษัท ธ. ในฐานะตัวแทนได้ทำไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2540 (นายหน้า)

โจทก์ไม่ใช่นายหน้าของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 และ 846 เพราะจำเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าโดยตรงหรือโดยปริยาย การที่โจทก์ตกลงกับ พ. เพื่อช่วยเสนอขายที่ดินและรับส่วนแบ่งค่านายหน้าเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ พ. เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่านายหน้าจากจำเลยได้


สรุป

การมีตัวการตัวแทนนั้นช่วยให้การทำธุรกรรมหรือดำเนินการต่างๆมีความสะดวกมากยิ่งขึ้นแต่ทั้งนี้หากตัวแทนทำอะไรภายในขอบเขตที่ตัวการมอบหมายไว้ ถือว่าการกระทำนั้นมีผลผูกพันกับตัวการโดยตรง เหมือนตัวการเป็นคนทำเองนะครับ หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ

cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.