Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 797 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 797” คืออะไร? 


“มาตรา 797” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 797 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดังนั้น
              อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "สัญญาตัวแทน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "สัญญาตัวแทน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 797” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 797 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1435/2563
การที่จำเลยอนุมัติให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ธ. เป็นบริษัทย่อยของจำเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัท ธ. รับงานก่อสร้างของจำเลย และให้พนักงานของจำเลยไปร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คของบริษัท ธ. เพื่อตรวจสอบการสั่งซื้อสินค้าของบริษัท ธ. ย่อมเอื้ออำนวยในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อจำเลยเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยว่าจ้างบริษัท ธ. ดำเนินการก่อสร้างโครงการคอนโด ล. และ ช. ของจำเลยและบริษัท ธ. สั่งซื้อสินค้าประเภทพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารชุดโครงการดังกล่าวของจำเลยที่บริษัท ธ. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ย่อมเป็นเรื่องปกติแห่งวิถีทางธุรกิจที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ธ. เป็นบริษัทย่อยของจำเลย เพื่อให้บริษัท ธ. รับงานก่อสร้างของจำเลย อันถือได้ว่าบริษัท ธ. เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง ในการก่อนิติสัมพันธ์กับโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกที่ได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนของจำเลย จำเลยในฐานะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันบริษัท ธ. ในฐานะตัวแทนได้ทำไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 820
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 797, ม. 820


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2561
การก่อให้เกิดสัญญาต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย พยานโจทก์ปาก ธ. และ ณ. ต่างเบิกความว่า พนักงานของจำเลย สาขาปทุมธานี แจ้งแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่า หากไม่โอนเล่มทะเบียนต้องมีคนค้ำประกัน และหากจะให้ได้รับอนุมัติอย่างแน่นอนต้องโอนเล่มทะเบียนไปเป็นชื่อของจำเลย และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ณ. เพิ่มเติมว่า พยานได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าจากพนักงานของจำเลยโดยตลอดว่ามีการอนุมัติสินเชื่อแล้วหรือยัง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยปาก ด. ว่า ฉ. ผู้จัดการกลุ่มดูแลลูกค้า และการจัดสัญญาในเขตปทุมธานีของจำเลยได้มาปรึกษาพยานเรื่องที่โจทก์ติดต่อขอสินเชื่อโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สามคัน ฉ. ได้แนะนำโจทก์ว่า ระหว่างที่รอการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นชื่อของจำเลยก่อน ต่อมาสำนักงานใหญ่ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่อนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ฉ. จึงแจ้งให้โจทก์ทราบและคืนเอกสารประกอบคำขอสินเชื่อเช่าซื้อ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถและเงินค่าโอนและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่รับคืนโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่า การอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ของจำเลย สำนักงานสาขาปทุมธานีของจำเลยไม่มีอำนาจอนุมัติและทำสัญญาเช่าซื้อแต่มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าแล้วส่งสัญญาที่ลูกค้าขอสินเชื่อให้สำนักงานใหญ่ของจำเลยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ปรากฏว่า ฉ. มีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อด้วยแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์ของ ฉ. ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่า ฉ. เป็นตัวแทนในการอนุมัติสินเชื่อของจำเลย การที่โจทก์ยื่นแบบคำขอสินเชื่อต่อจำเลย และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยไปก่อน ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายในการทำสัญญา เพราะสำนักงานใหญ่ของจำเลยยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อของโจทก์ จึงเป็นเพียงคำเสนอเท่านั้น สัญญาให้สินเชื่อเช่าซื้อให้โจทก์จึงยังไม่เกิด จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 354, ม. 797


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2559
โรงงานของจำเลยที่ 1 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปล่อยของเสีย ก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นต้นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นและโจทก์ที่ 5 กับพวกเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ครอบครองมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวอ้างและพิสูจน์ว่ามลพิษนั้นเกิดจากข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 96 (1) ถึง (3) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 กับพวก ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งการแสดงออกของบริษัทย่อมกระทำโดยทางกรรมการ ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทกับบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน กิจการใดอันเป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องกระทำย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการต้องกระทำการแทน จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่า การปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ในการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ แต่จำเลยที่ 2 กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 797, ม. 1144
พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ม. 96
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที