Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 466 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 466 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 466” คืออะไร? 


“มาตรา 466” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 466 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่ได้สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก
              อนึ่ง ถ้าขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาและใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจจะเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญานั้น “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "สัญญาซื้อขาย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "สัญญาซื้อขาย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 466” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 466 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7983/2561
สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาททั้งสิบระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 3.2 ระบุว่า ในกรณีที่อาคารชุดยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่ามีเนื้อที่ห้องชุดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากจำนวนที่ระบุในสัญญา คู่สัญญาตกลงคิดราคาห้องชุดตามส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามที่กำหนดในข้อ 3.1 และให้นำราคาห้องชุดส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงไปเพิ่มหรือลดลงจากราคาห้องชุดตามข้อ 3.1 และจำนวนเงินที่ต้องชำระตามข้อ 4.2 ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระบุไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ยกเว้นบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 466 ไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้ซื้อจะไม่ยกเรื่องเนื้อที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุในสัญญาตั้งแต่ร้อยละห้าขึ้นไปเป็นข้ออ้างบอกปัดไม่ยอมรับ ไม่ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวยกเว้นไม่ให้นำมาตรา 466 มาใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 466 ดังนั้น เมื่อเนื้อที่ห้องชุดพิพาททั้งสิบมีเนื้อที่มากไปกว่าที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะบอกปัดไม่รับเสียหรือจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 466 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2561
จำเลยเสนอขายห้องชุดในโครงการซึ่งก่อสร้างห้องชุดเสร็จแล้ว จำเลยในฐานะนิติบุคคลที่ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยย่อมทราบเนื้อที่ของห้องชุดและราคาซื้อขายเป็นข้อสำคัญ ผู้ซื้อย่อมต้องการรับโอนห้องชุดที่มีเนื้อที่ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือหากจะแตกต่างไปบ้างก็ไม่ควรขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนเกินสมควร ทั้งจำเลยสามารถคำนวณและตรวจสอบเนื้อที่ห้องชุดได้อยู่แล้ว ในขณะที่ผู้บริโภคเช่นโจทก์ทั้งสองไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย การที่จำเลยกำหนดสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อโดยไม่คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 จำเลยส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญา คิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่ยังคงให้โจทก์ทั้งสองรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วน ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของจำเลยเอง ทำให้โจทก์ทั้งสองต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดที่แท้จริงถึง 165,291 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้โจทก์ทั้งสองรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ทั้งสองคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4
เมื่อข้อสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย ที่กำหนดให้คู่สัญญายินยอมให้ใช้เนื้อที่ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นเนื้อที่ที่เช่าซื้อตามสัญญาฉบับนี้โดยไม่คิดราคาเพิ่มหรือลดต่อกันเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยจึงต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่อันแท้จริงและต้องคืนเงินในส่วนที่ส่งมอบเนื้อที่ห้องชุดขาดตกบกพร่องแก่โจทก์ทั้งสองด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 466
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15357/2558
โจทก์กำหนดในสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ให้คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินในการซื้อขายซึ่งนำมาใช้บังคับกับการเช่าซื้อ โจทก์ส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญาเช่าซื้อ 6.51 ตารางเมตรคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่โจทก์ก็ยังคงให้จำเลยรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วนได้ ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของโจทก์เอง จำเลยจะต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดถึง 162,000 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้จำเลยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ อีกทั้งโจทก์เป็นฝ่ายบกพร่องในการคำนวณเนื้อที่ห้องชุดและสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้อยู่ก่อนแล้วถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย จึงไม่อาจใช้บังคับได้
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่จริงจึงจะเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายได้หากโจทก์ไม่ปรับลดราคาห้องชุด จำเลยก็มีสิทธิที่จะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายและถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อห้องชุด เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ไม่มีผลบังคับ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่รับเอาห้องชุดที่โจทก์ส่งมอบเนื้อที่ขาดจำนวนจากสัญญาเช่าซื้อเกินกว่าร้อยละ 5 การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์เป็นการใช้สิทธิบอกปัดโดยขอเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันซึ่งมิใช่เป็นการเลิกสัญญาด้วยความผิดของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อไว้ ผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วแก่จำเลย ส่วนจำเลยต้องส่งมอบห้องชุดคืนแก่โจทก์ และการที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ห้องชุดถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ จำเลยจึงต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตามมาตรา 391 วรรคสาม ในส่วนที่จำเลยขอให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าซื้อตามฟ้องแย้ง จึงต้องหักด้วยค่าใช้ทรัพย์ และโจทก์ชอบที่จะได้รับค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองห้องชุดของโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 391, ม. 466
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที