“มาตรา 204 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 204” คืออะไร?
“มาตรา 204” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 204 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 204” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 204 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2565
ในการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาในสัญญาและไม่ครบจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ โจทก์ก็ยอมรับชำระไว้ทุกครั้งโดยไม่ได้ทักท้วง พฤติการณ์ย่อมแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาในสัญญาเป็นสาระสำคัญ กรณีจึงถือว่าเป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน และจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเตือนให้ชำระหนี้ก่อน แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 และวันที่ 1 เมษายน 2562 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือในวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 และต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2562 ซึ่งภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับไว้เองในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 กรณีจึงถือได้ว่า เป็นการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203, ม. 204, ม. 686
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2564
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวทวงถามและมีหนังสือบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือหักทอนทางบัญชีกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 30 กันยายน 2554 หลังจากนั้นไม่มีการเบิกถอนเงินอีก แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ ไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันอีก สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโดยปริยาย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยที่ 1 ได้อีก จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อโจทก์ทวงถาม โดยโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต่อโจทก์ ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ครั้งสุดท้ายวันที่ 20 ธันวาคม 2559 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระงวดถัดไป ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จึงเป็นการบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิด สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 204 วรรคแรก, ม. 686, ม. 856
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2564
การที่จะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 204 ซึ่งหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือ ให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 แต่วันที่สัญญาเลิกกัน ก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้คงเหลือ โดยต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดลงวันที่ 10 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203, ม. 204, ม. 686, ม. 856