คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72

ผู้ตายเมาสุรามากกลับมาบ้าน ผู้ตายเอะอะหาเรื่องจำเลยหลายเรื่อง และกล่าวหาว่าจำเลยเอามีดของผู้ตายไปซ่อน ผู้ตายบอกให้จำเลยออกจากบ้านมิเช่นนั้นจะสับให้เป็นชิ้น แล้วใช้มีดดังกล่าวไล่ฟันจำเลยก่อน จำเลยวิ่งไป บ้านน้องผู้ตายซึ่งอยู่ใกล้กัน มีผู้ตายถือมีดวิ่งติดตามไป จำเลยต้องหลบหนีออกไปซ่อนตัวข้างต้นมะขามในทุ่งนา ผู้ตายหาจำเลยไม่พบจึงกลับบ้าน ปิดบ้านล็อกกุญแจนอน ต่อมาจำเลยกลับบ้าน แอบมองทางรอยแตกเห็นผู้ตายหลบอยู่ จึงใช้ลูกกุญแจไขเปิดประตูหน้าบ้านเข้าไป แล้วจำเลยใช้มีดฟันผู้ตายด้วยความโมโหที่ถูกผู้ตายวิ่งไล่ทำร้ายอยู่เป็นประจำการที่ผู้ตายใช้มีดไล่ฟันจำเลย นับว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะเป็นภริยาผู้ตาย ผู้ตายก็หามีสิทธิที่จะกระทำแก่จำเลยเช่นนั้นไม่ ดังนี้ เมื่อจำเลยเกิดความโกรธ คือบันดาลโทสะ และจำเลยกระทำแก่ผู้ตายในทันทีเมื่อกลับมาถึงบ้านและพบผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาห่างจากถูกข่มเหงเพียง 2 ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงเศษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยต้องหลบหนีจากการที่ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงจนถึงกับต้องไปแอบซ่อนตัวอยู่ในป่าละเมาะ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการข่มเหงยังอยู่ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ จึงตกอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ว่าจำเลยกระทำผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น การกระทำของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386

จำเลยก่อสร้างอาคารชุดให้มีจำนวนชั้นเพิ่มขึ้นจาก 27 ชั้น เป็น 30 ชั้น แม้โจทก์มิได้ซื้อห้องชุดสูงสุด แต่สิทธิของโจทก์ย่อมถูกกระทบจากการที่มีห้องชุดเพิ่มขึ้นและมีผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้ร่วมใช้ทรัพย์สิน ส่วนกลางของอาคารชุดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้โจทก์ขาดความสะดวกสบายในการใช้ทรัพย์สินส่วนกลาง สำหรับผนังกั้นห้องภายในซึ่งก่อสร้างโดยใช้วัสดุแผ่นยิปซัมย่อมไม่แข็งแรงคงทนถาวรเทียบเท่าผนังก่ออิฐฉาบปูนตามที่ระบุในสัญญานอกจากนั้นอาคารชุดดังกล่าวไม่มีเสารองรับน้ำหนักภายในตัวอาคาร แต่ใช้แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปประกอบขึ้นแทนเสาตามแบบแปลน อาจทำให้อาคารไม่มีความมั่นคงแข็งแรงและย่อมกระทบถึงห้องชุดพิพาทที่โจทก์ซื้อเพราะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารด้วยและตามเอกสารแนบท้าย SPECIFICATIONของอาคารหรือรายละเอียดของโครงการ ซึ่งสัญญาจะซื้อขายอาคารชุดพิพาทข้อ 1(ก) ให้ถือว่าเอกสารแนบท้ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วยระบุว่า โครงการจะมีหน่วยจัดการควบคุมดูแลและรักษาความปลอดภัย สโมสรพักผ่อนหย่อนใจ สวน และลานระเบียง จำเลยจึงมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามย่อมทำให้อาคารชุดมีสภาพไม่น่าอยู่ขาดความปลอดภัย ความสะดวกสบายและความสวยงามการไม่ปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยข้างต้นล้วนเป็นการผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญทั้งสิ้น ชอบที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้

ตามข้อสัญญาโจทก์ต้องบอกกล่าวแก่จำเลยล่วงหน้า 3 เดือนก่อนที่บอกเลิกสัญญาเฉพาะในกรณีที่จำเลยก่อสร้างอาคารชุดไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อจำเลยก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ผิดจากแบบแปลนและข้อสัญญา โจทก์หาจำต้องบอกกล่าว เลิกสัญญาล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1032

โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาเข้าร่วมทุนเป็นหุ้นส่วนกันในการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญเพื่อดำเนินกิจการเปิด ร้านอาหารโดยมีวัตถุประสงค์หาผลกำไรแบ่งกัน ซึ่งในการร่วมทุนกันนั้นโจทก์เป็นผู้ลงหุ้นเป็นเงิน ส่วนจำเลยลงหุ้น เป็นแรงงาน เมื่อตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของร้านอาหารเพียงผู้เดียวซึ่งถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในการตกลงเข้าหุ้นทำกิจการร่วมกันในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด ข้อสัญญาดังกล่าวนี้จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่โจทก์หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งจะยินยอมด้วย การที่จำเลยปิด ร้านอาหารแล้วเปิดดำเนินกิจการใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการร้านอาหารนั้น ก็หมายความว่าจำเลยเป็นผู้เข้ารับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินในการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายในการดำเนินกิจการของร้านอาหารทั้งหมดแทนโจทก์ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่ทำกันไว้โดยที่โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย เป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1032 การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1981

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1981/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34 (1)

โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบแก่จำเลย จึงต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ ทั้ง ๆ ที่มิได้วางบิลเรียกเก็บเงินก่อนเท่ากับเป็นการยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าระหว่างโจทก์และจำเลย ตลอดจนมีผลเป็นการยกเลิกการให้ สินเชื่อทั้งปวงแก่จำเลยด้วย กรณีฟังได้ว่าโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 เกิน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2536 แก่จำเลย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 220, 224

คดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ไม่ว่าฎีกาของโจทก์จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวทั้งสิ้น

บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224ตอนแรกระบุให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกา แต่ข้อความถัดไปก็ระบุให้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นและมีบทบังคับชัดเจนว่าให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาดังนั้น แม้คำขอท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งจะระบุขอให้ส่งไปยังศาลอุทธรณ์ด้วยเหตุผิดหลงใด ๆ ก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาพิจารณาจึงจะเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951 - 1953/2543

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามวินัยและมาตรการลงโทษของจำเลยระบุว่า การฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับที่จำเลยถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนนั้นมีอยู่ 5 ข้อ ส่วนการนำสุราหรือเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมายทุกชนิด เข้ามาในสถานที่ทำการของจำเลยหรือบริเวณโรงงาน หรือดื่มสุราหรือเครื่องดองขอเมาในสถานที่ดังกล่าวหรือในเวลาทำงาน หรือยาเสพติดให้โทษอันเป็นของต้องห้ามตามกฎหมาย หรือเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวในสภาพที่มึนเมาหรือปฏิบัติงานในสภาพที่มึนเมานั้นได้ระบุไว้ว่า พนักงานผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับของจำเลยเท่านั้น หาได้เป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรงไม่ ดังนี้การที่โจทก์ดื่มเบียร์ที่นอกโรงงานในขณะที่เป็นเวลาพักเที่ยงเพียง 1 ขวด ไม่มีการมึนเมาขณะไปปฏิบัติงาน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง

เมื่อจำเลยมีระเบียบวินัยและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่ากรณีใดบ้างที่พนักงานกระทำผิดถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับหรือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบวินัยและข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรง จึงต้องถือปฏิบัติไปตามนั้น ส่วนการที่ระเบียบดังกล่าวระบุว่าจำเลยสงวนสิทธิในการพิจารณาเพิ่มโทษหรือลดโทษจากที่กำหนดตามความเหมาะสมหรือความร้ายแรงของการกระทำผิดโดยให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวนั้น ต้องถือว่าเป็นกรณีสงวนสิทธิในการพิจารณาเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงแก่ผู้ที่กระทำผิดระเบียบวินัยและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเท่านั้น มิใช่การสงวนสิทธิที่จะพิจารณาว่าการกระทำผิดใดร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงนอกเหนือหรือแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1350

เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ต้องถือเคร่งครัดว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 เท่านั้น แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 จะเคยเป็นที่แปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ของจำเลยมาก่อนก็ตาม จะถือโดยอนุโลมว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ด้วยไม่ได้ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโฉนดหมายเลข 23574 ออกไปสู่ถนนสาธารณะได้โจทก์ทั้งสี่คงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะภายในบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 เท่านั้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1963

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1963/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186 (9) พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 116

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานขายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย กล้องและกรวยเสพวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวจึงมิใช่เครื่องมือและอุปกรณ์หรือภาชนะหรือหีบห่อที่บรรจุที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 หรือเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษดังที่บัญญัติไว้ มาตรา 33 (1) แห่ง ป.อ. เช่นเดียวกัน จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 17, 118

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างจึงอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง

จำเลยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างก่อนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2541 อันเป็นวันจ่ายค่าจ้าง ตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยอาจกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่เมื่อจำเลยแสดงเจตนาในหนังสือเลิกจ้างกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 กันยายน 2541 ก็ย่อมทำได้ และถือว่าการเลิกจ้างมีผลในวันดังกล่าวตามเจตนาของจำเลยแล้วตามมาตรา 118 วรรคสองแต่จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จนถึงวันที่ 30กันยายน 2541 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคสองและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่

เมื่อการเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 โจทก์ซึ่งเข้าทำงานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ทำงานถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2541 รวมอายุงานได้ 2 ปี 11 เดือน 27 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1956

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1956/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/33, 193/34

กำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(5)ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 193/34(1) ต้องคำนึงถึงสถานะภาพของฝ่ายลูกหนี้เป็นสำคัญ คือหากลูกหนี้เป็นผู้อุปโภคหรือบริโภคเองแล้ว สิทธิเรียกร้องที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้มีกำหนดอายุความสองปี แต่ถ้าลูกหนี้ได้ใช้ ประกอบธุรกิจของลูกหนี้ต่อไปอีกต่อหนึ่งแล้ว สิทธิเรียกร้องดังกล่าว มีกำหนดอายุความห้าปี เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ซื้อแผ่นพลาสติก จากโจทก์เพื่อใช้เอง แต่ได้ใช้ประกอบกิจการค้าของจำเลยทั้งสอง เพื่อแสวงหากำไรต่อไปอีกทอดหนึ่ง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมี อายุความห้าปี

« »
ติดต่อเราทาง LINE