คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 7
มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม และคดีถึงที่สุดไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกให้ จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีกคดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1754/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 9 วรรคสอง, 237, 1300, 1733 วรรคสอง
โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย คงฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ทายาท ขอให้กำจัดทายาทมิให้รับมรดกเนื่องจากปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินมรดกที่กระทำโดยมิชอบเพื่อโอนที่ดินกลับมาเป็นของเจ้ามรดกตามเดิม กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความ 5 ปี มาใช้บังคับแก่คดีได้
ในการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เพื่อให้ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นถือเสมือนกับการลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโฉนดส่วนหนึ่งเนื่องจากได้ซื้อไว้จาก ส. นานแล้ว ไม่ใช่รับโอนที่ดินมาในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นสามีของ ส. เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์จึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 161, 307 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ม. 14
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์แทนการขายทอดตลาดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ในระหว่างการไต่สวน จำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงว่าจะประวิงการบังคับคดี จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนต่อไปอีก และมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาในเนื้อหาของคำร้องแล้วว่าไม่มีเหตุที่จะอนุญาตตามคำร้องของจำเลยคำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรานี้จำเลยย่อมอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างใดแล้ว คำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542มาตรา 14
ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 374, 881
สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยกับ ว. ผู้เอาประกันภัยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกแยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับ ว. แม้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเนื่องจาก ว. ผิดสัญญาและโจทก์ได้ยึดรถยนต์คืนไป ก็มีผลเฉพาะสัญญาเช่าซื้อ ส่วนสัญญาประกันภัยเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือข้อกำหนดในสัญญาระบุให้สัญญาสิ้นสุดลงจึงมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงชำระหนี้ได้
โจทก์ตกลงกับวัด ท. ให้ทางวัดจัดที่จอดรถให้ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนต่อคัน แม้โจทก์ไม่มีพนักงานของตนไปเฝ้ารักษารถ แต่ทางวัด ท. จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเพื่อทราบว่ามีรถยนต์มาจอดกี่คันจะได้เก็บค่าตอบแทนถูกต้อง ถือว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังพอสมควรโดยไม่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และโจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหลังจากทราบว่ารถยนต์หายไปเพียง 1 วัน กับแจ้งให้จำเลยทราบในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา ถือว่าได้มีการแจ้งโดยไม่ชักช้าแล้วไม่เป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง,76 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยด้วย เป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีความผิด ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการ รับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2543
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 34 (3)
ข้อตกลงให้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการอันเป็นกรณีพิพาทนี้เป็นข้อบังคับของสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศ ตามข้อบังคับดังกล่าวจะต้องมีการแจ้งชื่อของอนุญาโตตุลาการ วิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนกำหนดวันเวลาและสถานที่พิจารณาให้คู่กรณีทราบ สำหรับผู้คัดค้านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกประเทศอังกฤษ และไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนในกรุงลอนดอนต้องมีการส่งคู่ฉบับของหนังสือแจ้ง เอกสาร หรือหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานของผู้คัดค้านด้วยผู้คัดค้านได้รับแจ้งเพียงว่าได้มีการเสนอข้อพิพาทรายนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้วเท่านั้นส่วนหนังสือที่มีการแจ้งรายละเอียดครบถ้วนตามข้อบังคับไม่สามารถส่งให้ผู้คัดค้านทางโทรสารได้ และไม่ปรากฏว่ามีการส่งหนังสือฉบับนี้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้คัดค้านด้วย แม้จ.กรรมการบริหารสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศจะบันทึกรับรองไว้ในหนังสือฉบับนี้ด้วยว่าได้ส่งทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วหรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการแจ้งให้ผู้คัดค้านซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการศาลจึงมีอำนาจที่จะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ พ.ศ. 2530 มาตรา 34(3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2543
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 67
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 2531 ทั้งได้โฆษณาและนำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในประเทศมาเลเซียและประเทศอื่น โจทก์จึงเป็นผู้ที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยรับโอนและขอจดทะเบียนใหม่ ดังนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ ก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2543
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ม. 47
การที่โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องขอให้ระงับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นและขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยที่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ทั้งตามฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (4), 223, 247, 293 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ม. 11
จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีโดยแนบสำเนาคำฟ้องของศาลชั้นต้นตามที่จำเลยอ้างเป็นเหตุขอให้งดการบังคับคดีมาท้ายคำร้อง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรให้งดการบังคับคดี ก็มีอำนาจยกคำร้องโดยไม่ต้องทำการไต่สวนก่อน อันเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเรื่องการ งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสาม ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 และ มีผลใช้บังคับก่อนเวลาที่จำเลยยื่นฎีกา บัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้น ตามมาตรา 293 นี้เป็นที่สุด จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 334, 335 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 1, ตาราง 5
เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้เพื่อเป็นการปลดเปลื้องไม่ให้ลูกหนี้ต้องได้รับความเสียหายกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ และเมื่อวางทรัพย์แล้วย่อมหลุดพ้นจากหนี้ โดยลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ต่อไปอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 334 และ 335 แสดงว่า ลูกหนี้เท่านั้นมีสิทธิถอนทรัพย์ที่วางได้เมื่อจำเลยที่ 2 วางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ในอีกคดีหนึ่งและไม่ใช้สิทธิถอนทรัพย์เจ้าหนี้ในคดีอื่นจะยึดหรืออายัดเงินที่จำเลยที่ 2 วางเพื่อไปชำระหนี้รายอื่นไม่ได้และเมื่อการอายัดต้องห้ามตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดเงินแล้วไม่มีการจำหน่าย จึงเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้
คำร้องอ้างว่าการอายัดไม่ชอบและขอให้ถอนการอายัด เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้