คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223 ทวิ

ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ส่งสำนวนเสนอศาลฎีกาถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้แต่โจทก์ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกามาพร้อมคำแก้อุทธรณ์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ส่งอุทธรณ์ของจำเลยต่อศาลฎีกา และให้ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของจำเลยใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776 - 1777/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 171 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 39, 49, 54

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทุจริตต่อหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ศาลแรงงานได้กำหนดให้คู่ความนำพยานเข้าสืบตามคำฟ้องและคำให้การ แม้ศาลแรงงานจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ และเสียหายเพียงใด แต่หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดีศาลแรงงานเห็นว่ากรณีที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมทั้งกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49

โจทก์ที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1อันเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยยังไม่สมควรลงโทษเลิกจ้าง แต่จำเลยที่ 1กลับลงโทษเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บันทึกบัตรลงเวลาทำงานโดยยังไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ที่ 1 ไม่บันทึกบัตรลงเวลาทำงานเป็นการประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะได้รับประโยชน์ในค่าจ้างหรือเงินพิเศษต่าง ๆ และได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏในสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 จะได้รับค่าจ้างและเงินพิเศษต่าง ๆ อะไร จำนวนเท่าใดและจำเลยที่ 1 จะพิจารณาให้ความดีความชอบอะไรแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งศาลแรงงานก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ข้อนี้เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดว่า หากสมาชิกกองทุนพ้นจากสมาชิกด้วยเหตุผลถูกไล่ออกหรือถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเนื่องจากประพฤติผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำผิด ส่วนโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ แต่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีไม่ร้ายแรง ดังนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 171 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติ ป.วิ.พ. เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2โดยไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทุจริตต่อหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1ศาลแรงงานได้กำหนดให้คู่ความนำพยานเข้าสืบตามคำฟ้องและคำให้การ แม้ศาลแรงงานจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ และเสียหายเพียงใด แต่หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดีศาลแรงงานเห็นว่ากรณีที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1ที่ 2 นั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49

โจทก์ที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 อันเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยยังไม่สมควรลงโทษเลิกจ้าง แต่จำเลยที่ 1 กลับลงโทษเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บันทึกบัตรลงเวลาทำงานโดยยังไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ที่ 1 ไม่บันทึกบัตรลงเวลาทำงานเป็นการประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะได้รับประโยชน์ในค่าจ้างหรือเงินพิเศษต่าง ๆ และได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏในสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 จะได้รับค่าจ้างและเงินพิเศษต่าง ๆ อะไร จำนวนเท่าใด และจำเลยที่ 1 จะพิจารณาให้ความดีความชอบอะไรแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งศาลแรงงานก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดว่า หากสมาชิกกองทุนพ้นจากสมาชิกด้วยเหตุผลถูกไล่ออกหรือถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเนื่องจากประพฤติผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำผิด ส่วนโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ แต่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีไม่ร้ายแรง ดังนี้ โจทก์ที่ 1ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 18 (5), 33

ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว และได้มีการพิสูจน์ความผิดต่อศาลในคดีนั้นแล้ว ทั้งการริบทรัพย์สินเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรงกรณีเพียงแต่กล่าวอ้างพาดพิงถึงว่าเงินสดของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งก่อน จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่ศาลจะริบทรัพย์สินนั้นได้เงินสดของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2)ที่ศาลจะพึงริบได้ในคดีนี้ ส่วนไฟแช็ก 1 อัน ของกลางเป็นอุปกรณ์ซึ่งมีไว้เพื่อให้ผู้ซื้อเมทแอมเฟตามีนใช้เสพโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40

จำเลยทั้งสามได้ขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยป่วยบ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งจะมาเบิกความเป็นพยานป่วยบ้าง ติดต่อกับพยานที่จะมาเบิกความไม่ได้บ้าง รวมแล้วจำเลยทั้งสามขอเลื่อนคดีและศาลชั้นต้นอนุญาตมาแล้วถึง 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายทนายจำเลยขอเลื่อนคดีโดยแถลงรับรองว่าในนัดหน้าจะนำพยานมาสืบให้ได้ หากถึงวันนัดไม่มีพยานมาศาลจำเลยทั้งสามไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีโดยได้กำชับทนายจำเลยว่า ถึงวันนัดหากไม่มีพยานมาสืบถือว่าจำเลยทั้งสามไม่ติดใจสืบพยาน แต่ทนายจำเลยก็ขอเลื่อนคดีอีกและไม่ปรากฏว่ามีพยานจำเลยมาศาลที่ทนายจำเลยกล่าวอ้างว่า พยานจำเลยมาศาลนั้นก็ไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการไม่นำพาต่อกำหนดนัดของศาล เป็นการประวิงคดี ประกอบกับในคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยป่วยท้องเสียกะทันหัน ไม่สามารถจะมาศาลได้ จึงขอเลื่อนการพิจารณาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยทั้งสามขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 5 ถึงแม้ทนายโจทก์ไม่ได้คัดค้านว่าทนายจำเลยไม่ป่วยจริงและปรากฏตามใบรับรองแพทย์ซึ่งยื่นในภายหลังตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลยทั้งสามว่าทนายจำเลยป่วย แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทนายจำเลยป่วยจริงซึ่งเป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่คำร้องขอเลื่อนคดีระบุเพียงว่า ขอเลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งในคำร้องว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะทำให้เสียความยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดีและมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 18, 32, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 13 ทวิ, 89, 116

ส. ได้ขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุ จนถึงเวลาเช้าของวันเกิดเหตุ และก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามรถยนต์กระบะไปบ้าน ส. เพื่อตรวจค้นและจับกุม ส. ก็ยังขับรถยนต์กระบะโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองได้นั่งอยู่ในรถยนต์กระบะกับ ส. หรือได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์กระบะแต่อย่างใด กลับได้ความว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปที่บ้านของ ส. พบจำเลยทั้งสองอยู่ที่บ้านของ ส. แต่ ส. ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะได้หลบหนีไปก่อนจะมีการตรวจค้นและจับกุม ดังนี้ จึงไม่อาจเป็นข้อบ่งชี้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่ค้นพบในรถกระบะของจำเลยเป็นของจำเลยทั้งสองแต่อาจเป็นของ ส. ก็เป็นได้ แม้โจทก์มีคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุม แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาและโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยทั้งสองจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง

ศาลจะสั่งริบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 ได้ต้องเป็นกรณีที่มีการลงโทษตามมาตรา 89 เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องจึงไม่อาจริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นความผิด ศาลริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32

ธนบัตรชนิดต่าง ๆ จำนวน 30,000 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งการริบทรัพย์สินเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18(5) จึงต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวและพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาลเสียก่อน เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง เพียงแต่กล่าวพาดพิงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้นจึงยังไม่เป็นการเพียงพอ ศาลไม่อาจริบเงิน30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 7

มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม และคดีถึงที่สุดไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกให้ จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีกคดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1754/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 9 วรรคสอง, 237, 1300, 1733 วรรคสอง

โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย คงฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ทายาท ขอให้กำจัดทายาทมิให้รับมรดกเนื่องจากปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินมรดกที่กระทำโดยมิชอบเพื่อโอนที่ดินกลับมาเป็นของเจ้ามรดกตามเดิม กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความ 5 ปี มาใช้บังคับแก่คดีได้

ในการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เพื่อให้ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นถือเสมือนกับการลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโฉนดส่วนหนึ่งเนื่องจากได้ซื้อไว้จาก ส. นานแล้ว ไม่ใช่รับโอนที่ดินมาในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นสามีของ ส. เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์จึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 161, 307 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ม. 14

จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์แทนการขายทอดตลาดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ในระหว่างการไต่สวน จำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงว่าจะประวิงการบังคับคดี จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนต่อไปอีก และมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาในเนื้อหาของคำร้องแล้วว่าไม่มีเหตุที่จะอนุญาตตามคำร้องของจำเลยคำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรานี้จำเลยย่อมอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างใดแล้ว คำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542มาตรา 14

ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 374, 881

สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยกับ ว. ผู้เอาประกันภัยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกแยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับ ว. แม้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเนื่องจาก ว. ผิดสัญญาและโจทก์ได้ยึดรถยนต์คืนไป ก็มีผลเฉพาะสัญญาเช่าซื้อ ส่วนสัญญาประกันภัยเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือข้อกำหนดในสัญญาระบุให้สัญญาสิ้นสุดลงจึงมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงชำระหนี้ได้

โจทก์ตกลงกับวัด ท. ให้ทางวัดจัดที่จอดรถให้ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนต่อคัน แม้โจทก์ไม่มีพนักงานของตนไปเฝ้ารักษารถ แต่ทางวัด ท. จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเพื่อทราบว่ามีรถยนต์มาจอดกี่คันจะได้เก็บค่าตอบแทนถูกต้อง ถือว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังพอสมควรโดยไม่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และโจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหลังจากทราบว่ารถยนต์หายไปเพียง 1 วัน กับแจ้งให้จำเลยทราบในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา ถือว่าได้มีการแจ้งโดยไม่ชักช้าแล้วไม่เป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

« »
ติดต่อเราทาง LINE