คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 581, 582 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง5ปีนับแต่วันที่26กุมภาพันธ์2516ตามสัญญาจ้างได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่าเมื่อจ้างกันครบกำหนด5ปีแล้วจำเลยจะจ้างโจทก์ต่ออีกคราวละ1ปีต่อเมื่อจำเลยได้พิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งและประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์เป็นที่พอใจแล้วเมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดจำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่ออีก1ปีโดยระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ว่าหากสิ้นสุดระยะเวลาว่าจ้างตามสัญญานี้แล้วและมิได้มีการแจ้งให้ท่านทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก็ให้ถือว่าการจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ต่อมาหลังจากสัญญาจ้างฉบับหลังสิ้นสุดลงแล้วจำเลยหาได้แจ้งแก่โจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะต่อสัญญาจ้างให้โจทก์อีกหรือไม่และจำเลยคงให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งเดิมและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตลอดมาการที่ตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเช่นโจทก์จะต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานและตรวจสุขภาพทุกปีก็เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในตำแหน่งและประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้นจึงหามีผลเป็นการต่อสัญญาจ้างเป็นรายปีไม่ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างฉบับหลังสิ้นสุดลงและจำเลยจ้างโจทก์ต่อมาจึงเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนแต่ยังคงไว้ซึ่งความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา581,582การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต่ออายุสัญญาจ้างให้โจทก์คราวละ5ปีตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ขอให้โจทก์แจ้งความประสงค์ภายในวันที่25กุมภาพันธ์2537หากพ้นกำหนดถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไปและจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์นั้นโดยจำเลยบอกกล่าวล่วงหน้าโดยให้ระยะเวลาถึง11เดือนแก่โจทก์ในการตัดสินใจและเป็นสัญญาจ้างใหม่ที่เป็นคุณกว่าเดิมทั้งเป็นผลสืบเนื่องจากการยื่นข้อเท็จจริงของสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันในหมู่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินด้วยกันและเป็นระเบียบเดียวกันแม้โจทก์จะไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานดังกล่าวและมิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องก็ตามแต่เมื่อโจทก์ไม่ยอมผูกพันตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวกรณีเช่นนี้จำเลยก็ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3317

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3317/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 วรรคสอง

คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยสั่งปิดกิจการภัตตาคารและสั่งห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับการเก็บรายได้จากภัตตาคารดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1เป็นผู้เก็บรายได้เองและไม่ยอมมอบเงินรายได้นั้นให้โจทก์ทั้ง ๆ ที่สัญญาระบุว่าให้โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรายได้นั้นทั้งหมด ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบการเก็บรายได้จากการประกอบกิจการภัตตาคารดังกล่าวให้โจทก์เข้าไปเป็นผู้เก็บรายได้นั้นต่อไปและใช้ค่าเสียหายอันเป็นรายได้จากการประกอบกิจการนั้นที่จำเลยที่ 1 เก็บไว้คืนให้โจทก์คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกโดยเรียกเอาค่าหลักประกันสัญญาค่าตกแต่งสถานที่ ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าวัตถุดิบคงเหลืออันเป็นทรัพย์สินของโจทก์คืนทั้งนี้ก็เพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งเลิกสัญญาแล้ว มิใช่เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาอย่างคดีแรก จึงเป็นคนละเรื่องกัน อีกทั้งในคดีแรกจำเลยที่ 2 มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแรก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 เด (1), 193/34 (1), 303, 308

การโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ2ลักษณะ1หมวด4นั้นเป็นการโอนสิทธิตามที่เป็นอยู่ตามสภาพเดิมให้แก่ผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทนมิได้มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิและโดยปกติลูกหนี้มีข้อต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมอย่างไรก็ยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นได้ซึ่งย่อมรวมทั้งข้อต่อสู้เรื่องอายุความด้วยโดยเหตุนี้อายุความที่ลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องใช้อายุความเดียวกับที่ลูกหนี้สามารถยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมได้เมื่อสิทธิเรียกร้องในคดีนี้เป็นค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของระหว่างจำเลยกับอ.ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจึงมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(1)(เดิม)หรือมาตรา193/34(1)(ใหม่)นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างแต่ละงวดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169(เดิม)หรือมาตรา193/12(ใหม่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 76, 226, 227, 427, 432

รถหุ้มเกราะของโจทก์ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำแต่สามารถกู้ขึ้นมาไว้บนถนนได้ โจทก์ไปขอความร่วมมือจากจำเลยที่ 3 ขอนำรถบรรทุกสิบล้อไปลากจูงรถหุ้มเกราะกลับที่ตั้ง โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นคนขับรถบรรทุกสินล้อวิธีการลากจูง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ลวดสลิงผูกกับส่วนหน้าของรถหุ้มเกราะแล้วนำไปผูกแขวนไว้กับท้ายรถบรรทุกสิบล้อให้ล้อหน้าของรถหุ้มเกราะลอยสูงขึ้นจากพื้นถนนแล้วให้รถบรรทุกสิบล้อลากจูงไป แม้ปรากฏว่าขณะลากจูงไปได้ไม่ไกล ลวดสลิงขาดและรถหุ้มเกราะเสียหลักล้ำไปทางขวามือเป็นเหตุให้ชนกับรถเก๋งที่แล่นสวนทางมารถเก๋งเสียหายหมดทั้งคันก็ตาม เมื่อการผูกล้อหน้าของรถหุ้มเกราะให้แขวนลอยอยู่ข้างท้ายรถบรรทุกสิบล้อจะช่วยให้กระชับมั่นสะดวกรวดเร็ว และง่ายแก่การลากจูง โดยไม่ต้องใช้คนขับบังคับรถหุ้มเกราะนอกจากนี้ยังปรากฏว่าไฮดรอลิกเสียทำให้ล้อหน้า 2 ล้อ ของรถหุ้มเกราะไม่หมุน จึงต้องลากจูงโดยให้ล้อหน้าลอยขึ้น เมื่อกรณีเป็นความจำเป็น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2และที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ลวดสลิงที่ใช้ประจำอยู่กับรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นรถวินที่ใช้สำหรับชักลากไม้ซุงที่มีน้ำหนักมาก โดยจำเลยที่ 4 ยืนยันต่อจำเลยที่ 2ใช้ลากจูงได้ ประกอบกับในบริเวณที่เกิดเหตุหากมืดค่ำแล้วอันตรายเคยมีผู้ก่อการร้ายลอบยิง หากไม่ลากรถหุ้มเกราะออกจากที่เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายอาจเข้าโจมตีเผารถหุ้มเกราะจะเสียหายแก่ทางราชการ ดังนี้ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1และที่ 2 จะเลือกปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้อง ลากจูงรถหุ้มเกราะไป ดีกว่าจะปล่อยไว้ที่นั่นให้เสี่ยงอันตรายและเสี่ยงต่อความบกพร่องในหน้าที่ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประมาทเลินเล่อในเหตุนี้ การลากจูงรถหุ้มเกราะในคดีนี้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น และจำเลยที่ 4 ได้ถูกเจ้าของรถเก๋งที่ถูกรถหุ้มเกราะ ชนฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 3 และโจทก์ฐานละเมิด ศาลพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4กับเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ และฟังว่าจำเลยที่ 3เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4ด้วย ดังนี้ แม้โจทก์ผู้เดียวชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของรถเก๋งไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อการจัดการผูกลวดสลิงเข้ากับรถหุ้มเกราะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลสั่งการและดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ แม้จะเป็นลวดสลิงเก่าและมีรอยชำรุดเป็นบางส่วนหรือเป็นลวดเส้นเล็กแต่ถ้าหากผูกหลายทบเจ้าด้วยกันก็เป็นลวดเส้นใหญ่และจะช่วยไม่ให้ขาดได้ และกรณีไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของโจทก์ไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ กรณีต้องถือว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226,227,432 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3263

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3263/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247,

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องอุทธรณ์และพิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จำเลยทั้งสองจึงฎีกาได้แต่เฉพาะว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองฎีกาในเนื้อหาแห่งคดีขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยฎีกาในเนื้อหาแห่งคดีไปทีเดียวได้ต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนพิจารณาเสียก่อน และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่ามิได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์นั้นเป็นฎีกาเกี่ยวกับคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386, 700

การที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้แต่ไม่ใช้สิทธิดังกล่าว หาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไม่ การที่โจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 28 เดือน โดยมิได้บอกเลิกสัญญา จึงมิใช่การผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 อันจักทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3243

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3243/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18, 55

หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่เป็นเอกสารที่โจทก์ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18

ม. ยอมรับสภาพหนี้และตกลงจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว เมื่อ ม. ถึงแก่กรรมลง มรดกของ ม. ซึ่งรวมทั้งสิทธิและหน้าที่ในอันที่ต้องชำระหนี้ต่อโจทก์ย่อมตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทที่จะต้องชำระหนี้ของ ม. ตามกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย เมื่อไม่ชำระโจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 149, 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

ข้อความในหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าระบุไว้ชัดเจนว่าส.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังจำเลยในฐานะที่ส.ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โจทก์ร่วมโดยขอให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกจากอาคารที่เช่าและส่งมอบอาคารที่เช่าคืนแก่โจทก์ร่วมทั้งส.ลงลายมือชื่อไว้ถูกต้องถึงแม้ส. จะระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคมและสถานที่ออกหนังสือที่สำนักสวัสดิการสังคมตลอดจนออกเลขที่หนังสือของหน่วยราชการดังกล่าวก็ตามก็ถือได้ว่าส. ได้บอกเลิกสัญญาเช่าตามที่โจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้กระทำแทนแล้วเมื่อจำเลยผู้เช่าได้รับหนังสือดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยและมีผลตามกฎหมายแล้วโจทก์ผู้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ การเคหะแห่งชาติและโจทก์ร่วมต่างเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิที่จะกระทำนิติกรรมใดๆอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้และสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างการเคหะแห่งชาติและโจทก์ร่วมได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนการที่การเคหะแห่งชาติซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทไปจากกรมประชาสงเคราะห์และต่อมาได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมแล้วโจทก์ร่วมทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินเพื่อนำไปทำสวนสาธารณะแม้จะเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐบาลสมัยที่มุ่งสงเคราะห์ที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยก็ตามแต่เมื่อนโยบายรัฐบาลย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยการที่รัฐบาลและโจทก์จะนำที่ดินไปทำสวนสาธารณะย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่สัญญาซื้อขายระหว่างการเคหะแห่งชาติกับโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้เช่าที่ดินพิพาทและโจทก์ร่วมเจ้าของที่ดินพิพาทฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและเรียกค่าเสียหายในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนมิใช่เป็นการฟ้องให้บังคับตามสัญญาเช่าโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้แม้ว่าการเช่าอาคารพิพาทระหว่างการเคหะแห่งชาติกับจำเลยที่1จะไม่มีสัญญาเช่าและไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1350 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าเดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่7836และ7838เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข1เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่1694ของจำเลยซึ่งจำเลยได้แบ่งแยกขายให้ผู้อื่นแล้วโอนต่อมาจนถึงโจทก์จำเลยได้ตกลงกับผู้ซื้อให้มีถนนยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ3เมตรเพื่อออกสู่ทางสาธารณะปรากฏตามแผนที่ทางพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข4ทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขอให้บังคับจำเลยให้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดเลขที่1694ทางด้านทิศใต้ซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์มีความกว้าง3เมตรยาวตลอดแนวที่ดินให้เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่7836และ7838ดังนี้เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์คำขอท้ายฟ้องภาพถ่ายโฉนดที่ดินเลขที่7836และ7838ของโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข1แผนที่ทางพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข4และภาพถ่ายโฉนดที่ดินเลขที่1694ของจำเลยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข2ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้วปรากฏว่าเมื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่1694ของจำเลยแล้วมีจำนวนทั้งหมด17แปลงและที่ดินโฉนดเลขที่7836และ7838ของโจทก์2แปลงถูกที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกดังกล่าวอีก15แปลงล้อมอยู่ทุกด้านคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่กล่าวอ้างว่าที่ดินของจำเลยที่แบ่งแยกเป็นเหตุให้ที่ดิน2แปลงซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะแล้วโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน2แปลงดังกล่าวย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยเปิดทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1350คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่าที่ดินโฉนดเลขที่1694ของจำเลยกว้าง3เมตรยาวตลอดแนวที่ดินเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่7836และ7838ของโจทก์หรือไม่ ที่ดินของโจทก์เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินของจำเลยต่อมาเมื่อจำเลยแบ่งแยกขายที่ดิน2แปลงของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะดังนั้นการที่จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่1694ออกเป็นที่ดินแปลงย่อยรวมทั้งที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินอันเป็นทางจำเป็นบนที่ดินโฉนดเลขที่1694ของจำเลยซึ่งอยู่ติดทางสาธารณะเพื่อออกสู่ทางสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1350 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1350บัญญัติให้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นโดยผลของกฎหมายโจทก์มีสิทธิแต่เพียงให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้เท่านั้นโดยจำเลยไม่จำต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 วรรคแรก

เมื่อจำเลยออกมาพบเด็กหญิงม. อายุ13ปีเศษที่ปากซอยนั้นจิตใจของเด็กหญิงม. กำลังอยู่ในภาวะว้าวุ้นสับสนจะกลับบ้านตามคำสั่งของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาก็ไม่อยากกลับเพราะกลัวจะถูกทำโทษครั้นจะไปที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนจึงบอกให้จำเลยพาไปที่ใดก็ได้สุดแล้วแต่ใจของจำเลยหากจำเลยไม่พาเด็กหญิงม.ไปเด็กหญิงม. อาจจะกลับไปบ้านก็ได้อีกทั้งเมื่อโจทก์ร่วมออกมาดูเห็นจำเลยพาเด็กหญิงม. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปดังนั้นหากจำเลยไม่พาเด็กหญิงม. ไปโจทก์ร่วมก็ต้องออกมาพบเด็กหญิงม. และพาเด็กหญิงม.กลับบ้านการที่จำเลยพาเด็กหญิงม. ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนของจำเลยจึงเป็นการพรากเด็กหญิงม. ไปเสียจากอำนาจปกครองของบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคแรก

« »
ติดต่อเราทาง LINE