คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148, 173, 296 จัตวา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 296จัตวา(3)ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้หากไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในแปดวันนับแต่วันปิดประกาศให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นไม่ได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามผู้นั้นมิให้ฟ้องร้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในภายหลังว่าที่ดินนั้นเป็นตนและเมื่อมิได้ร้องเข้ามาในคดีก็ย่อมมิได้อยู่ในฐานะคู่ความในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันในผลแห่งคดีที่จะต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยเรื่องฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 171, 185, 220 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 4
ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงมีคำสั่งให้งดไต่สวนมูลฟ้องและวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแม้คดีนี้จะเป็นการพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตามคดีก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499มาตรา4ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา220
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113 เดิม, 173, 174 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2477 ม. 14 (2) พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 ม. 41 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ม. 86
ตามสัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายข้อ2มีว่าจ.ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าว่าจ้างเป็นค่าทนายตอบแทนแก่โจทก์ผู้รับจ้างเป็นเงินทั้งสิ้น6,000,000บาทแต่เนื่องจากจ. ยากจนไม่มีเงินชำระให้แก่โจทก์ได้จึงประสงค์ขอยกที่ดินพิพาทตามสัญญาว่าจ้างทนายข้อ1ชำระแทนโดยขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำนวน40ส่วนของที่ดินและตึกแถวทั้งหมดและหากได้เงินจากคดีดังกล่าวมาเป็นจำนวนเท่าใดจ. ขอแบ่งส่วนได้ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ40เช่นเดียวกันอีกด้วยซึ่งที่ดินที่จะแบ่งให้ตามสัญญาข้อ1เป็นที่ดินที่จ. จะได้มาจากการฟ้องร้องคดีจึงเป็นข้อสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีทำสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่จ. ลูกความเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2508มาตรา41ประกอบพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2477มาตรา12(2)ซึ่งใช้บังคับในขณะทำสัญญาจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113เดิมที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญาแม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2528ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2508แล้วและตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทเฉพาะกาลมาตรา86กำหนดให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความมาตรา53ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยที่ข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดเรื่องค่าจ้างว่าความไว้ก็ตามก็ไม่ทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่เป็นโมฆะมาแต่แรกแล้วกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้ สัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายมีนิติกรรมเพียงอย่างเดียวคือให้นำที่ดินสิ่งปลูกสร้างและเงินจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทที่จะได้จากการชนะคดีจำนวนร้อยละ40มาแบ่งให้แก่โจทก์เป็นค่าจ้างว่าความซึ่งเป็นโมฆะและไม่มีนิติกรรมส่วนอื่นที่ไม่เป็นโมฆะที่จะแยกออกมาจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา173ที่แก้ไขใหม่การที่กองมรดกของจ. ได้รับเงินจากการขายทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทหลังจากพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ.2528ใช้บังคับแล้วหาใช่เป็นนิติกรรมที่ใช้ได้แยกออกต่างหากจากสัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายซึ่งเป็นโมฆะไม่และกรณีไม่เข้าลักษณะที่เป็นนิติกรรมอย่างอื่นที่ไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา174ที่แก้ไขใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 118 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 238, 243 (ก (3)
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลอุทธรณ์ต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนเว้นแต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายเมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค2วินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2870/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 288
แม้จำเลยกับผู้เสียหายจะเป็นญาติพี่น้องกันสาเหตุแห่งการทำร้ายเกิดจากจำเลยโกรธที่ผู้เสียหายว่ากล่าวตักเตือนให้จำเลยเลิกดื่มสุราจำเลยได้ลอบเข้าไปแทงผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนหลับจำเลยเลือกแทงที่ท้องของผู้เสียหายอย่างแรงบาดแผลลึกถึง4นิ้วทะลุลำไส้เล็กตัดเส้นโลหิตใหญ่ฉีกขาดถึงแม้จำเลยจะมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแต่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลว่าอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ย่อมถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา59วรรคสองและการที่จำเลยไม่แทงซ้ำอีกทั้งๆที่มีโอกาสจะทำได้ก็ไม่ทำให้ความผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปเพราะเจตนาโดยเล็งเห็นผลนั้นมุ่งถึงลักษณะแห่งการกระทำและผลของการกระทำที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลักมิได้มุ่งถึงเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145 วรรคหนึ่ง
ในคดีที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้ร้องนั้นศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382คำพิพากษาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคหนึ่งเมื่อคู่ความแถลงรับว่าที่ดินพิพาทในคดีนี้และคดีก่อนเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและมีจำนวนเนื้อที่ประมาณ2ไร่เท่ากันดังนั้นผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ2ไร่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 683/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์โดยการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยทั้งสามให้การว่าไม่ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์เฉพาะจำเลยที่3ฟ้องแย้งว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่3เป็นคดีนี้ทำให้จำเลยที่3ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังหมดความเชื่อถือในการประกอบอาชีพขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นเรื่องที่จำเลยที่3กล่าวหาว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่3เป็นคดีนี้ทำให้จำเลยที่3ได้รับความเสียหายดังนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่3อาศัยเหตุต่างกันจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 326, 328 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 15, 22 (5)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา326,328,83ต่อศาลแขวงโดยบรรยายฟ้องแยกเป็น3ข้อแต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและการกระทำของจำเลยไม่เหมือนกันแต่ละกรรมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองจึงเป็นความผิดหลายกรรมมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทที่ศาลจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา328ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90เมื่อปรากฏว่าความผิดฟ้องข้อ1เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา326ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา15ประกอบด้วยมาตรา22(5)ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา326ตามฟ้องข้อ1นี้ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วมีคำสั่งไปตามรูปคดีแม้ว่าความผิดตามฟ้องข้อ2และข้อ3จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา328ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน200,000บาทเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 176, 185
บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา176ที่ว่าถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องให้ศาลพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยานนั้นมิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไปถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา185โดยเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคสามกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่5ปีขึ้นไปศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจึงพิพากษาคดีเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคสามดังนี้จำเลยจึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายขอให้จำเลยพากลับบ้านโดยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยออกไปแต่จำเลยไม่พาผู้เสียหายกลับบ้านแต่พาไปที่บ้านเพื่อนจำเลยที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านดังกล่าวหลายวันและจำเลยได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายเต็มใจไปกับจำเลยหากผู้เสียหายไม่เต็มใจไปกับจำเลยผู้เสียหายก็มีโอกาสจะขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นได้เพราะก่อนที่จำเลยจะพาผู้เสียหายไปที่อำเภอสามพรานจำเลยยังแวะบ้านเพื่อนจำเลยที่หนองแขมก่อนและปรากฎว่าบ้านที่อำเภอสามพรานที่ผู้เสียหายพักอยู่กับจำเลยนั้นมีคนอื่นอยู่ร่วมด้วยผู้เสียหายก็มิได้ขอความช่วยเหลือแต่เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าขณะที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนั้นจำเลยมีความประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหายดังนั้นการที่จำเลยพาผู้เสียหายซึ่งมีอายุ14ปีเศษจากกรุงเทพมหานครไปอำเภอสามพราน และได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน15ปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจารโดยปราศจากเหตุอันสมควรจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391
โจทก์สั่งจองซื้อรถยนต์จากจำเลยไว้ 1 คัน ในราคา2,370,000 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท หลังจากสั่งจองแล้วจำเลยไม่ติดต่อให้โจทก์ไปรับรถ โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยบอกเลิกการจองซื้อรถและขอรับเงินมัดจำคืน แม้ใบสั่งจองรถยนต์จะมิได้กำหนดเวลาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองไว้ แต่การสั่งจองได้ระบุยี่ห้อ แบบ และรุ่นของรถยนต์ไว้ ตามปกติผู้ที่ซื้อรถยนต์ใหม่ก็ต้องมีความประสงค์จะได้รถยนต์รุ่นใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งก็เป็นที่คาดกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่าจะต้องส่งมอบรถยนต์ที่จองไว้ในเวลาอันสมควร ไม่ล่าช้ามากเกินไป นับจากวันที่โจทก์สั่งจองซื้อรถยนต์จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการจองและขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำเป็นเวลา 5 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ ทั้งหลังจากนั้นจำเลยก็ยังเพิกเฉย หาได้เสนอที่จะชำระหนี้โดยส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์แต่อย่างใดไม่ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจองรถยนต์ที่โจทก์จำเลยทำไว้จึงไม่มีผลผูกพันต่อไป โจทก์และจำเลยต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง