คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

คำเบิกความของผู้เสียหายที่อ้างว่าจำหน้าจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายที่ข่มขืนกระทำชำเราตนเป็นคนที่สองได้ขัดกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าผู้เสียหายแจ้งว่าจำหน้าคนที่ข่มขืนไม่ได้และไม่รู้จักชื่อส่วนที่ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้องนั้นก็เพราะผู้บังคับบัญชาของจำเลยนำจำเลยออกมาให้ผู้เสียหายชี้ตัวเพียงคนเดียวเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลพยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 158 (6), 176, 192, 208 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 11, 73 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 31 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ม. 38, 54 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27, 27 ทวิ

แม้ตามคำฟ้องโจทก์ได้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ ข้อแรก จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำไม้มะค่าโมง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ในเขตป่าขุนซ่องโดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตัดฟันเป็นท่อน ๆ รวม2 ท่อน วัดปริมาตรได้ 3.48 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ข้อสอง จำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินบุกรุกเข้าไปทำไม้ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เข้าไปทำไม้มะค่าโมงจำนวน 2 ต้นทำลายต้นไม้ในป่าขุนซ่องอันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ ก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาในการกระทำผิดว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิดในวันที่24 กุมภาพันธ์ 2538 เวลากลางวัน โดยไม่ได้ระบุว่าการกระทำผิดฐานใดกระทำในวันเวลาใดให้ชัดแจ้ง การบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดในคราวเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำคนละคราวอันจะเป็นความผิดหลายกรรม โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานร่วมกันลักลอบนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางอันเป็นของผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอาการที่ต้องเสียสำหรับของนั้นอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27,27 ทวิ แสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียวเพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดคนละฐาน ดังนี้ ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งห้าในทั้งสองฐานความผิดย่อมไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้า เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ และหากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้งโจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคำให้การของจำเลยทั้งห้าใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4642

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4642/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 859, 860 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94 (1)

ข้อตกลงขอเปิดบัญชีเดินสะพัดระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เป็นข้อตกลงที่ให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันโดยไม่มีกำหนดเวลา และลูกหนี้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2524 และมีการนำเงินเข้าออกสะพัดทางบัญชีกันตลอดมา แต่หลังจากวันที่ 5 ตุลาคม 2525 แล้ว ลูกหนี้ไม่เคยนำเงินเข้าบัญชีหรือถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีกเลยคงมีแต่รายการคิดคำนวณดอกเบี้ยตลอดมา ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันต่อไป และเจ้าหนี้ได้หักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ปรากฎว่าลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้อยู่เพียง 9,499.74 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน พฤติการณ์ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2525เป็นต้นไป แต่เจ้าหนี้เพิ่งมายื่นคำขอรับชำระหนี้ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 เกินกว่า 10 ปี เป็นหนี้ที่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 18, 420, 797 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 117 วรรคสอง

คำว่าโตเกียวออฟติคอล ที่จำเลยนำมาใช้จดทะเบียนเป็นชื่อทางการค้าและโจทก์ขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่1ใช้ชื่อนี้ตามที่จำเลยที่1จดทะเบียนไว้และให้เพิกถอนการจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่1นี้เป็นชื่อของบริษัทโตเกียวอ๊อพติคอลจำกัดที่ประเทศญี่ปุ่น บริษัทนี้จดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนบริษัทประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่พ.ศ.2497มีกิจการค้าอยู่ในต่างประเทศหลายแห่งเช่นที่ประเทศสิงคโปร์ เมืองฮ่องกงและไต้หวัน สถานการค้าในต่างประเทศล้วนใช้ชื่อบริษัทที่่ประเทศญี่ปุ่น บางแห่งมีชื่อเมืองที่ตั้งอยู่นั้นต่อท้ายด้วยเช่นบริษัทโตเกียวอ๊อพติคอล(ฮ่องกง) จำกัดต่อมาบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดสถานการค้าในประเทศไทยโดยใช้ชื่อบริษัทเช่นเดียวกับชื่อบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นและมีคำว่า(ประเทศไทย)ต่อท้ายแล้วนำไปขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำเลยที่1ตามคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดทั้งได้ขอใช้ชื่อนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษอ่านว่าโตเกียวอ๊อพติคอล(ไทยแลนด์)คัมปะนีลิมิเต็ด โดยมีผู้เริ่มก่อการเป็นชาวญี่ปุ่น 3คนคือจำเลยที่2ถึงที่4ชาวไทย4คนคือจำเลยที่5ถึงที่8หลังจากจำเลยที่1ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดแล้วจำเลยที่1ประกอบกิจการค้าจำพวกแว่นตาและโฆษณาชื่อบริษัทนี้ในทางการค้าตลอดมาการค้าของบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจำเลยที่1เป็นบริษัทในเครือได้ประกอบกิจการมาตั้งแต่พ.ศ.2497ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่าบริษัทโตเกียวอ๊อพติคอล จำกัดเมื่อวันที่7พฤศจิกายน2526หลายปีการที่จำเลยที่1นำเอาชื่อบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทยก็เพราะจำเลยที่1เป็นเครือเดียวกับบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งการจดทะเบียนที่ประเทศไทยมีคำว่า(ประเทศไทย)ต่อท้ายจึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่1จงใจลอกเลียนชื่อบริษัทของโจทก์แล้วนำมาจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่1จำเลยที่1ได้จดทะเบียนคำว่าบริษัทโตเกียวอ๊อพติคอล(ประเทศไทย จำกัดโดยสุจริตจำเลยที่1ย่อมมีสิทธิในการที่จะใช้ชื่อบริษัทนี้โดยชอบโจทก์จะขอให้สั่งห้ามจำเลยที่1ใช้ชื่อบริษัทดังกล่าวและเพิกถอนการจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่1ไม่ได้การกระทำของจำเลยที่1จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์โดยเอาชื่อบริษัทโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วมาใช้เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่1 จำเลยที่1ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นให้มีอำนาจฟ้องร้องผู้ลอกเลียนชื่อบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นได้จำเลยที่1จึงมี2ฐานะหากจำเลยที่1จะฟ้องแย้งในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจำเลยที่่1ต้องฟ้องแย้งในนามบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นผู้เป็นตัวการแต่เมื่อบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้จำเลยที่1จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องแย้งแทนบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นได้ โจทก์ใช้ชื่อโตเกียวออฟติคอล ประกอบกิจการค้าแว่นตาก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหลายปีต่อมาได้นำชื่อทางการค้านี้ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่7พฤศจิกายน2526ก่อนที่จำเลยที่1จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่18มีนาคม2535ประมาณ9ปีการที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นชื่อบริษัทโจทก์เพราะโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่ามีชื่อบริษัทนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นหลังจากโจทก์จดทะเบียนชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นชื่อบริษัทโจทก์แล้วโจทก์ก็ประกอบกิจการค้าแว่นตาต่อจากที่ทำอยู่เดิมตลอดมาทั้งทำการโฆษณาแพร่หลายเป็นที่รู้จักในทางการค้าแก่บุคคลทั่วไปนับตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเป็นเวลาเกือบ10ปีการใช้ชื่อบริษัทของโจทก์เป็นการกระทำโดยสุจริตเช่นเดียวกับจำเลยที่1โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ชื่อบริษัทดังกล่าวได้โดยชอบจำเลยที่1จึงไม่่อาจขอให้สั่งห้ามโจทก์ใช้ชื่อโตเกียวออพติคอล เป็นชื่อบริษัทโจทก์และเรียกค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องแย้งจากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1405 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 177, 249 วรรคสอง

โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านพิพาทได้ให้ส. มีสิทธิอาศัยในบ้านพิพาทตลอดชีวิตแต่ส. ได้ย้ายไปพักรักษาตัวอยู่กับบุตรสาวส่วนจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากับบุตรของส.โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันและมีบุตรด้วยกัน2คนส.ยอมให้จำเลยและบุตรอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทได้จำเลยจึงมีฐานะเป็นบุตรสะใภ้ของส. ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีฐานะเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของส. ผู้มีสิทธิอาศัยในบ้านพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1405แล้วแม้ต่อมาส. จะไปรักษาตัวอยู่กับบุตรสาวและไม่ได้อยู่ในบ้านพิพาทก็ตามแต่ส. ก็ยังมิได้สละสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาทยังคงมีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาทได้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของส.จึงมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ปัญหาว่าคำให้การของจำเลยก่อให้เกิดประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ได้ จำเลยให้การตอสู้คดีว่าเป็นบริวารของส. และได้เข้าอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทโดยได้รับความยินยอมจากส.คำให้การของจำเลยเท่ากับเป็นการยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของส. มีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทด้วยได้ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของส. จึงไม่เกินเลยไปจากคำให้การของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1336, 1623

พระครูน.ผู้มรณภาพมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารรวม 2 บัญชีบัญชีแรกเป็นมูลนิธิวัดต.ของวัดโจทก์ ผู้มีสิทธิถอนเงินได้แก่ผู้มรณภาพร่วมกับกรรมการวัดอีก 2 คน ส่วนอีกบัญชีฝากในนามส่วนตัวผู้มรณภาพเป็นผู้ลงนามถอนเงินได้เอง เงินที่ยกให้นี้ถอนจากบัญชีเงินฝากส่วนตัว เมื่อเป็นเงินส่วนตัวของผู้มรณภาพผู้มรณภาพย่อมจะยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ เมื่อพระครูน.ผู้มรณภาพได้ยกเงินจำนวนตามฟ้องให้แก่จำเลยโดยเสน่หา กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของจำเลยนับแต่วันรับการยกให้ เงินจำนวนนี้ไม่ใช่ของผู้มรณภาพอีกต่อไปจึงไม่เป็นมรดกตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแม้จำเลยจะมิได้ออกเงินช่วยค่าพยาบาลรักษาผู้มรณภาพ โจทก์ก็ฟ้องเรียกเงินคืนไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2540

ประมวลรัษฎากร

การที่โจทก์ซื้อสิทธิเรียกร้องจากลูกค้าด้วยเงินสดโดยรับโอนสิทธิเรียกร้องจากลูกค้าและให้ลูกค้าค้ำประกันการเรียกเก็บเงินตามสิทธิเรียกร้องนั้นเมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนจากลูกหนี้ไม่ได้ลูกค้าโจทก์ยังต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์เท่าจำนวนที่ยังเรียกเก็บไม่ได้และในการรับซื้อสิทธิเรียกร้องโจทก์รับซื้อในราคาต่ำกว่าราคาสิทธิเรียกร้องกิจการของโจทก์จึงเป็นกิจการให้กู้ยืมเงินโดยส่วนต่างของราคาสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ได้รับก็คือดอกเบี้ยนั่นเองกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หาใช่เข้าลักษณะเป็นการรับจัดธุรกิจให้ผู้อื่นตามประเภทการค้า1นายหน้าและตัวแทนไม่โจทก์จึงมีหน้าที่ชำระภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท12ธนาคาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4641

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4641/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 55, 145, 223 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 113, 114

ผู้รับโอนเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วย การที่ศาลชั้นต้นก้าวล่วงไปมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ผู้รับโอนซื้อมาจากจำเลย แทนที่จะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านไปดำเนินการสั่งเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 113, 114 คำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันผู้รับโอนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 เมื่อคำสั่งนั้นไม่ผูกพันผู้รับโอน ผู้รับโอนจึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อมาจากจำเลยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55 ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 1608 วรรคท้าย, 1706 (3), 1713, 1727

เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมได้กำหนดให้จัดการทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายโดยให้ผู้จัดการมรดกบริจาคทรัพย์สินให้แก่องค์การกุศลใด ๆ ตามแต่ผู้จัดการมรดกจะเห็นสมควรเป็นการชัดแจ้งและทราบได้แน่นอนแล้วว่าต้องมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้เฉพาะเพื่อองค์การกุศลเท่านั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1706(3) และเมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่องค์การกุศลจึงต้องถือว่าผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1608 วรรคท้ายผู้คัดค้านทั้งสองย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1727 หรือร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2540

ประมวลรัษฎากร ม. 71 (1)

เมื่อโจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน150วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา69แห่งประมวลรัษฎากรและการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา23ชอบแล้วเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีโจทก์ตามมาตรา24หรือมาตรา71(1)แล้วแต่กรณีโดยถือตามแนวทางปฎิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ป.5/2527ลงวันที่20พฤศจิกายน2527ข้อ3แม้คำสั่งดังกล่าวจะมิใช่กฎหมายแต่ก็เป็นแนวทางปฎิบัติสำหรับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา71(1)สำหรับกรณีของโจทก์ปรากฎว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี2533โจทก์ไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเนื่องจากขาดทุนเจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีเงินได้ตามมาตรา71(1)ซึ่งได้ภาษีมากกว่าตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

« »
ติดต่อเราทาง LINE