คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186 (9), 218 วรรคหนึ่ง, 221 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ม. 10 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499
การริบทรัพย์ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 10และ ป.อ.มาตรา 33 (1) เป็นดุลพินิจของศาลจะริบหรือไม่ก็ได้ เมื่อโต๊ะสนุกเกอร์ลูกสนุกเกอร์ และไม้คิวของกลางคดีนี้มิใช่มีไว้เฉพาะการเล่นการพนันสนุกเกอร์โดยตรง แต่อาจจะนำไปใช้ในการเล่นซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในทางอื่นได้ เช่นการกีฬา หรือเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ จึงยังไม่สมควรริบ
การทำคำพิพากษาในคดีของศาลแขวงนั้นไม่จำต้องมีรายการครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ.มาตรา 186 แต่ประการใด เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงได้ทำคำพิพากษาโดยได้บันทึกคำพิพากษาเป็นหนังสือไว้พอได้ใจความแล้ว ก็เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 21 แล้ว
ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนกันมาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงปรับ 1,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฎีกาของโจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาล อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว อัยการสูงสุดมีหนังสือลงลายมือชื่อรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะในส่วนที่ศาลไม่ริบของกลางเท่านั้น มิได้รับรองให้ฎีกาในปัญหาเรื่องดุลพินิจในการลงโทษดังกล่าวนี้ด้วยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในปัญหานี้มาด้วยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3415/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 76, 223, 249 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 16, 18, 25, 29 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295
ได้มีการส่งต้นฉบับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินไปยังบ้านหรือภูมิสำเนาของโจทก์แล้วโดยไม่มีการส่งเอกสารดังกล่าวไปยังบ้านบุคคลอื่น และกรณีเป็นเพียงเขียนชื่อถนนผิดพลาดไปเท่านั้น ดังนี้ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2533 แล้ว โดยไม่จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 มาพิจารณาประกอบ ฉะนั้นที่โจทก์ที่ 1ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับการรับฟังเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 นั้นไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาแล้วเปลี่ยนแปลงไปได้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จึงพ้น 60 วันซึ่งเป็นกำหนดเวลาการใช้สิทธิอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประโยชน์ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนอันเป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งตามกฎหมายเท่านั้น หาใช่บุคคลผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนกล่าวคือ มิใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้เช่าทรัพย์สิน หรือผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินในที่ต้องเวนคืน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 18 โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 16 วรรคสอง,29 โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าทดแทนโดยลำพังตนเองได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว และโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 3 และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 77/1 (5),
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (5), (13) และ (14)ผู้ประกอบการซึ่งถือว่าเป็นผู้ส่งออกและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 นั้นหมายความถึงบุคคลที่ขายสินค้าซึ่งส่งออกนอกราชอาณาจักร เพื่อส่งไปต่างประเทศเมื่อปรากฏว่า ก่อนที่จะส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร ผู้ซื้อในต่างประเทศเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตในนามของโจทก์ โจทก์เป็นผู้ออกใบแจ้งหนี้ให้แก่ผู้ซื้อในต่าง-ประเทศ ผู้ซื้อในต่างประเทศชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่เปิดไว้กับธนาคาร ใบกำกับสินค้าและใบตราส่งก็ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ส่งออกโดยโรงงานที่ขายสินค้าให้แก่โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้ซื้อในต่างประเทศ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นบุคคลที่ขายสินค้าซึ่งส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ ถือว่าโจทก์เป็นผู้ส่งออกซึ่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 การที่ใบขนสินค้าขาออกมิได้จัดทำในนามของโจทก์ แต่จัดทำในนามของโรงงานที่ขายสินค้าให้แก่โจทก์ หรือแม้โจทก์จะมิได้มีหนังสือแต่งตั้งให้โรงงานดังกล่าวจัดทำใบขนสินค้าขาออกแทนโจทก์ ก็ไม่ทำให้โจทก์ไม่ใช่ผู้ส่งออก เพราะการจะเป็นผู้ส่งออกหรือไม่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว เมื่อโจทก์เป็นผู้ส่งออกตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังวินิจฉัยมา โรงงานดังกล่าวก็หาใช่ผู้ส่งออกไม่ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 สำหรับการขายสินค้าคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376 - 3377/2540
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
โจทก์เป็นพนักงานฝ่ายผลิต ทำงานกะกลางวันประจำแท่นผลิตเอราวัณ เมื่อเลิกงานแล้วจะพักอยู่ที่แท่นพักอาศัย จำเลยให้โจทก์ไปทำงานที่แท่นผลิตจูเลียสเป็นการชั่วคราว เมื่อเลิกงานแล้วจำเลยให้โจทก์นอนพักอยู่บนเรือเจาะก๊าซซึ่งจำเลยจัดให้มีที่พักอาศัย และในระหว่าง 18 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนนั้นจำเลยอาจสั่งให้โจทก์ขึ้นมาปฏิบัติงานปิดเปิดวาล์วโดยจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามความเป็นจริง การที่จำเลยให้โจทก์นอนพักบนเรือเจาะก๊าซก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานกะกลางวันในวันรุ่งขึ้นและสภาพไม่ต่างไปจากแท่นพักอาศัยเดิม มิใช่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ปลุกโจทก์ขึ้นมาปฏิบัติงานปิดเปิดวาล์วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 218 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
พฤติการณ์ของพยานที่ยินยอมออกจากบ้านไปกับจำเลยในยามค่ำมืดล่วงเลยกำหนดเวลาที่บุคคลทั่วไปจะรับประทานขนมโดยยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทุกประการไม่ว่าจำเลยจะสั่งให้ขับรถจักรยานยนต์ไปในทิศทางใดและจอดหยุดรอณที่ใดแม้จะให้นำรถจักรยานยนต์ไปซ่อนไว้ในคูข้างถนนและเฝ้ารถจักรยานยนต์ไว้ขณะที่จำเลยกับพวกนำถึงปุ๋ยเข้าไปในโรงเรียนที่เกิดเหตุพยานก็ยินยอมปฏิบัติตามโดยดีอีกทั้งไม่ได้แสดงอาการตื่นเต้นตกใจเมื่อไฟไหม้โรงเรียนแต่กลับขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยกับพวกไปส่งยังสถานที่ซึ่งจำเลยซ่อนรถจักรยานยนต์ของตนไว้ทั้งๆที่ทราบดีว่าจำเลยกับพวกวางเพลิงพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลผู้ถูกหลอกลวงให้เดินทางไปกับคนร้ายและพบการกระทำความผิดที่ร้ายแรงเพราะโดยสัญชาตญาณของผู้ที่ประสบเหตุร้ายแรงดังกล่าวและในฐานะที่เป็นชาวมุสลิมเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในละแวกที่เกิดเหตุพยานน่าที่จะร้องตะโกนบอกให้ประชาชนเหล่านั้นทราบเพื่อจะได้ช่วยกันดับเพลิงและแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบในโอกาสต่อมาแต่ไม่ปรากฏว่าพยานได้ดำเนินการใดๆคงเก็บงำไว้เป็นเวลานานถึง2วันจึงเล่าให้ส. เพื่อนร่วมงานฟังเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลผู้อยู่ในภาวะเช่นพยานจะพึงกระทำจึงเป็นการส่อพิรุธว่าพยานอาจจะไม่รู้เหตุการณ์ดังที่เบิกความในคืนเกิดเหตุนอกจากจะมีการวางเพลิงโรงเรียนที่เกิดเหตุแล้วยังมีการวางเพลิงโรงเรียนอื่นในเขตจังหวัดสงขลายะลาปัตตานีและนราธิวาสในเวลาเดียวกันได้ใช้วิธีการและวัสดุเชื้อเพลิงเหมือนๆกันอีกถึง37แห่งเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการก่อการร้ายเดียวกันซึ่งดำเนินงานอย่างมีระบบโดยวางแผนกำหนดตัวบุคคลวิธีการปฏิบัติตลอดถึงวัสดุเชื้อเพลิงที่ใช้ไว้อย่างรอบคอบและรัดกุมงานก่อการร้ายจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ตัวบุคคลผู้ดำเนินงานจึงน่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในขบวนการเดียวกันและไว้วางใจได้ไม่มีเหตุอันใดที่จะชักชวนบุคคลอื่นซึ่งอยู่นอกขบวนการให้เข้ามาทำงานเพราะอาจทำให้แผนงานที่กำหนดไว้เสียหายและยังเป็นการเปิดเผยความลับของขบวนการแก่บุคคลภายนอกอีกด้วยฉะนั้นคำเบิกความของพยานจึงขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อถือพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา227วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 206, 420, 443 วรรคสาม, 1461 วรรคสอง, 1565 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 158, 161, 245 (1), 246
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารซึ่งเป็นรถมีขนาดใหญ่ถอยหลังคนที่อยู่ด้านหลังรถดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกรถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนได้ง่าย จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารถอยหลังชนและทับผู้ตายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนดังนี้เหตุรถโดยสารชนและทับผู้ตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ทำศพผู้ตายทั้งประเพณีไทยและจีนเนื่องจากผู้ตายเป็นคนเชื้อชาติจีน สิ้นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน76,692 บาท เนื่องจากผู้ตายมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดบัญชีค่าโดยสาร ได้รับเงินเดือน 8,317.75 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจำนวนดังกล่าวจึงเหมาะสมแก่ฐานานุรูปของผู้ตายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเป็นเงินจำนวน 68,185 บาท จึงเป็นการสมควร ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสองนั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปีย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่สมควร ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรมีอายุเกิน20 ปี เป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443วรรคสาม จะต้องเป็นการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายหาได้มีความหมายรวมไปถึงการขาดไร้อุปการะตามหน้าที่ศีลธรรมไม่ อีกทั้งในข้อที่บิดาจำต้องให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564บัญญัติให้บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 มิใช่ผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม สำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 แม้ว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็จะได้รับค่าอุปการะเท่าที่อยู่ในข่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสามบัญญัติไว้กล่าวคือเท่าที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเว้นแต่จะเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นผู้ทุพพลภาพ โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายนับแต่วันเกิดเหตุไปจนกระทั่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อันเป็นบุคคลที่พ้นจากภาวะผู้เยาว์และเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ หาใช่แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะไปจนถึง 10 ปีนับจากวันเกิดเหตุไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดและจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งแปดนั้นศาลได้กำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระทันที จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158ถ้าศาลเห็นว่า คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของบุคคลผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถาซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถานั้นได้ยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควรศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ซึ่งจะต้องรับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งแปดชนะคดีได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้ หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาและศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดน้อยลงแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3368/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 1012 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177, 225
ตามคำให้การจำเลยต่อสู้เพียงว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของบุคคลดังกล่าว หาได้ยกข้อต่อสู้เรื่องตราประทับสำคัญของบริษัทโจทก์ขึ้นต่อสู้ไม่ ทั้ง ๆ ที่จำเลยก็รับว่าได้เห็นสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่มีตราประทับสำคัญของบริษัทโจทก์ตั้งแต่ได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว ที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในศาลอุทธรณ์จึงเป็นคนละเรื่องกับที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จึงชอบแล้ว
ตามสัญญามีข้อตกลงว่า ศ.ยอมให้โจทก์จำเลยในฐานะผู้รับสัญญาร่วมกันมีสิทธิเหนือพื้นดิน มีสิทธิที่จะพัฒนาที่ดินของ ศ.จำนวน 50 ไร่ และมีสิทธิจำหน่ายที่ดินได้ เพื่อเป็นการตอบแทนโจทก์จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินให้ ศ.เป็นเงิน 30,000,000 บาท จำเลยได้ออกเงินร่วมลงทุนตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งตามสัญญาดังกล่าวก็ระบุชัดแจ้งว่า ถ้าการดำเนินงานในที่ดินมีผลกำไรหลังหักภาษีแล้วโจทก์จำเลยซึ่งเป็นผู้รับสัญญาตกลงแบ่งกำไรให้ ศ.ผู้รับสัญญาจำนวนร้อยละ 10ของกำไร ดังนี้ถือได้ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการค้าที่ดินร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไร อันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น จึงเป็นการตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในค่าใช้จ่ายอันเกิดจากสัญญาดังกล่าวต่อโจทก์
กรณีของโจทก์จำเลยเป็นเรื่องหุ้นส่วนเรียกเงินทดรองจ่ายจากหุ้นส่วนด้วยกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ.มาตรา 193/30 เมื่อนับจากวันที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยจนถึงวันฟ้องไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 182, 454, 537, 569, 570
ข้อความตามหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวมีว่า "ถ้าผู้ให้เช่าตกลงขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้ใดก่อนครบกำหนดการเช่าตามสัญญาแล้วผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้า เพื่อผู้เช่าเตรียมตัวออกจากทรัพย์สินที่เช่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเดือน และผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบด้วยว่าจะตกลงขายให้แก่ผู้ใด เป็นเงินเท่าใด เพื่อผู้เช่าจะได้มีโอกาสตกลงซื้อได้ก่อนในเมื่อเห็นว่าเป็นราคาสมควร" เป็นเพียงเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ให้เช่าจะขายทรัพย์สินที่เช่าก่อนครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาโดยจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบเสียก่อน เพื่อผู้เช่าจะได้ใช้สิทธิที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้ก่อนบุคคลอื่นเท่านั้น แต่หาได้ให้สิทธิผู้เช่าที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้ก่อนบุคคลอื่นตลอดไปจนพ้นกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมด้วยตึกแถวรายพิพาททั้ง 3 คูหาให้แก่จำเลยที่ 3 หลังจากครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว แม้โจทก์ทั้งสี่จะเช่าตึกแถวรายพิพาททั้ง 3 คูหาอยู่ต่อมาโดยไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าขายทรัพย์สินที่เช่าแก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมด้วยตึกแถวรายพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, 84
จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา14ดังโจทก์ฎีกาขอมาได้ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา84
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 264, 265
จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินรวมทั้งลายมือชื่อส. ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี2536ภายหลังที่ส. ถึงแก่ความตายไปแล้วในปี2533และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่15ธันวาคม2531ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่างส. กับจำเลยในขณะที่ส. ยังมีชีวิตอยู่และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่าส.กู้ยืมเงินจำเลย100,000บาทถ้าส.ไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าวส.ยอมโอนที่ดินสวนยาวพาราเนื้อที่14ไร่1งานแก่จำเลยนั้นนอกจากไม่เป็นความจริงแล้วยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของส. อีกด้วยและเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับด.ว่าที่ดินของส.เป็นของจำเลยและจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไปซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ด. หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา265 ข้อความที่ว่า"โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน"ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264นั้นไม่ใช่การกระทำโดยแท้และไม่ใช่เจตนาพิเศษจึงไม่เกี่ยวกับเจตนาแต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า"ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง"นั้นแสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วยโดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใดดังนั้นการที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ด. หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้วแม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อด.ก็ตามทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยคือทายาทของส. แต่อย่างใดแต่อาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา265แล้วกรณีไม่จำต้องปรับบทด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา264อีก