คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 472 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

โจทก์ส่งกระดาษให้แก่จำเลยมีน้ำหนักไม่ถูกต้องตามขนาดที่ตกลงกันไว้เป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายผิดจากชนิดที่ตกลงกันตามสัญญาถือได้ว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา472ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป ฎีกาโจทก์ที่ว่าศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยตามฟ้องแย้งซึ่งเป็นเรื่องความชำรุดบกพร่องขาดอายุความแล้วหรือไม่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่ากรณีพิพาทในคดีนี้เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9695

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9695/2539

ประมวลรัษฎากร ม. 118 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349, 351, 797, 800, 801 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 120, 123, 158 (5) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยออกเช็ครวม 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้เพราะจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค คำฟ้องดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าอะไรนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ผู้ใดจะมอบอำนาจไว้ล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเพื่อกระทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนตนซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสามารถจะทำได้ การมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีความผิดเกี่ยวกับเช็คแก่พนักงานสอบสวน เป็นการมอบอำนาจให้กระทำกิจการอย่างหนึ่งซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายแม้ในขณะมอบอำนาจความผิดยังไม่เกิดผู้มอบอำนาจก็สามารถจะมอบอำนาจไว้ก่อนได้

ในขณะที่มีการมอบอำนาจนั้น โจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 4 ฉบับ และขณะนั้นมีเช็ค 2 ฉบับ ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์ร่วมจึงมอบอำนาจให้ ม. แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยแทนโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมก็มิได้เจาะจงให้ผู้รับมอบอำนาจแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนสำหรับเช็คฉบับใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนสำหรับเช็คฉบับใดก็ได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ร่วม หากเช็คฉบับนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น เมื่อต่อมาปรากฏว่าเช็คที่เหลืออีก 2 ฉบับก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ม.จึงมีอำนาจที่จะแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดเกี่ยวกับเช็ค 2 ฉบับหลังได้ด้วย และเมื่อ ม. ได้แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องได้

คดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมจริงโดยมีมูลหนี้มาจากค่าก่อสร้าง และต่อมาจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ร่วมไว้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วจำเลยได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้ดังกล่าว เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9394

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693 - 9394/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 143, 145, 172 วรรคสอง, ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2)(ก)

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่1ประมูลแชร์แล้วไม่ชำระเงินค่าแชร์คืนโจทก์เจ้าหนี้จึงฟ้องคดีต่อมาจำเลยที่1ขายที่ดินให้จำเลยที่3เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีแล้วจำเลยที่3ขายที่ดินให้จำเลยที่2โดยไม่สุจริตโจทก์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันจำเลยทั้งสามได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลจึงขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโดยให้จำเลยที่1กลับคืนสู่ฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมนั้นเพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลนอกคดีแต่คดีนี้แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามไว้ในสำนวนเดียวกันตั้งแต่ต้นโดยฟ้องจำเลยที่3เป็นคดีต่างหากก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกันประกอบกับคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่3ซื้อที่ดินจากจำเลยที่1แล้วจำเลยที่3ขายที่ดินให้จำเลยที่2ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่1โดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่1ต้องเสียเปรียบกับมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่1กับที่3และระหว่างจำเลยที่3กับที่2ซึ่งศาลจะต้องมีคำพิพากษารวมกันคำพิพากษาศาลย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยที่3ด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่3ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ตรงตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่เป็นเลขโฉนดที่ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่1กับที่3และระหว่างจำเลยที่3กับที่2โดยมิได้เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์เพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่1ตามเดิมเท่านั้นฟ้องเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9692

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9692/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 (ข) พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 114

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94บัญญัติห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสารในเมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้นแต่การที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบว่าผู้คัดค้านร่วมได้ชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่2เป็นจำนวนเงิน17,200,000บาทโดยนำพ.กับป.ซึ่งรู้เห็นในการซื้อขายมาเบิกความยืนยันประกอบเอกสารมิใช่นำสืบเพื่อให้บังคับตามสัญญาซื้อขายแต่เป็นการนำสืบถึงความเป็นจริงว่าผู้คัดค้านร่วมซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่2มาในราคาเท่าใดเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านและศาลจะได้วินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านร่วมได้กระทำโดยสุจริตหรือไม่ย่อมนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94และการที่ผู้คัดค้านร่วมกับจำเลยที่2ไม่ได้ระบุราคาที่ซื้อขายอันแท้จริงจำนวนลงในสัญญาซื้อขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นก็หาตกเป็นโมฆะไม่และรับฟังได้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456มีบทบังคับเพียงให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้นซึ่งกรณีของจำเลยที่2กับผู้คัดค้านร่วมก็ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ระบุราคาที่ซื้อขายครบถ้วนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9686

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9686/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224 วรรคสอง, 248, 249

เมื่อได้ความว่าขณะยื่นคำฟ้องที่ดินและตึกแถวพิพาทตามสัญญาเช่า ให้จำเลยเช่าเดือนละ 1,000 บาท ดังนั้นที่ดินและตึกแถวพิพาทที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามคู่ความมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาเช่าตึกแถวเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา และโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงเดือนละ 1,000 บาทนั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 คดีฟ้องขับไล่โจทก์ฎีกาว่าได้รับความเสียหายเดือนละ50,000 บาท เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9684

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9684/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 238, 249

คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังมาตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินในคดีนี้เป็นของโจทก์ จำเลยฎีกาว่าการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้จะวินิจฉัยให้ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 122 เดิม, 1364, 1750 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง, 142 (2)

โจทก์จำเลยเป็นบุตรของศ. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก5คนเดิมที่ดินพิพาทเป็นของศ.และขณะที่ศ.ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมีหลักฐานเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อศ. ถึงแก่ความตายแล้วโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกัน2คนโดยพี่น้องคนอื่นๆอีก5คนได้ทำบันทึกไม่ประสงค์จะขอรับมรดกและโจทก์ได้ทำบันทึกให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอว่าเมื่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์จำเลยแล้วโจทก์ยินยอมขอรังวัดแบ่งแยกออกเป็นส่วนของโจทก์เพียง1ไร่ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของจำเลยโดยจำเลยจะให้เงินโจทก์40,000บาทเป็นการตอบแทนหากจำเลยไม่มีเงินชำระก็ไม่ติดใจเอาส่วนของโจทก์ตามที่ตกลงไว้ดังนี้เมื่อตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่าหลังจากโจทก์ตกลงกับจำเลยแล้วจำเลยก็ดำเนินการตามที่ตกลงแต่ล่าช้าเกินไปและโจทก์หมดความจำเป็นที่จะใช้เงินไปลงทุนทำการค้าแล้วจึงบอกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเสียหาได้ปรากฏว่ามีพฤติการณ์อื่นใดพอที่จะชี้ให้เห็นว่าบันทึกข้อตกลงนั้นโจทก์ได้แสดงเจตนาเพราะถูกจำเลยใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงอันถึงขนาดไม่เมื่อตามข้อตกลงไม่ปรากฏว่าต้องให้จำเลยดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใดทั้งปรากฏว่าเมื่อโจทก์จำเลยยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกไม่มีพินัยกรรมแล้วโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทำบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและขอจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้วเพียงแต่ดำเนินการล่าช้าเท่านั้นหาได้ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ไม่ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะโจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างได้แต่โฉนดที่ดินที่จำเลยแบ่งแยกให้โจทก์มีเนื้อที่เพียง3งาน30ตารางวาไม่ตรงตามที่ตกลงกันเพราะความผิดพลาดของเจ้าพนักงานที่ดินโจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งอีก70ตารางวาแม้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่งแต่ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่งอีกเพียง70ตารางวาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(2)ส่วนเงินจำนวน40,000บาทนั้นไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ได้เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9680

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9680/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1369, 1375, 1381 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 249

โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดหักล้างการครอบครองของจำเลยว่าจำเลยขอส. ปลูกบ้านเพื่อสนับสนุนคำฟ้องโจทก์จึงไม่มีทางชนะคดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือและได้มีการฟ้องคดีภายใน1ปีหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9675

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9675/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 380

เบี้ยปรับคือค่าเสียหายจำนวนหนึ่งที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเพื่อให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้ให้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาเงินจำนวน30,000,000บาทที่จำเลยได้รับไว้จากโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นเงินที่โจทก์และจำเลยตกลงกันให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินชำระราคาที่ดินที่จะซื้อจะขายกันจึงไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับและเมื่อมีข้อกำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายว่าหากโจทก์ผิดสัญญาโจทก์ยินยอมให้บรรดาเงินที่ได้ชำระแล้วตกเป็นของจำเลยทั้งสิ้นซึ่งปรากฎว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวน300,000,000บาทนี้ได้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9671

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9671/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ม. , , ,

ประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 6 ข้อ 13 ข้อ 15และข้อ 17 บัญญัติให้การทางพิเศษ จำเลยที่ 1 มีอำนาจซื้อจัดหา ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองหรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 โดยมีผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ 1ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิตฯพ.ศ. 2534 มีวัตถุประสงค์ที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโค่ลและสายพญาไท-ศรีนครินทร์โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางการพิเศษการเวนคืนที่ดินพิพาทจึงเป็นกิจการในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทของโจทก์ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE