คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 137 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482 ม. 16 ทวิ, 19, 64

คำว่า"บิดา"ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ.2482มาตรา16ทวิ,19หมายถึงทั้งบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยรู้อยู่แล้วว่าบิดาของจำเลยเป็นคนสัญชาติจีนและรู้อยู่ว่าตนไม่จบชั้นมัธยมปีที่4ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดแต่กลับแจ้งความอันเป็นเท็จโดยกรอกข้อความในใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดว่าบิดาจำเลยเป็นคนสัญชาติไทยและจำเลยจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่4จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา137พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ.2482มาตรา64การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ.2482มาตรา64อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7320

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7320/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 173, 708, 715, 859

ตามสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกันหนี้ทุกชนิดของจำเลยที่ 2และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000บาท เท่านั้น ดังนั้นตามสัญญาจำนองดังกล่าวจำเลยที่ 2มีความรับผิดในต้นเงินที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันในวงเงินรวมกันเป็นจำนวน 1,000,000 บาทส่วนข้อความตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า การกำหนดจำนวนต้นเงินดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆนั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอนหรือไม่มีเงินจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงเป็นโมฆะ แต่จำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดในดอกเบี้ยของหนี้ต้นเงินตามวงเงินจำนองนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองโดยถือเอาวันที่หนี้ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยทั้งสองกับหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 รวมกันได้เต็มวงเงินจำนองดังกล่าวครั้งหลังสุดเป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันเลิกสัญญา หลังจากนั้นต้องรับผิดในดอกเบี้ยไม่ทบต้นต่อไปจนกว่าจะมีการชำระเสร็จสิ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2539

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

กิจการของจำเลยในการให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษจะดำเนินการอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของลูกค้าในการให้บริการของจำเลยที่จะต้องจัดการนำส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอย่างรวดเร็วและถูกต้องปรากฏว่าเอกสารของลูกค้าจำเลยส่งมาถึงจำเลยตั้งแต่วันที่25กรกฎาคม2538พนักงานแยกเอกสารได้นำเอกสารดังกล่าวไปใส่ในช่องเอกสารของโจทก์แล้วแต่โจทก์ละเลยไม่นำเอกสารไปส่งให้แก่ลูกค้าจำเลยจนเป็นเหตุให้ลูกค้าต้องโทรศัพท์ทวงถามเอกสารจากจำเลยในวันที่29กรกฎาคม2538จึงได้มีการตรวจค้นพบเอกสารอยู่ในกระเป๋าใส่เอกสารประจำตัวของโจทก์ซึ่งทิ้งไว้ที่บริษัทจำเลยพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือของลูกค้าที่มีแก่บริการรับส่งเอกสารของจำเลยเป็นอย่างยิ่งถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ70ข้อ96และข้อ99.6กรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7310

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7310/2539

ประมวลรัษฎากร ม. 65

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8(25) ที่บัญญัติให้เงินได้จากการขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิตหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 80 เป็นบทบัญญัติที่ใช้ในการคำนวณเงินได้ของบุคคลธรรมดา ไม่ใช่กับการคำนวณเงินได้ของนิติบุคคล ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้นำมาใช้ในการคำนวณเงินได้ของนิติบุคคล และพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพึงหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ มิใช่เพื่อกำหนดรายได้ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงนำมาใช้บังคับกับกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยอนุโลมไม่ได้ เพราะการคำนวณหาเงินได้ของนิติบุคคลจะต้องเป็นไปตามมาตรา 65,65 ทวิและ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์มีต้นทุนขายร้อยละ 80 โดยนำพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาตรา 8(25) มาใช้บังคับโดยอนุโลมจึงไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะต้องดำเนินการตรวจสอบตามเอกสารหลักฐานทางบัญชีที่โจทก์นำมามอบให้ตรวจสอบ หากไม่เป็นการเพียงพอที่จะตรวจสอบหาเงินได้ของโจทก์ได้ตามมาตรา 65,65 ทวิ และ 65 ตรี แล้วจึงจะใช้วิธีการประเมินตามมาตรา 71(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2539

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 26

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา26ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้2กรณีคือกรณีแรกเป็นกรณีรัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นใน60วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน1ปีนับแต่ที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้นกรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน60วันนับแต่วันรับอุทธรณ์กรณีเช่นนี้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลภายใน1ปีนับแต่พ้นกำหนด60วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ซื้อและเช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยโดยจำเลยสัญญาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยก็มิได้โอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ก็ให้จ่ายเงินมัดจำ เงินงวดค่าเช่าซื้อและคืนเงินค่าโอนทะเบียนรถรวมเป็นเงิน 407,514 บาท แก่โจทก์ และมีคำขอให้บังคับจำเลยโอนทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงิน 50,000 บาท แก่โจทก์แม้จะเรียกว่าค่าเสียหายแต่ก็เป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระเนื่องจากการผิดสัญญาที่ไม่สามารถโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ตามฟ้องนั่นเอง จึงมิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 4

จำเลยที่2ว่าจ้างให้พ.ถมดินซึ่งพ.ขอให้จำเลยที่2สั่งจ่ายเช็คพิพาทก่อนเพื่อไปแสดงกับเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อที่จะนำมาใช้ในการถมดินแต่หลังจากนั้นพ. ไม่ถมดินให้จำเลยที่2มีสิทธิจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าพ. จะชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนฉะนั้นในขณะจำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คหนี้ระหว่างจำเลยที่2กับพ. ยังบังคับกันไม่ได้จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5266

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5266/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1480 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 288

แม้ผู้ร้องจะเป็นภริยาของจำเลยแต่ก็มิได้ถูกฟ้องด้วยจึงเป็นบุคคลภายนอกและชอบที่จะนำคดีตามที่กล่าวอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการจัดการสินสมรสโดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมด้วยไปฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนเป็นอีกคดีหนึ่งจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนในคดีซึ่งตนมิได้เป็นคู่ความด้วยหาได้ไม่ การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา288ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ดังกล่าวเมื่ออ้างว่าทรัพย์นั้นเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยร่วมกันเท่ากับยอมรับว่าจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์ด้วยผู้ร้องจึงหามีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5265

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5265/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1733 วรรคสอง, 1750

จำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนบ้านและที่พิพาทแก่จำเลยที่1ในนามจำเลยที่1เป็นผู้รับมรดกเองเพื่อความสะดวกในการที่จะขายเอาเงินมาแบ่งปันกันยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นการจัดการมรดกจะเสร็จสิ้นต่อเมื่อได้แบ่งเงินราคาขายกันแล้วเมื่อยังไม่ได้แบ่งเงินราคาขายแก่ทายาทการจัดการมรดกจึงยังไม่เสร็จสิ้นลงอายุความยังไม่เริ่มนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสอง จำเลยที่1ขายบ้านและที่ดินทรัพย์มรดกให้จำเลยที่2โดยชอบไม่อาจเพิกถอนได้โจทก์จึงไม่อาจขอให้ใส่ชื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของคงมีสิทธิเพียงได้รับส่วนแบ่งเงินค่าขายทรัพย์มรดกดังกล่าวตามราคาที่ขายไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192

กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคท้ายต้องเป็นเรื่องความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่างแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าศาลอุทธรณ์ภาค3ได้วินิจฉัยในตอนแรกว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1กระทำผิดฐานพยายามฆ่าแม้หลังจากผู้เสียหายถูกตีที่ศีรษะและถูกแทงที่ไหล่และหลังแล้วผู้เสียหายได้วิ่งออกจากที่เกิดเหตุจำเลยที่1ถือมีดวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปก็เป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามที่โจทก์ฟ้องดังนั้นข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าจำเลยที่1มีความผิดฐานพยายามทำร้ายจึงเป็นการ พิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในคำฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคแรก

« »
ติดต่อเราทาง LINE