คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 9, 21, 26 วรรคท้าย
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสามและวรรคสี่กำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงโดยคำนวณตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นเรื่องให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเป็นฝ่ายถือปฏิบัติเมื่อมีกรณีอสังหาริมทรัพย์เหลือจากการเวนคืนอันทำให้ราคาลดลงเกิดขึ้นเพื่อให้การคำนวณราคาเป็นระเบียบแบบแผนเดียวกันมิได้หมายความว่าหากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นไม่กำหนดราคาที่ลดลงของอสังหาริมทรัพย์เพราะไม่มีพระราชกฤษฎีกาออกมาให้กำหนดราคาแล้วผู้ที่ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงบางส่วนไม่สามารถจะเรียกเงินค่าทดแทนได้ การที่โจทก์อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาลดลงและโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นนั้นย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้ ที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือจำนวน351ตารางวา อยู่ด้านในไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมทำให้โจทก์ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนนี้ไม่ได้เหมือนเดิมจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินค่าทดแทนแก่โจทก์สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือนั้นด้วย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา26วรรคท้ายบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยใน อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคาร ออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ10ต่อปีคงที่จึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 378, 380, 381
สัญญาซื้อขายข้อ10ระบุว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้วผู้ขาย(จำเลยที่1)ไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ(โจทก์)หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และวรรคสองระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ9เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายในกำหนด3เดือนนับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้นผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วยและข้อ11ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อ(โจทก์)ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ10ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนและในวรรคสามระบุว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ9กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ10วรรคสองนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นจากจำเลยที่1ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกำหนดส่งมอบของที่ซื้อขายกันภายในวันที่18สิงหาคม2530และวันที่29กันยายน2530ตามลำดับครั้นเมื่อครบกำหนดส่งมอบของตามสัญญาจำเลยที่1ผิดสัญญาโดยมิได้มอบส่งมอบของตามสัญญาดังกล่าวให้โจทก์เลยโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับรายวันนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่จำเลยที่1ได้ปฏิบัติการชำระหนี้โดยถูกต้องตามสัญญาดังกล่าวภายหลังจากนั้นโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่1รีบส่งมอบของที่ซื้อขายกันตามสัญญาทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์อีกพร้อมแจ้งการปรับไปด้วยมิฉะนั้นโจทก์อาจพิจารณาว่าจำเลยที่1ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้และใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ11วรรคสามต่อไปแต่จำเลยที่1ยังคงเพิกเฉยโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่1ดังนี้ตามพฤติการณ์ของโจทก์เป็นการแสดงว่าเมื่อจำเลยที่1ผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบของที่ซื้อขายกันในกำหนดตามสัญญาโจทก์ก็ยังไม่ประสงค์จะเลิกสัญญาทันทีตามสัญญาข้อ10โดยโจทก์คงเพียงแต่มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่1ส่งมอบของตามสัญญาต่อเมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยที่1ไม่สามารถส่งมอบของได้ตามสัญญาแล้วโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่1เช่นนี้เป็นการที่โจทก์เลิกสัญญาตามสัญญาข้อ11โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับรายวันตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ส่งมอบของจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาซื้อขายข้อ11ดังกล่าว จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบของที่ซื้อขายกันในกำหนดตามสัญญาการที่โจทก์เรียกร้องเกี่ยวกับค่าขาดรายได้จากการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นในการรักษาผู้ป่วยนั้นเมื่อโจทก์เป็นส่วนราชการมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไรค่าเสียหายส่วนนี้เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นว่าจะเกิดค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 75, 78, 335, 357 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 58
ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ15ปี6เดือนซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนแต่ในท้องที่จังหวัดสกลนครซึ่งจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวดังนั้นศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534มาตรา58(3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1672/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132 (1), 174 (2), 246
จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับสำเนาให้โจทก์แก้ให้จำเลยนำส่งภายใน5วันมิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน15วันนับแต่วันส่งไม่ได้จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วเมื่อส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ไม่ได้จำเลยทั้งสองยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นอยู่เช่นเดิมเมื่อจำเลยทั้งสองไม่แถลงต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดว่าจะจัดการอย่างไรต่อไปแม้ศาลชั้นต้นจะมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่าส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ก็ตามแต่การที่จำเลยทั้งสองมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นคงปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาประมาณ2เดือนถือว่าจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้เป็นการทิ้งอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีนั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095 - 5099/2539
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานของจำเลยที่ทำงานเกิน5ปีหรือเกิน10ปีขึ้นไปเท่ากับ50วันหรือ300วันของค่าแรงอัตราสุดท้ายในขณะลาออกแต่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมิได้กำหนดนิยามคำว่า"ค่าจ้าง"และ"ค่าแรง"ไว้ดังนั้นค่าแรงก็คือค่าจ้างที่เอามาเฉลี่ยคิดให้เป็นวันหรือชั่วโมงและต้องนำเงินทั้งหมดที่ถือว่าเป็นค่าจ้างมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษส่วนเงินค่าตำแหน่งและค่าครองชีพเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของการทำงานเงินทั้ง2ประเภทถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยจึงต้องนำมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษด้วยส่วนเงินค่าที่พักเป็นเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่มีที่พักเป็นของตนเองลูกจ้างที่มีที่พักแล้วไม่มีสิทธิได้รับจึงเป็นเพียงเงินสวัสดิการหาใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติไม่จึงไม่ใช่ค่าจ้างไม่อาจนำมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษได้และตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยไม่มีข้อยกเว้นมิให้นับระยะเวลาการทดลองงานรวมเข้ากับระยะเวลาทำงานหลังจากได้รับการบรรจุหากไม่ต้องการให้นับระยะเวลาทดลองงานรวมเข้าด้วยจำเลยน่าจะระบุไว้ให้ชัดแจ้งเมื่อไม่ระบุจึงถือว่าระยะเวลาทดลองงานเป็นส่วนหนึ่งของระยะเวลาทำงานที่ต้องนำมารวมคำนวณเงินตอบแทนพิเศษด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 575 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 2 ค่าจ้าง
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมิได้กำหนดคำนิยามของคำว่า "ค่าจ้าง" และ "ค่าแรง" ไว้ นอกจากนี้ในข้อบังคับดังกล่าวใช้คำว่าค่าจ้างและค่าแรง ปะปนกันไม่แน่นอน เป็นต้นว่า ข้อ 4.3 การเข้าทำงานสายจะถูกตัดค่าแรงลงตามส่วน แต่ในข้อ 4.4 ในวันหยุดตามประเพณีพนักงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานตามปกติ และในข้อ 5 เกี่ยวกับเรื่อง การทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และการจ่ายค่าแรง ก็ระบุไว้ในข้อ 5.1 ว่า พนักงานทำงานเกินเวลาปกติจะได้รับค่าล่วงเวลาหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในการทำงานตามปกติสำหรับเวลาที่ทำงานเกิน ดังนี้ค่าแรงก็คือค่าจ้างที่เอามาเฉลี่ยคิดให้เป็นวันหรือชั่วโมงนั่นเอง การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าแรง ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมายถึงค่าจ้างจึงชอบแล้ว
เงินค่าตำแหน่งและค่าครองชีพที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์มีสิทธิได้รับเป็นการประจำและมีจำนวนแน่นอนจึงเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
เงินค่าที่พักที่จำเลยจ่ายช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่มีที่พักเป็นของตนเอง ลูกจ้างที่มีที่พักแล้วจะไม่มีสิทธิได้รับเงินประเภทนี้ เงินค่าที่พักดังกล่าวจึงเป็นเพียงเงินสวัสดิการที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้าง หาใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานไม่
เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่มีข้อยกเว้นมิให้นับระยะเวลาการทดลองงานรวมเข้ากับระยะเวลาทำงานหลังจากได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำเพื่อเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินตอบแทนพิเศษ หากจำเลยไม่ต้องการให้นับระยะเวลาทดลองงานดังกล่าวรวมเข้าด้วย จำเลยก็น่าจะระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวให้ชัดแจ้ง ซึ่งจำเลยสามารถจะทำได้อีกประการหนึ่งเมื่อจำเลยออกใบผ่านงานให้โจทก์ที่ 3 จำเลยก็ระบุว่าโจทก์ที่ 3ทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันแรกที่โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานทดลองงานกับจำเลย ด้วยเหตุนี้จึงต้องถือว่าระยะเวลาทดลองงานเป็นส่วนหนึ่งของระยะเวลาทำงานที่ต้องนำมารวมคำนวณเงินตอบแทนพิเศษสำหรับโจทก์ที่ 3 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5094/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 816
สัญญานายหน้าตัวแทนระหว่างจำเลยกับโจทก์กำหนดให้โจทก์ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลย โจทก์จึงเป็นตัวแทนของจำเลยมีอำนาจขายหุ้นแทนจำเลยได้โดยชอบและมีสิทธิได้รับค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายในการขายได้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา เมื่อหุ้นที่โจทก์ขายแทนจำเลยไปนั้น เป็นหุ้นที่จำเลยร่วมที่ 2 ลักมาและได้มีการอายัดหุ้นส่วนหนึ่งไว้แล้วทำให้มีการโอนหุ้นให้แก่ผู้ซื้อไม่ได้ โจทก์ในฐานะผู้ขายจะต้องรับผิดชอบใช้หุ้นอื่นแทนให้แก่ผู้ซื้อตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อโจทก์ได้ชดใช้หุ้นอื่นแทนแก่ผู้ซื้อ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำที่จำเป็นและสมควรต้องกระทำในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน โจทก์ในฐานะตัวแทนจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยในฐานะตัวการชดใช้หุ้นหรือเงินค่าหุ้นที่โจทก์ออกแทนจำเลยไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5092/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223, 420, 438, 442 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 177, 183
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค3ฟังข้อเท็จจริงว่าจ.ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มีส่วนประมาทโจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้นั้นเป็นปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่1หรือไม่อันมีความหมายรวมไปถึงว่าความประมาทดังกล่าวจะมีผลทำให้จำเลยที่1ต้องรับผิดต่ออีกฝ่ายหรือไม่เพียงใดและที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1และจ.ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันค่าเสียหายทั้งสองฝ่ายจึงเป็นพับไปนั้นเป็นการวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยในประเด็นพิพาทไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงขึ้นใหม่โดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 18, 289 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
จำเลยที่ใช้เหล็กแป๊บน้ำตี จ. 2 ที จนสลบไปแล้วสั่งให้ ย.นำน้ำมาราดให้ฟื้นขึ้นมาทำงานต่อได้ประมาณ 10 นาที แล้วตีซ้ำอีก และใช้อาวุธปืนยิงอีก 2 นัดจน จ. ตาย และการที่จำเลยใช้เหล็กสแตนเลสข้าง ป.ซึ่งนั่งสัปหงกคัดปลาอยู่เพราะไม่มีเวลาพักผ่อนจนสลบคากองปลา และสั่งให้ ย. ลากมาไว้ท้ายเรือ เมื่อจำเลยบังคับเรือหนีเรือรบของประเทศสหภาพเมียนมาร์ได้ถามย. ว่าฟื้นหรือยังเมื่อยังไม่ฟื้นจึงให้ ย. โยน ป. ลงทะเล เป็นการกระทำที่ประสงค์ให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดและทรมานก่อนตาย เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทารุณโหดร้าย ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แม้ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตก็ต้องกำหนดโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5074/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 310
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังตาม ป.อ. มาตรา 310 นั้นไม่ได้กำหนดว่าผู้กระทำผิดจะต้องหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเป็นเวลานานเท่าใดจึงจะเป็นความผิด หากการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นทำให้ผู้อื่นต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายแล้วก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา 310 ดังกล่าว