คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6022

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6022/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 297, 299 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1และที่3ร่วมกันเป็นตัวการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา297,83ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายเพราะมีการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยมีจำเลยที่1และที่3ร่วมอยู่ในที่ชุลมุนด้วยสาระสำคัญในการกระทำความผิดที่พิจารณาได้ความคือการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปแต่ตามฟ้องไม่มีข้อความตอนใดบรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปอันเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับอันตรายสาหัสซึ่งจะมีผลให้ลงโทษจำเลยที่1และที่3ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา299ได้ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่1และที่3ตามทางพิจารณาที่ได้ความไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 26, 42

ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นและอาคารพิพาทไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้มิได้อ้างเหตุว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งไม่อนุญาตจึงไม่ต้องระบุมาในฟ้องถึงวันที่ออกคำสั่งไม่อนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9677

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9677/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 179

เดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขในสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวว่าจำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์เข้าปรับปรุงพัฒนาที่ดินและนำไปขายต่อให้แก่บุคคลอื่นได้ทั้งจำเลยทั้งสองจะแบ่งแยกที่ดินให้ทำถนนต่อมาโจทก์จำเลยทั้งสองและบุคคลภายนอกได้ทำบันทึกการให้ทางดังกล่าวไว้ต่างหากอีกฉบับหนึ่งด้วยแต่โจทก์ไม่สามารถพัฒนาและทำถนนให้แล้วเสร็จตามที่ตกลงกันได้เนื่องจากจำเลยที่2คอยขัดขวางขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายและข้อตกลงในบันทึกการให้ทางทั้งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันถอนคำคัดค้านที่ให้ไว้ต่อการไฟฟ้านครหลวงกับชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ซึ่งตามคำฟ้องเดิมโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจะซื้อขายโดยไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนดอันจะทำให้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้อีกหนึ่งเท่าตัวตามสัญญาจะซื้อขายดังนั้นที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายกับใช้ค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จเพิ่มจากคำฟ้องเดิมจึงเป็นการขอเพิ่มข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับนอกเหนือไปจากคำฟ้องเดิมที่เสนอต่อศาลแต่แรกมิใช่เป็นกรณีที่เพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิมหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา179(1)(2)ทั้งมิใช่เป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยจึงไม่ชอบที่จะกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23, 142, 296 จัตวา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ร้องไว้ในมาตรา296จัตวา(3)คือถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยต่อศาลชั้นต้นเสียภายในกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยการที่กฎหมายเพียงแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยในกรณีที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยเสียภายในกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแสดงว่ากฎหมายมิได้บัญญัติบังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้วผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียวแม้ล่วงเลยกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศไปแล้วถ้าผู้ร้องมีหลักฐานสืบแสดงได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของผู้ร้องได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยและแม้ผู้ร้องจะไม่ได้ขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องเสียก่อนสิ้นระยะเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศก็ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องในภายหลังเพราะระยะเวลา8วันดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นมิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 328

การที่ลูกหนี้ทำหนังสือยินยอมให้เจ้าหนี้นำเงินไปชำระหนี้รายใดก่อนเป็นการแสดงเจตนาเพื่อชำระหนี้ของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา328วรรคแรกกระทำเพียงฝ่ายเดียวก็สมบูรณ์ผูกพันลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 328, 329 (1)

การเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ที่จำเลยที่1เป็น บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาโดยยืนยันข้อเท็จจริงในทำนองว่าโจทก์เกี่ยวพันกับการค้าเฮโรอีนและโจทก์ถูกระงับวีซ่าหรือห้ามเข้าประเทศ สหรัฐอเมริกาและประเทศ ออสเตรเลีย ซึ่งไม่เป็นความจริงมิใช่เพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนแต่อย่างใดเนื่องจากโจทก์มิได้กระทำการใดๆต่อจำเลยที่1ก่อนเมื่อจำเลยที่1เสนอข่าวยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งไม่เป็นความจริงจึงมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยที่จำเลยที่1ในฐานะประชาชนมีสิทธิทำได้โดยต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิตามกฎหมายของผู้อื่นแต่ข้อความที่หนังสือพิมพ์ที่จำเลยที่1เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาเสนอข่าวนั้นเป็นการเสนอข่าวโดยมุ่งหวังเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งส่อแสดงเจตนาอันไม่สุจริตเนื่องจากได้เสนอข่าวติดต่อกันหลายวันหลายฉบับจำเลยที่1จึงไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา329(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1439 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง

เมื่อไม่มีการหมั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายในการเตรียมการสมรสจากจำเลยทั้งสามซึ่งไม่มาทำพิธีสมรสในวันที่กำหนด ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องฝ่ายจำเลยสู่ขอโจทก์เพื่อสมรสกับจำเลยที่3โดยตกลงให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดงานและพิธีสมรสแล้วจำเลยที่3ไม่มาทำพิธีสมรสตามที่ตกลงไว้อีกทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสหรือค่าเสียหายทางจิตใจเนื่องจากถูกชาวบ้านดูถูกให้อับอายขายหน้าก็ตามล้วนสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่1และที่2ไม่น่าจำเลยที่3มาทำพิธีสมรสในวันที่กำหนดมูลคดีตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสมิใช่มูลละเมิดตามที่โจทก์อุทธรณ์เพราะคำฟ้องหาได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา420แต่ประการใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 95 (3)

จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดข้อหาฐานใช้เอกสารปลอมเมื่อวันที่3ธันวาคม2527ต่อมาวันที่28พฤศจิกายน2537เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้แล้วส่งมอบจำเลยแก่พนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนี้พนักงานสอบสวนอนุญาตให้จำเลยประกันตัวไปวันที่30พฤศจิกายน2537พนักงานอัยการขอผัดฟ้องโดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาลแม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ก็ตามก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้วเพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลดังนั้นแม้โจทก์ทั้งสี่จะยื่นฟ้องจำเลยในวันที่2ธันวาคม2537แต่โจทก์ทั้งสี่ก็ยังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลจนกระทั่งวันที่7มีนาคม2538ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสี่ก็ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่3ธันวาคม2527วันสุดท้ายของอายุความ10ปีคือวันที่3ธันวาคม2537โจทก์ทั้งสี่ก็มิได้ตัวจำเลยมาส่งมอบแก่ศาลคดีโจทก์ทั้งสี่ในข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารปลอมจึงขาดอายุความฟ้องร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9676

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9676/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 199

การที่ทนายความจำเลยนำสัญญาเช่ามาใช้ในการถามค้านโจทก์ ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน โจทก์รับว่าสามีของโจทก์ทำสัญญาเช่า ที่พิพาทจากจำเลยตามสัญญาดังกล่าว จึงชอบที่ศาลจะนำสัญญาเช่า มาประกอบการวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เพราะเป็นเอกสารประกอบคำถามค้าน หาใช่เป็นกรณีจำเลยเรียกพยานหลักฐานของตนเข้าสืบในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6005

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6005/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 905 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง

จำเลยให้การเพียงว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้จ.ต่อมาจ.ทำเช็คพิพาทหายไปจึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจและจำเลยได้แจ้งอายัดเช็คต่อธนาคารไว้ต่อมาจ.ทราบว่าเช็คพิพาทถูกลักไปและอยู่ที่โจทก์จ.แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์รับว่าจะคืนเช็คให้แต่กลับนำเช็คมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังนี้คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าขณะที่โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมานั้นโจทก์รู้ว่าเป็นเช็คที่ถูกลักมาหรือโจทก์ได้มาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างไรเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสองไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะต้องสละเช็คพิพาทนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา905วรรคสองและวรรคสามจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยไม่สุจริตหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

« »
ติดต่อเราทาง LINE