คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2533

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 42

จำเลยที่ 2 ก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้รื้อถอน จำเลยที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 1 รับโอนอาคารพิพาทมา แม้จำเลยที่ 1 จะไม่รู้เห็นในการต่อเติมอาคารดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีคำสั่งแจ้งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรื้อถอน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารพิพาทได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4779

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4779/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1052, 1068, 1077 (2), 1080, 1087 ประมวลรัษฎากร ม. 18, 30

เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรของจำเลยย่อมยุติไปตามที่เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งประเมินไว้ จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นหนี้ค่าภาษีอากรในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2525 ถึงปี พ.ศ. 2526 ต่อมาจำเลยที่ 2ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1080 ดังนั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 2จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ตาม เมื่อการออกไปดังกล่าวยังไม่เกิน 2 ปี โจทก์ยังมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1077(2),1080, และ 1087 โจทก์แจ้งการประเมินภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ต้องเสียภาษีอากรแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ด้วยจำเลยที่ 2มิใช่ผู้ที่ถูกประเมิน กรณีไม่มีเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยที่ 2.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4775

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4775/2533

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2

ราคาตามบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ ที่จำเลยใช้ประเมินเรียกเก็บอากรเพิ่มจากโจทก์ เป็นราคาที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าที่โจทก์นำเข้าในต่างประเทศกำหนดขึ้นสำหรับเสนอขายสินค้าเป็นการทั่วไปโดยผู้ผลิตสินค้าแจ้งมาว่า ราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ตั้งขึ้นเพื่อเสนอขายดังกล่าวจำเป็นต้องตั้งราคาขายไว้เพื่อการเจรจาซื้อขายกันต่อไป เมื่อมีการเจรจาขายสินค้าแล้วตกลงซื้อขายกันราคาจะต่ำกว่าราคาที่บริษัทกำหนดขึ้นเพื่อขาย ดังนี้ ราคาสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ จึงไม่ใช่ราคาที่ได้มีการซื้อขายกันแท้จริง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงเป็นราคาทำขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับโจทก์และเป็นราคาสินค้าที่ใช้จำหน่ายเฉพาะในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าเป็นราคาที่มีการตกลงซื้อขายกันจริงโดยมิได้มีการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายให้ราคาต่ำกว่าปกติที่จะซื้อขาย จึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4774

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4774/2533

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 38, 39 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 39 วรรคแรก โจทก์ผู้รับประเมินจะมีอำนาจฟ้องต่อเมื่อโจทก์ได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นก่อนแล้ว ไม่ว่ากำหนดระยะเวลาการชำระค่าภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ได้สิ้นสุดลงแล้วก่อนโจทก์ฟ้องคดี หรือจะสิ้นสุดลงในระหว่างที่คดียังอยู่ในศาลก็ตาม แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง กำหนดระยะเวลาชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 ยังไม่สิ้นสุดลงก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาลซึ่งมาตรา 39 บัญญัติให้โจทก์ต้องชำระเสียก่อนยื่นฟ้องคดี เมื่อปรากฏว่าโจทก์เพิ่งชำระค่าภาษีหลังจากยื่นฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4771

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4771/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 425, 427, 821

จำเลยที่ 1 เดินรถรับจ้างโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 ตามวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไว้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารของจำเลยที่ 2ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าได้ให้จำเลยที่ 1 เช่ารถคันดังกล่าวไปแล้วหาได้ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2533

พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ม. 7 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 54 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ม. , ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 172

ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่มาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ข้อความที่ว่า"ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย" ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงคนต่างด้าวที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นข้อความที่ใช้ถ้อยคำติดต่อกันตลอดไม่มีลักษณะที่จะให้เข้าใจได้ว่าต้องการจะให้แยกความหมายของคำว่า "เข้ามา" กับคำว่า "อยู่"ออกจากกันเหมือนดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ใช้คำว่า "เข้ามาหรืออยู่" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องการให้มีผลบังคับถึงคนต่างด้าวทั้งที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กับที่อยู่ในราชอาณาจักรอยู่แล้วโดยมิได้เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรด้วย โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)เป็นกฎหมายที่มีลักษณะถอนสิทธิของบุคคลจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้น กรณีของนาง ท. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยแม้จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) กลายเป็นคนต่างด้าวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็มิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนาง ท. และเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมิใช่บุคคลตามข้อ 1แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แม้โจทก์ทั้งสามจะเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้วก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 2 โจทก์ทั้งสามจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3) และไม่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ระบุชื่อนาย ส. เป็นจำเลยโดยไม่ได้ระบุตำแหน่งของจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬมาด้วยก็ตามแต่การจะพิจารณาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงข้อความในฟ้องประกอบกันด้วย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยต่อจำเลย จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬแล้ว โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวไม่ ปรากฏว่าเมื่อบิดาของโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉยการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องสัญชาติแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4740

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4740/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (1), 288

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้วใส่ชื่อโจทก์แทนผู้ร้องสอดเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย และได้ขอให้ศาลยึดที่ดินตามฟ้องไว้แล้ว เมื่อโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวมิได้ใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์ในคดีดังกล่าว ผู้ร้องย่อมดำเนินการบังคับคดีของตนต่อไปได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีนี้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4760

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4760/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 310, 318

แม้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพรากผู้เยาว์กับฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานพรากผู้เยาว์บทหนักนั้น ยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากกรณีเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ศาลฎีกาปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 80, 72

ผู้เสียหายและจำเลยกับพวกนั่งดื่มสุรากันที่บ้านพักจำเลย ต่อมาผู้เสียหายเรียกจำเลยให้ลงไปพูดกัน จำเลยไม่ลง ผู้เสียหายดึงมือจำเลยหลายครั้งจนจำเลยตกจากที่นั่ง แล้วจำเลยเดินหนีเข้าไปในห้องนอนของจำเลย ผู้เสียหายเดินตามจำเลยเข้าไปในห้องกระชากมือจำเลยออกมา เช่นนี้ ผู้เสียหายเป็นผู้ก่อเหตุ กรณีถือได้ว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้เหล็กตะไบสามเหลี่ยมแทงผู้เสียหายที่บริเวณหน้าท้อง 2 ทีขณะที่ผู้เสียหายเข้าไปกระชากมือหรือจับบ่า จำเลยดึงออกมาข้างนอกห้อง จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (14), 296 วรรคสอง, 308, ตาราง 5

จำเลยที่3ลงชื่อทราบหมายบังคับคดีกับลงชื่อในบันทึกการยึดทรัพย์บัญชีทรัพย์ที่ยึดและสัญญารักษาทรัพย์ซึ่งต่างลงวันที่วันเดียวกับวันที่ยึดทรัพย์แสดงว่าจำเลยที่3ได้รู้เห็นการยึดทรัพย์และการคำนวณราคาทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยตลอดเมื่อจำเลยที่3อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ต่ำกว่าความเป็นจริงแม้จะมิใช่เรื่องการคำนวณราคาทรัพย์เพื่อเรียกค่าธรรมเนียมการยึดแล้วไม่ขายตามหมายเหตุท้ายตาราง5จำเลยที่3ก็ต้องเสนอเรื่องต่อศาลภายใน8วันนับแต่วันที่ยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสอง เมื่อจ่าศาลได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วย่อมมีอำนาจมอบหมายให้รองจ่าศาลไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้ การขายทอดตลาดได้เลื่อนมาหลายครั้งแล้วและราคาที่ขายได้ในครั้งหลังสุดก็สูงพอสมควรไม่ปรากฏว่าจำเลยที่3ได้หาผู้เข้าสู้ราคาให้ราคาสูงกว่านี้ได้และการเลื่อนการขายทอดตลาดไปก็ไม่มีอะไรเป็นประกันว่าจะขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดได้ในราคาสูงกว่านี้อีกจึงไม่ควรให้เลื่อนการขายทอดตลาดต่อไป.

« »
ติดต่อเราทาง LINE