คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3747

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745 - 3747/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 303, 867 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 141 (4)

สต๊อกสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าระหว่างผลิตส่วนสต๊อกสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นสินค้าที่เก็บในโกดัง เป็นสต๊อกสินค้าต่างรายการกัน จึงมิใช่การเอาประกันภัยซ้ำซ้อน โจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย

ข้ออ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดที่ว่าโจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการประกันภัยสต๊อกสินค้าไว้กับบริษัทประกันภัยอื่น โจทก์แจ้งความเสียหายและมูลค่าของทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริงมากมาย ถือว่าเป็นการฉ้อฉล และโจทก์ละเลยไม่สงวนรักษาซากทรัพย์สินอันเป็นเหตุให้ซากทรัพย์สินสูญหาย เป็นการผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น นอกจากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เช่นนั้น หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสามไม่เคยยกข้ออ้างเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดกลับเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่

ธนาคารผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ และโจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้จากจำเลยที่ 3

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่ตอนวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ไม่ได้กล่าวถึงดอกเบี้ยที่ให้จำเลยที่ 3 ใช้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องไม่ให้เหตุผลในคำวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4)ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยใหัชัดเจน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 66 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3

แม้การที่บริษัทโจทก์มอบอำนาจให้ผู้แทนฟ้องคดีโดยกรรมการสองคนลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ ทำให้ใบมอบอำนาจนั้นไม่สมบูรณ์ก็ตามแต่ก่อนพิพากษาศาลย่อมมีอำนาจให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับใบมอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีแทนได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยสั่งให้โจทก์ทำใบมอบอำนาจที่สมบูรณ์เข้ามาใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1471, 1473, 1627, 1739, 1755

การที่ ผ. เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้าน และระหว่างสงครามก็พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวไปด้วยกัน พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ผ. รับรองแล้ว ทรัพย์มรดกของ ผ. เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงเป็นการจัดการสินส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีอำนาจจัดการเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ผู้ที่จะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงน้องเจ้ามรดก ไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพราะยังมีโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่ จำเลยจะยกเอาอายุความมรดกมาต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกหาได้ไม่ เหตุที่จำเลยฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ผ.จากอ.ผู้จัดการมรดกเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ได้หายสาบสูญไปจำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยต้องออกไปตามความจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดก โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทำศพ ผ.ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าผลประโยชน์ของจำเลยนั้น จำเลยหามีสิทธิทีจะนำมาหักไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3734

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3734/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 1754 วรรคสาม

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกให้ปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์ทำไว้กับเจ้ามรดก มิใช่ฟ้องอ้างว่าเจ้ามรดกผิดสัญญาอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่มีต่อเจ้ามรดกจึงนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ไม่ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องภายใน 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3733

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3733/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 264, 265, 268, 341, 342

แม้โจทก์แยกฟ้องเป็น 3 ข้อ แต่ระบุวันเวลากระทำผิด คือระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2530 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2531เวลากลางวันจำเลยได้ทำเอกสารและเอกสารราชการปลอมและให้วันที่ 16 มกราคม 2531 เวลากลางวันจำเลยจึงนำเอกสารที่ทำปลอมดังกล่าวไปใช้แสดงเพื่อพยายามฉ้อโกง ดังนี้ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยทำเอกสารและเอกสารราชการปลอมก็เพื่อจะนำไปใช้ฉ้อโกง อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อให้ ก.หลงเชื่อว่าจำเลยคือ ค. เจ้าของเช็คเดินทาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3731

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3731/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1443, 1516 (1)

โจทก์ได้หญิงรับใช้ในบ้านโจทก์เป็นภริยามาเป็นเวลานาน ถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาอยู่ จึงมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ทำให้จำเลยซึ่งเป็นคู่หมั้น ของโจทก์ไม่สมควรสมรสกับโจทก์ จำเลยมิใช่เป็นฝ่ายผิด สัญญาหมั้น จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2533

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ม. 56, 83 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 17 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15

แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 จะมิได้บัญญัติถึงการริบรถยนต์ของกลางที่ใช้ในการกระทำผิดไว้โดยเฉพาะ แต่ถ้าได้ความว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) อันเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นได้ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกำหนด อันเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 56, 83 และขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ต้องถือว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้

การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราเป็นจำนวนมาก มีส่วนทำให้ถนนหลวงชำรุดเสียหาย รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซมเป็นจำนวนมากนั้น ก็โดยอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ได้ความจากคำฟ้อง คำรับสารภาพของจำเลยและข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป มาประกอบดุลพินิจในการสั่งริบของกลางนั่นเอง หาใช่เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86 ประมวลรัษฎากร ม. 65 ทวิ (6

กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นพยานสำคัญในการเปิดคดีแต่โจทก์กลับนำพยานอื่นสืบก่อนโดยไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นอย่างไรศาลนัดสืบพยานครั้งหลังห่างจากครั้งก่อนถึง 2 เดือนเศษ โจทก์ย่อมจะกะเวลาให้มีวันว่างตรงกันได้แต่กลับไปต่างประเทศโดยมิได้แถลงให้เห็นว่าเนื่องด้วยกิจธุระสำคัญและจำเป็นอย่างไร และจะเบิกความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแก่คดีอย่างไรพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประวิงคดี ศาลชอบที่จะสั่งงดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าวเสียได้ เอกสารรายงานการนำเข้า การซื้อ การจำหน่ายและใบเสร็จรับเงินที่บริษัท ท.ทำรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการที่รัฐบาลจะได้ควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายทองคำภายในประเทศ ปรากฏว่ามีการจำหน่ายทองคำให้แก่โจทก์ในวันที่2 ธันวาคม 2521 วันที่ 20,24 และ 26 มกราคม 2522 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์หักล้างให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นได้ทั้งโจทก์มิได้มีการลงบัญชีเกี่ยวกับทองคำที่ซื้อมาจากบริษัท ท.ทั้ง 4 รายการนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ซื้อและขายทองคำจำนวนดังกล่าวไปในวันเดียวกันดังที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน ราคาทองคำมีการขึ้นลงอยู่เสมอ เจ้าพนักงานประเมินตีราคาสินค้าคงเหลือปลายปี พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2522 ราคาทองคำกรัมละ 129,6334 บาท และ 174.8144 บาท ตามลำดับ อันเป็นการเฉลี่ยหาราคาทุนของทองคำที่โจทก์ซื้อมาทั้งปี จึงเป็นการชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295, 297 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 195, 218 วรรคแรก, 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 7

พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยในข้อหาว่าร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งเป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องผัดฟ้องจำเลยต่อศาลแขวง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดจึงชอบแล้ว แม้ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อันเป็นบทเบากว่าและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงก็ตาม เพราะเป็นกรณีที่ศาลลงโทษโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ซึ่งศาลมีอำนาจกระทำได้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ได้รับอัตรายแก่กายตามมาตรา 295 ก็เป็นการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายนั่นเอง ซึ่งเป็นบทเบากว่า ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ได้ หาเกินคำขอไม่

ข้อเท็จจริงที่ว่าการสอบสวนล่าช้าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างจึงไม่เกิดขึ้น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225

ฎีกาจำเลยที่ขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษ เป็นฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดุลพินิจในการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3718

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3718/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 86

วันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก จำเลยแถลงขอเลื่อนคดี และแถลงว่าหากนัดหน้าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยแถลงว่าไม่มีพยานมาศาล แล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเนื่องจากจำเลยแถลงว่า หากนัดนี้ไม่มีพยานมาสืบให้ถือว่าไม่ติดใจสืบ จึงถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลย คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบแล้วเพราะศาลชั้นต้นได้สั่งไปตามที่ทนายจำเลยได้แถลงรับรองไว้ในนัดแรกและในนัดนี้ทนายจำเลยก็มิได้แถลงขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุที่จำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ด้วย คำแถลงของจำเลยที่ว่า หากนัดหน้าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน นั้น มิได้หมายถึงเฉพาะพยานของฝ่ายจำเลยเท่านั้นหากแต่รวมถึงตัวจำเลยซึ่งได้อ้างตัวเองไว้เป็นพยานด้วย เพราะจะเป็นตัวจำเลยหรือพยานของจำเลยก็จะต้องเรียกว่าพยานฝ่ายจำเลยอยู่นั่นเอง

« »
ติดต่อเราทาง LINE