สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295, 297 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 195, 218 วรรคแรก, 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 7

พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยในข้อหาว่าร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งเป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องผัดฟ้องจำเลยต่อศาลแขวง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดจึงชอบแล้ว แม้ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อันเป็นบทเบากว่าและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงก็ตาม เพราะเป็นกรณีที่ศาลลงโทษโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ซึ่งศาลมีอำนาจกระทำได้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ได้รับอัตรายแก่กายตามมาตรา 295 ก็เป็นการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายนั่นเอง ซึ่งเป็นบทเบากว่า ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ได้ หาเกินคำขอไม่

ข้อเท็จจริงที่ว่าการสอบสวนล่าช้าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างจึงไม่เกิดขึ้น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225

ฎีกาจำเลยที่ขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษ เป็นฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดุลพินิจในการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำร้ายร่างกายนายบุญมาก หอมพันธุ์ ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗, ๘๓

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ จำคุกคนละ ๒ เดือน

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๑ ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาในข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ซึ่งความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง พนักงานสอบสวนจะต้องผัดฟ้องภายใน ๗๒ ชั่วโมง นับแต่เวลาถึงที่คุมขังและโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา แต่โจทก์กลับนำจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟ้องต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการสอบสวนคดีนี้พนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส ซึ่งคดีอาญาในความผิดฐานนี้เกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด ฉะนั้นพนักงานสอบสอนจึงไม่จำต้องผัดฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงชอบแล้ว แม้ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ซึ่งเป็นบทเบากว่าและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ศาลลงโทษโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเท่านั้น ศาลมีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเช่นนั้นได้ จึงหาทำให้ฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบดังจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาไม่

ปัญหาต่อไปที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาในข้อกฎหมายว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ ประกอบด้วย มาตรา ๘๓ แต่โจทก์มิได้อ้าง มาตรา ๒๙๕ มาในคำขอท้ายฟ้อง จึงลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕ ไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นความผิดเพียงทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกินอันตรายแก่กาย เพราะบาดแผลของผู้เสียหายไม่ถึงสาหัสซึ่งก็เป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายนั้นเองแต่เป็นบทเบากว่า กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายด้วย ดังนี้ ศาลจึงมีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ได้ หาเกินคำขอไม่ ฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อกฎหมายต่อไปที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาตามข้อ ค. ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนโดยรีบด่วน เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๙ แต่รายงานการตรวจชันสูตรบาดแผล เอกสารหมาย จ.๑ ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๙ ระยะเวลาห่างกันถึง ๔ เดือนเศษ จนบาดแผลของผู้เสียหายได้หายแล้ว การวินิจฉัยของแพทย์ล่วงเลยระยะเวลามานาน การสอบสวนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ว่าการสอบสวนล่าช้านั้น ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยกขึ้นอ้างจึงไม่เกิดขึ้น ฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ สถานเบา และรอการลงโทษนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ฉะนั้น จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก ฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในข้อสุดท้ายนี้ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้เช่นกัน

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล. - นายหยด ฤทธิเหิม กับพวก

ชื่อองค์คณะ ปรีชา ธนานันท์ พิชิต พรหมพิทักษ์กุล บุญศรี กอบบุญ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา - นายเกรียงศักดิ์ คงผล ศาลอุทธรณ์ - นายมีพาศน์ โปตระนันทน์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE