คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1337

การที่เรือนโรงของจำเลยปลูกอยู่ในที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งอยู่ระหว่างหน้าที่ดินโจทก์กับคลอง มิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ ทั้งมีมาก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินนั้นมา แม้โจทก์จะมีอาชีพทำประมง แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ก็ยังสามารถนำเรือประมงเข้าออกที่ดินของโจทก์ได้พฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496

เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิที่จะร้องต่อศาลให้พิจารณาและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ไม้แปรรูปและเครื่องใช้ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้มาและมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองซื้อไม้แปรรูปจากโรงเลื่อยจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายและเครื่องใช้ดังกล่าวก็ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ จึงเป็นความผิดร้ายแรงสมควรแก่การกำราบปราบปราม การที่จำเลยมีไม้แปรรูป ปริมาตร 16.68 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 21.590 แผ่น ซึ่งเป็นไม้ที่มีจำนวนมากและสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นโดยผิดกฎหมายไว้ในครอบครองนับได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอันมีลักษณะร้ายแรงดังนี้ ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3380

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3380/2533

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 9

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงกันว่า จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 290,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็นงวด หากผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ ถ้าจำเลยชำระหนี้ครบถ้วนก็ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลย เมื่อจำเลยผิดนัดและส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์แล้ว จึงไม่มีหนี้ที่จะบังคับคดีต่อไป โจทก์จะถือเอาจำนวนเงินในสัญญายอมจำนวน 240,000 บาท มาอ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวยังไม่ได้ เพราะหากพิพาทกันในชั้นบังคับคดีต่อไปก็ยังไม่แน่นอนว่าจำเลยจะอ้างชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์อาจต้องยอมรับรถคืนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 291

จำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงปราศจากความระมัดระวัง เมื่อจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์แซงรถยนต์ปิกอัพแล้วหากจำเลยต้องการจะแซงรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับขี่ จำเลยสามารถที่จะแซงได้ทันทีเพราะขณะนั้นบนถนนไม่มีรถแล่นสวนมาแต่การที่จำเลยไม่แซงทันทีโดยปักปาดหน้ารถยนต์ปิกอัพเข้าทางด้านซ้ายเสียก่อนแล้วจึงหักออกทางด้านขวาเพื่อแซงรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับขี่อีกนั้น เป็นการกระทำที่อาจเกิดอันตรายได้เนื่องจากระยะห่างระหว่างรถยนต์ปิกอัพกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับขี่นั้นมีเพียงไม่เกิน 15 เมตร น้อยเกินไปกว่าที่จำเลยจะกระทำเช่นนั้นได้ และการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันชนกันล้มกลิ้งครูดไปตามถนน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 583 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49, 54

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวิธีจับสลากเพื่อคัดเลือกพนักงานที่ต้องพ้นหน้าที่ไป มิใช่เนื่องจากมีพนักงานมากเกินความจำเป็น แต่มีสาเหตุเนื่องจากจำเลยไม่พอใจสามีโจทก์ที่เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานปากกาไพล๊อต จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยอุทธรณ์ว่า ในการวินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาตามข้อต่อสู้ของจำเลยก่อนว่ามีเหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์อย่างไรหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยข้อกล่าวอ้างของโจทก์ก่อน และวินิจฉัยแต่เพียงคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานเอกสารของโจทก์เท่านั้น ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยว่า การจับสลากนั้นจำเลยใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์อย่างไรหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อข้อเท็จจริง และเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานฝ่ายใด และปรากฏจากคำเบิกความของพยานจำเลยว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ ข้อเท็จจริงจึงสรุปได้เป็นยุติว่า จำเลยจำเป็นต้นลดจำนวนพนักงานในหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน ซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ด้วยวิธีจับสลากนั้น อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 287

จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสี่โดยจำเลยยินยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่ แต่จำเลยมิได้ขอเอาหนี้ตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะต่อโจทก์ที่ 4 มาขอหักกลบลบหนี้ด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของรวมซึ่งต่างมีส่วนในหุ้นพิพาท และมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ ดังนั้นแม้ว่าจำเลยชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยได้ก็ตามแต่จำเลยหามีสิทธิบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3350/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224 วรรคแรก, 420, 575 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 177 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8, 31

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นลูกจ้างและกรรมการบริษัทโจทก์โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ ในชั้นพิจารณาจำเลยก็เบิกความว่าจำเลยเคยเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและตามทางนำสืบของจำเลยจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงาน โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าโจทก์โดยผิดขั้นตอนหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติ และจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า 9 ราย รวมเป็นเงิน16,300,000 บาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน 9 แปลง ตีราคาตามราคาประเมินได้ราคาไม่คุ้มหนี้ ลูกค้าทั้ง 9 ราย จึงไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา โจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกค้าทั้ง 9 รายเพียง 31,041.09 บาท ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ลูกค้าค้างชำระคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์รวมตลอดถึงค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับโดยชัดแจ้งแล้วหาใช่เป็นกรณีที่ความเสียหายยังไม่เกิดและไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายไม่ จำเลยอนุมัติให้ลูกค้ากู้เงินโดยผิดระเบียบ โดยมีที่ดินจำนองไว้เป็นประกันตีราคาตามราคาประเมิน แต่ที่ดินอาจจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อมีการบังคับจำนอง ราคาประเมินที่โจทก์กล่าวอ้างจึงไม่ใช่ราคาที่แท้จริงในการประเมินค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับราคาประเมิน แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่ได้บังคับชำระหนี้จากตัวลูกหนี้และหลักประกัน จึงไม่อาจทราบความเสียหายที่แท้จริงได้ ดังนั้นถ้ามีการบังคับจำนองที่ดินที่เป็นหลักประกันได้ราคาที่ดินมามากกว่าราคาประเมินตามฟ้องโจทก์ ราคาที่ดินส่วนที่มากกว่านี้ย่อมเป็นคุณแก่จำเลย ต้องนำมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ด้วย โจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นค่าเสียหายที่เป็นหนี้เงินตามจำนวนที่จำเลยให้ลูกค้ากู้ยืมโดยฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก คืออัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี มิใช่ดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากลูกค้าของโจทก์ตามสัญญากู้ในทางการค้าของโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 45

คดีแรงงานโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือให้รับกลับเข้าทำงาน ตามกฎหมายแรงงาน กับเรียกร้องเงินทุนเลี้ยงชีพตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือทรัพย์สินหรือราคาที่สูญหายไปเนื่องจากการกระทำผิดอาญาไม่ แม้โจทก์ถูกดำเนิน คดีอาญาในความผิดฐาน ทุจริตยักยอกทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับที่จำเลยอ้างเป็นเหตุในการเลิกจ้างโจทก์ ก็ไม่ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลแรงงานกลาง มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทุจริตยักยอกเงินของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่ โดยไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3321

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3321/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 295, 297, 391 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 215

แม้โจทก์จะมิได้ยกเหตุที่จำเลยกับพวกวิ่งไล่ทำร้ายโจทก์ร่วมขึ้นอ้างในอุทธรณ์ว่าเป็นการชี้เจตนาของจำเลยว่ายอมรับเอาผลการกระทำ ของพวกจำเลยมาเป็นการกระทำของตนเอง จำเลยจึงเป็นตัวการในการกระทำความผิดด้วย แต่โจทก์ก็อุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดฐาน เป็นตัวการ การที่ศาลอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตามคำเบิกความของพยาน เพื่อชี้ให้เห็นว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการด้วยจึงเป็นการวินิจฉัยตามคำฟ้องอุทธรณ์ จำเลยชกที่กก หูของ ส. โจทก์ร่วม 1 ที แล้วพวกของจำเลยวิ่งเข้ามาทำร้ายพวกโจทก์ร่วม โดยใช้มีดฟันและใช้ขวดตี เป็นเหตุให้ค.โจทก์ร่วมอีกคนหนึ่งได้รับอันตรายแก่กายสาหัสส.และพ.โจทก์ร่วม ได้รับอันตรายแก่กาย โดยจำเลยกับพวกมิได้นัดหมายให้ช่วยกันทำร้าย หรือจำเลยบอกให้พวกทำร้ายโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ร่วมบางคนวิ่งหนีจำเลยหรือพวกจำเลยก็มิได้เข้าไปทำร้ายซ้ำเติมค. โจทก์ร่วมซึ่งได้รับบาดเจ็บนอนอยู่หน้าร้านจำเลยอีก แต่วิ่งออกจากร้านตาม พ. และพวกโจทก์ร่วมไปโดยมิได้แสดงท่าทางว่าจะทำร้ายอีกแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 เท่านั้น

« »
ติดต่อเราทาง LINE