คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5250/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 899, 900 วรรคแรก, 905, 916, 989
เช็คผู้ถือมีรายการครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แม้จะมีข้อความอื่นบันทึกไว้ด้านหลังเช็คและถูกขีดฆ่าก่อนที่โจทก์ได้รับมา ข้อความดังกล่าวก็หามีผลกระทบต่อเช็คไม่ และถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เช็คมาโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์เป็นธนาคารได้รับเช็คจากลูกค้าเพื่อชำระหนี้ตามปกติทางการค้า หาจำต้องมีหน้าที่ตรวจสอบถึงที่มาหรือฐานะของผู้สั่งจ่ายเช็คไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์คบคิดกับลูกค้าฉ้อฉลจำเลย จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 107, 1471 (1), 1474 (1)
จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านพิพาทบนที่ดินส่วนตัวของตน แม้สามีจะช่วยออกเงินในการปลูกสร้างด้วยถึงหนึ่งในสาม แต่ตามพฤติการณ์เป็นการช่วยเหลือกันฉันสามีภริยา หาใช่เป็นการร่วมลงทุนปลูกบ้านพิพาทด้วยไม่ ดังนี้บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านพิพาทในระหว่างสมรสจึงไม่ทำให้บ้านพิพาทเป็นสินสมรสอันจะเป็นทรัพย์มรดกของสามีครึ่งหนึ่งด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (4), 84, 156 วรรคสี่, 156 วรรคห้า
คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าผู้ขอเป็นคนยากจน คู่ความย่อมอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ จำเลยยื่นคำร้องขอนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าจำเลยยากจน แต่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องและคำให้การแล้วว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนของจำเลยให้โจทก์ในราคาสูงถึง 977,450 บาท ดังนี้แม้จำเลยจะมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดก็ไม่อาจรับฟังหักล้างข้อเท็จจริงที่ยุติดังกล่าวแล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะยกคำร้องของจำเลยเสียได้โดยไม่ต้องไต่สวน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 702, 703, 705, 716, 717, 744 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 246
ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นคนละแปลงกับที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 408 ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 408 ที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองและนำยึดไว้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของผู้ร้องเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.3เลขที่ 408 จึงเป็นการมิชอบ ที่ดินพิพาทมีโฉนดของผู้ร้องเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส.3เลขที่ 408 ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับจำนองไว้โดยชอบในขณะที่มี น.ส.3เป็นหลักฐานโดยมีชื่อผู้จำนองเป็นเจ้าของ การจำนองยังไม่ระงับสิ้นไปโจทก์ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองเอากับที่ดินทั้งสองแปลงได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 744 และ 702 วรรคสอง การที่ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในภายหลังแม้จะได้มาโดยสุจริตก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมเสียไป.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299
จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจาก ว. เมื่อปี 2516 แล้วจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ซื้อมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลา 10 ปีเศษแล้ว โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากส. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2523 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2527 เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินมานั้นโจทก์เห็นจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอยู่แล้ว โจทก์ควรต้องสอบถามให้แน่นอนว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะอะไร ตอนไปจดทะเบียนโจทก์ก็ตอบคำถามของเจ้าพนักงานโดยปิดบังว่าบนที่ดินพิพาทไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงคำถามต่อไปว่าสิ่งปลูกสร้างเป็นของใคร ทำให้โจทก์จดทะเบียนไปได้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของมานานแล้ว การที่โจทก์ตัดสินใจซื้อก็เพราะเชื่อว่าสามารถใช้สิทธิทางทะเบียนห้ามจำเลยต่อสู้ได้การกระทำของโจทก์จึงเป็นการไม่สุจริต ดังนี้ แม้โจทก์จะเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมสามารถอ้างบทกฎหมายดังกล่าวยันโจทก์ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321 วรรคแรก, 656 วรรคสอง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยอมให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ยังค้างชำระทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้วด้วยไก่ การที่โจทก์รับเอาไก่ของจำเลยไว้ย่อมแปลความหมายได้ว่า โจทก์พอใจรับเอาไก่ของจำเลยชำระหนี้แทนเงินที่จำเลยกู้ยืมไป และคิดราคาไก่ตามราคาท้องตลาดการชำระหนี้ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรคสอง ทำให้หนี้เงินกู้ยืมเป็นอันระงับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 176, 185
จำเลยที่ 1 แถลงรับแต่เพียงว่าได้มีการลงข้อความประกาศโฆษณาตามที่โจทก์อ้างในฟ้องในหนังสือพิมพ์จริงเท่านั้น มิได้ยอมรับว่าเป็นผู้ให้ข่าวนั้นแก่หนังสือพิมพ์ หรือได้ร่วมกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ลงข่าวดังกล่าวเพื่อใส่ความโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงข่าวในหนังสือพิมพ์ใส่ความโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ โจทก์มีหน้าที่จะต้องนำสืบพิสูจน์และนำข้อเท็จจริงมาสู่ศาลเพื่อให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 173, 1375, 1381
แม้ฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ การที่จำเลยทำการปลูกมะพร้าวในที่พิพาทนับร้อยต้น ย่อมแสดงว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ มีลักษณะเป็นการแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยปลูกต้นมะพร้าวในที่พิพาทตั้งแต่ก่อนกลางปี พ.ศ. 2525โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2526 จึงเกิน 1 ปีนับแต่จำเลยแย่งการครอบครอง แม้ฟังว่าพนักงานโจทก์เคยไปที่พิพาทพบน้องสาวจำเลย น้องสาวจำเลยไม่ยอมบอกว่ากระต๊อบที่จำเลยปลูกในที่พิพาทเป็นของใครและไม่ยอมบอกว่าใครเป็นคนปลูกมะพร้าว น้องสาวจำเลยยังบอกด้วยว่าตนมาอาศัยเลี้ยงหอย เท่านั้น การกระทำของน้องสาวย่อมมิใช่การกระทำของจำเลย จะถือว่าจำเลยไม่กล้าเปิดเผยเจตนาแย่งการครอบครองและยอมรับอำนาจในการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ย่อมมิได้ ทั้งการแย่งการครอบครองนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่มีการแสดงเจตนาเป็นเจ้าของ จะเป็นไปโดยเปิดเผยหรือไม่ ย่อมมิใช่ข้อสำคัญ จำเลยมิได้ครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์หรือน้องสาวของจำเลยมาก่อน จำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ ทั้งในการแย่งการครอบครอง ไม่จำเป็นที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินจะต้องทราบว่าตนเองถูกแย่งการครอบครอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223, 420, 442, 850, 852
จำเลยซึ่งเป็นสุขาภิบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาสะพานให้มีความมั่นคงแข็งแรงและเรียบร้อย เพื่อให้บริการสาธารณูปโภคแก่ประชาชนและผู้ขับรถยนต์ที่สัญจรไปมา การที่จำเลยปล่อยปละละเลยไม่แสดงป้ายห้ามรถยนต์บรรทุกหนักผ่านข้ามสะพาน จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ ส. ลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อมีน้ำหนัก 9 ตัน และบรรทุกรำหนัก 7,230 กิโลกรัมผ่านสะพานไม้ดังกล่าวซึ่งบุคคลทั่วไปเห็นสภาพแล้วย่อมจะไม่แน่ใจว่าจะรับน้ำหนักรถและสิ่งของที่บรรทุกรวมกันประมาณ 16 ตัน ได้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างมากของ ส. อยู่ด้วยและตามพฤติการณ์ ส. มีส่วนประมาทมากกว่า สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความเพียงว่า ส.ลูกจ้างโจทก์ตกลงกับกรรมการของจำเลยว่า ส. จะทำสะพานใหม่ได้ ไม่มีข้อความที่แสดงว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่เป็นสัญญาข้อตกลงระงับหนี้ละเมิดแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างยังคงต้องรับผิดในมูลละเมิดต่อกันอยู่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5208/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 206, 224, 420, 443
ในกรณีที่จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายและโจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เมื่อศาลใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะเป็นกำหนดเวลาแน่นอน และคำนวณเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้ว หนี้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ในอนาคต แต่เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระทันที จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด.