คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27

จำเลยเป็นผู้นำคำให้การซึ่งทนายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำให้การและในฐานะผู้เรียงและพิมพ์ไว้มายื่นต่อศาล โดยไม่มีใบแต่งทนายความลงลายมือชื่อจำเลยและทนายจำเลยมายื่นต่อศาล ภายในกำหนดเวลายื่นคำให้การ ทนายจำเลยพึ่งยื่นคำร้องแจ้งเหตุบกพร่องต่อศาล พร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว แต่ศาลชั้นต้นก็สั่งรับใบแต่งทนายความไว้พฤติการณ์ดังกล่าวกระทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยได้ตั้งแต่ง ทนายจำเลยในคดีนี้ไว้แล้วจริง แม้ใบแต่งทนายความไม่ได้ยื่นต่อศาลในวันที่จำเลยนำคำให้การมายื่น ศาลก็มีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขจัดทำเสียให้เป็นการถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้แต่งตั้งทนายจำเลยในวันที่ยื่นใบแต่งทนายความแล้วจึงถือว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้โดยชอบแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5268

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5268/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 138 วรรคแรก, 861, 862, 865, 889

ช. ป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังอยู่ในขณะที่ทำคำขอเอาประกันชีวิตแต่ ช. กลับระบุในคำขอดังกล่าวว่าตนสุขภาพสมบูรณ์ดี ในระหว่างสองปีที่แล้วมาไม่เคยเข้าสถานพยาบาลทำการรักษาตัวความจริงเกี่ยวกับสุขภาพของ ช. ดังกล่าวเป็นข้อสำคัญสำหรับประกอบการวินิจฉัยของจำเลยผู้รับประกันภัยว่าจะรับประกันชีวิตหรือไม่ เมื่อ ช. ปกปิดข้อความจริงดังกล่าว สัญญาประกันชีวิตช. จึงเป็นโมฆียะ และข้อความจริงดังกล่าวมิใช่เรื่องที่ตัวแทนของจำเลยจะรู้ได้เอง จึงถือไม่ได้ว่าตัวแทนของจำเลยรู้หรือจำเลยควรจะรู้หากใช้ความระมัดระวัง จำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 แล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 420

พนักงานสอบสวนพบรอยห้ามล้อท้าย รถยนต์ ของ โจทก์ที่ 2 ยาวประมาณ30 เมตร แสดงว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ขับรถมาด้วยความเร็วสูงเพราะแม้ห้ามล้อห่างถึง 30 เมตรก็ยังไม่สามารถหยุดรถได้โดยปลอดภัยการที่โจทก์ที่ 2 ห้ามล้อรถของตนถึง 30 เมตรยังแสดงว่าเห็นรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ห่างกว่า 30 เมตร พนักงานสอบสวนเบิกความด้วยว่าตามสภาพที่เห็นมีทางเป็นไปได้ว่ามีกองไฟก่อด้วยกิ่งไม้อยู่ทางด้านหลังรถยนต์บรรทุก โจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกและรถยนต์เล็กเปิดไฟสูงแล่นสวนทางมา พอไฟจางจึงเห็นรถจำเลยที่ 1 จอดอยู่ข้างหน้า การที่โจทก์ที่ 2 ไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าได้พอแก่ความปลอดภัย โจทก์ที่ 2 ควรลดความเร็วลงแต่โจทก์ที่ 2 กลับขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2ชนท้าย รถยนต์ บรรทุกของจำเลยที่ 1 ที่จอดอยู่โดยได้ทำสัญญาณรถเสียไว้แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังของโจทก์ที่ 2 ฝ่ายเดียว และมิใช่เหตุสุดวิสัยเพราะกรณีดังกล่าวสามารถที่จะป้องกันมิให้เกิดเหตุได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263 - 5264/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. , 420

พนักงานสอบสวนพบรอยห้ามล้อท้าย รถยนต์ ของ โจทก์ที่ 2 ยาวประมาณ30 เมตร แสดงว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ขับรถมาด้วยความเร็วสูงเพราะแม้ห้ามล้อห่างถึง 30 เมตรก็ยังไม่สามารถหยุดรถได้โดยปลอดภัยการที่โจทก์ที่ 2 ห้ามล้อรถของตนถึง 30 เมตรยังแสดงว่าเห็นรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ห่างกว่า 30 เมตร พนักงานสอบสวนเบิกความด้วยว่าตามสภาพที่เห็นมีทางเป็นไปได้ว่ามีกองไฟก่อด้วยกิ่งไม้อยู่ทางด้านหลังรถยนต์ บรรทุก โจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกและรถยนต์เล็กเปิดไฟสูงแล่นสวนทางมา พอไฟจางจึงเห็นรถจำเลยที่ 1 จอดอยู่ข้างหน้า การที่โจทก์ที่ 2 ไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าได้พอแก่ความปลอดภัย โจทก์ที่ 2 ควรลดความเร็วลงแต่โจทก์ที่ 2 กลับขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2ชนท้าย รถยนต์ บรรทุกของจำเลยที่ 1 ที่จอดอยู่โดยได้ทำสัญญาณรถเสียไว้แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังของโจทก์ที่ 2 ฝ่ายเดียว และมิใช่เหตุสุดวิสัยเพราะกรณีดังกล่าวสามารถที่จะป้องกันมิให้เกิดเหตุได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 143, 276 วรรคสาม

ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมและจำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คือได้ร่วมกับโจทก์นำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารให้โจทก์ 7 ล้านบาท โดยตกลงกันว่า เมื่อโจทก์ประสงค์จะถอนเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ จำเลยจะต้องร่วมลงลายมือชื่อถอนเงินนั้น เมื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้มีข้อความที่แสดงว่าคู่กรณีตกลงให้จำเลยควบคุมการใช้เงินของโจทก์ ดังนี้ จำเลยจะไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินโดยอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งจุดประสงค์ในการใช้เงินให้จำเลยทราบตามเจตนารมณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ และกรณีนี้จำเลยจะต้องชำระหนี้ด้วยการร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์ถอนเงินจากธนาคาร อันเป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่งศาลจึงมีอำนาจสั่งบังคับว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ ไม่เป็นการสั่งนอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความหรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาตามยอม.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 900, 914, 989, 1077, 1087 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 225, 247

ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุม จำเลยมิได้อุทธรณ์เป็นประเด็นไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์และไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงมูลหนี้ซื้อขายเดิม และมูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้ราคาสินค้านั้นให้แก่โจทก์ด้วยดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์ แต่เมื่อจำเลยในฐานะส่วนตัวได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คก็ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5242

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5242/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 509, 510 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296

การขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาททุกครั้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลสู้ราคาทราบก่อนขายทอดตลาดว่าเมื่อมีผู้ให้ราคาสูงสุดแล้วจะนับหนึ่งถึงสามก่อนเคาะไม้ตกลงขายแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้วิธีเสนอให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้อนุญาตให้ขาย เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายจึงตกลงขายให้ หากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตก็จะประกาศขายทอดตลาดใหม่ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ผู้ให้ราคาสูงสุดแล้ว การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา เมื่อมีผู้ให้ราคาสูงสุดก็ได้รายงานศาลเพื่อให้พิจารณาว่า สมควรขายให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุดหรือไม่ เมื่อไม่มีพฤติการณ์ส่อให้ศาลเห็นว่าการประมูลซื้อทรัพย์ที่ขายทอดตลาดรายนี้ เป็นการสมรู้กันกดราคาซื้อจึงมีคำสั่งอนุญาตขายให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด ถือว่าการขายทอดตลาดเป็นอันสมบูรณ์แล้ว จำเลยที่ 2 จะมาขอให้ยกเลิกการขายและขายทอดตลาดใหม่ไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1012, 1356, 1452, 1457

โจทก์จำเลยต่างมีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้มาอยู่กินฉันสามีภริยาและช่วยกันประกอบอาชีพขับรถรับส่งผู้โดยสารทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ในระหว่างนั้นเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกันคนละเท่า ๆ กัน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งส่วนของโจทก์จากจำเลยได้ และแม้ทรัพย์สินดังกล่าวจะเกิดขึ้นในขณะที่โจทก์จำเลยอยู่ร่วมกันโดยยังมิได้ขาดจากการสมรสอยู่กับคู่สมรสเดิมก็หาเป็นเหตุขัดข้องในการขอแบ่งไม่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยหาใช่เป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5251

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5251/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352

โจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ร่วมตามราคาในสลาก จำเลยย่อมมีอิสระที่จะขายสลากแก่ผู้ใดในราคาใดหรือราคาสูงกว่าราคาในสลากก็ได้ โจทก์ร่วมหาได้สนใจการจำหน่ายของจำเลยไม่ คงคำนึงแต่เพียงว่าเมื่อถึงกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าสลากมาชำระให้เท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยขายสลากอย่างเป็นของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ และการที่มีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน30 บาท ต่อการขายสลาก 1 เล่ม ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่นำเงินค่าสลากมาชำระให้โจทก์ร่วมจึงเป็นเรื่องผิดข้อตกลงในทางแพ่ง มิใช่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5160

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5160/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 193 ทวิ, 194 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 242 (1)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอก ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า บ้านที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยยักยอกนั้น จำเลยได้รับยกให้จากบิดาตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ แม้การยกให้ดังกล่าวจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ เท่ากับศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์ตามที่โจทก์กล่าวหา ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การยกให้มิได้ทำตามแบบจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทนั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย.

« »
ติดต่อเราทาง LINE