คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5320/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 183 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1599, 1605
ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อนตามภาระการพิสูจน์เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ปรากฏตามข้ออ้างของตน โจทก์ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีโดยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5315/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1726 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 242, 247
ศาลตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งสองจะต้องจัดการมรดกร่วมกัน การดำเนินคดีในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดก เมื่อโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 2 ผู้เดียวจะอุทธรณ์และฎีกาในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5313/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 650 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นหนี้เงินยืม หนี้ค่าน้ำมันและหนี้อื่น ๆ ต่อโจทก์ รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ต่อมาจำเลยทำสัญญากู้ให้แก่โจทก์จำนวน 140,000 บาท จำเลยได้รับเงินไปแล้วโดยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ปรากฏตามสัญญากู้ท้ายฟ้อง ครั้นหนี้ถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 232,400 บาท ดังนี้ ฟ้องของโจทก์แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เนื่องจากมูลหนี้ใดบ้าง เมื่อรวมหนี้ทุกประเภทจนถึงวันฟ้อง จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อีกเท่าใด เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นการถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เดิมจำเลยเป็นหนี้เงินยืมและหนี้อื่น ๆ ต่อโจทก์จำนวน140,000 บาท ต่อมาจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินระบุหนี้เป็นจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ กรณีเป็นการที่คู่สัญญาเปลี่ยนข้อผูกพันจากหนี้อื่น และหนี้เงินยืมมารวมผูกพันกันในลักษณะกู้ยืมตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นไว้สัญญากู้จึงผูกพันจำเลยโดยบริบูรณ์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5310/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295, 297 (8) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
ข้อเท็จจริงปรากฏในการพิจารณาว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297(8) ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องย่อมลงโทษจำเลยตาม มาตรา 295 ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 66 วรรคสอง
จำเลยที่ 3 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 บุคคลทั้งสองเป็นชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกัน ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ไปพบปะพูดกับจำเลยที่ 1 ด้วยกันเมื่อจำเลยที่ 2รับห่อเฮโรอีนจากจำเลยที่ 1 ใส่ถุงกระดาษถือมาที่ห้างสรรพสินค้าเที่ยวแรกแล้วจำเลยที่ 2 ก็ส่งให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้เปิดดูแล้วคล้อง ถุงกระดาษไว้กับรถเข็นเด็กซึ่งมีบุตรนั่งอยู่พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 655 วรรคสอง, 859 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 149, 161 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94
เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้วลูกหนี้ยังคงนำเงินเข้าบัญชีและเบิกเงินไปจากบัญชี ถือว่าได้มีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปโดยไม่มีกำหนด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันเลิกสัญญา เจ้าหนี้ได้ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน 30 วัน ลูกหนี้ได้รับหนังสือบอกกล่าวในวันที่ 29 มิถุนายน 2528 จึงถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 เมื่อเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้ เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 149 ซึ่งเป็นความรับผิดที่โจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องจะต้องชำระต่อศาล ยังไม่เกิดมูลหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาและให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แล้วจำเลยจึงจะมีความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมตามมาตรา 161มูลหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นตามคำพิพากษา หาใช่เกิดขึ้นเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีไม่ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำค่าฤชาธรรมเนียมมาขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5283/2533
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ม. 53, 54
พฤติการณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่ปรากฏในคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท มิใช่เรื่องเช่าทรัพย์สิน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าโจทก์เช่านาจากจำเลย ก็ไม่มีผลเป็นการเช่าที่พิพาท เมื่อโจทก์มิใช่ผู้เช่าที่ดินพิพาท จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53,54 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 1077, 1087 ประมวลรัษฎากร ม. 30, 89 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2
การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินราคาชิ้นส่วนสินค้าตู้เครื่องรับโทรทัศน์พร้อมหลอดภาพที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเทียบเคียง ราคากับบัตรราคาเครื่องรับโทรทัศน์ครบชุดชนิดเดียวกันที่นำเข้ามาภายหลังประมาณ 2 ปีนั้น มิใช่ราคาณ เวลาที่นำของเข้าและเป็นของชนิดเดียวกัน และการที่เจ้าพนักงานของโจทก์กำหนดราคาสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนร้อยละ40 ของราคาสินค้าครบชุดโดยไม่มีกฎเกณฑ์ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดถือไม่ได้ว่าราคาที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ประเมินเพิ่มนั้นจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติและจำเลยที่ 1จะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077,1087 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ หากผู้ประกอบการค้าไม่ชำระภาษีการค้าภายในกำหนดเวลาก็ต้องชำระเงินเพิ่มตามอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นทางแก้กรณีลูกหนี้ผิดนัดโดยเฉพาะแล้ว จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกไม่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5265/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 237, 543 (3), 544
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าช่วงอาคารที่กำลังก่อสร้างรวม 3 คูหาให้แก่โจทก์ โจทก์ชำระราคาครบถ้วนในวันทำสัญญา ในระหว่างการก่อสร้างยังไม่เสร็จ จำเลยที่ 1 ได้เอาสิทธิการเช่าช่วงที่ได้ขายให้โจทก์แล้วนั้นไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งสามคูหาโดยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิการเช่าได้ทำสัญญาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงอาคารไปแล้ว 2 คูหาโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 อ้างว่าเป็นนิติกรรมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลที่โจทก์ขอเพิกถอนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่ตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ที่จะฟ้องขอเพิกถอนได้คือเจ้าหนี้โดยฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำกับบุคคลที่สาม จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 หาใช่ลูกหนี้ของโจทก์ไม่นิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่การฉ้อฉลที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ ตามมาตรา 237 แม้โจทก์จะทำหนังสือสัญญารับโอนสิทธิการเช่าช่วงอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 2 แต่ขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับโอนสิทธิการเช่าช่วงอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญารับโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 1 ไว้ก่อนแล้วจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนสิทธิการเช่าช่วงจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต และได้ความด้วยว่าจำเลยที่ 2 ได้เสียเงินกินเปล่าให้จำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เสียเงินไปกว่า 2 ล้านบาท จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองอาคารพิพาทแล้ว จึงมีสิทธิในอาคารพิพาทดีกว่าโจทก์แม้ต่อมาโจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 กับ ส. กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และได้ร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นได้สั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมผูกพันหรือเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิทธิการเช่าช่างอาคารพิพาทและฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามรู้ถึงคำสั่งห้ามชั่วคราวแล้ว จำเลยที่ 2 ยังได้ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนเช่าช่วงอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 3 ก็ถือไม่ได้ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวกระทำไปโดยใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะจำเลยที่ 2 มีสิทธิในอาคารพิพาทดีกว่าโจทก์อยู่แล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าช่วงอาคารพิพาทนั้นก็เป็นการจดทะเบียนให้แก่ผู้มีสิทธิดีกว่าโจทก์ สัญญาเช่าช่วงดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาที่กระทำโดยไม่สุจริต อันโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 525 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 57 (2)
ขณะโจทก์ที่ 1 เสนอคำฟ้องต่อศาล โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองผู้กระทำละเมิด แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้วโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทยกให้โจทก์ที่ 2 อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์ที่ 2 ผู้รับโอนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 57(2).