คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5342/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 119 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2532 ม. 4
กรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลสั่งปรับผู้ประกัน ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ประกันจะฎีกาไม่ได้ เพราะคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5358/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148, 249 วรรคสอง
ปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำแม้คู่ความไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์และโจทก์ไม่ได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเอง ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกให้แก่จำเลยคดีนี้จำนวน 2 ไร่ 2 งาน คดีถึงที่สุด ปัญหาที่ว่าจำเลยมีสิทธิได้รับแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนเนื้อที่เท่าใดจึงเป็นประเด็นแห่งคดีในคดีก่อน ในชั้นบังคับคดีของคดีก่อนโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขหมายบังคับคดีและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเฉลี่ยลดเนื้อที่ลงตามส่วนเพราะเนื้อที่ดินมรดกขาดไป 239 ตารางวาศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้การที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นบังคับคดีในคดีก่อนแล้ว กลับนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้โดยมีประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์ จำนวน 2 ไร่ 2 งานเต็มตามคำพิพากษาในคดีก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อนของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 264 วรรคแรก, 266 (4), 268, 341, 342
จำเลยที่ 1 กับพวกปลอมหนังสือเดินทางและเช็คเดินทางรวม 12 ฉบับแล้วแยกนำไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารต่าง ๆ รวม 4 ธนาคารในคราวเดียวกันในแต่ละธนาคาร โดยมีเจตนาเพียงประการเดียวเพื่อฉ้อโกงเงินจากธนาคารแต่ละธนาคารด้วยการขอแลกเงินตามเช็คเดินทางปลอมนั้นให้ได้ ความผิดข้อหาปลอมหนังสือเดินทางและเช็คเดินทางกับใช้เอกสารปลอมดังกล่าวแต่ละครั้งในแต่ละธนาคาร จึงเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษข้อหาใช้เช็คเดินทางปลอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่จำเลยที่ 1ได้ใช้เช็คเดินทางปลอมดังกล่าวที่ธนาคารต่าง ๆ รวม 4 ธนาคารการกระทำความผิดในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมรวม 4 กรรม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2533
พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ม. 44 (7), 71, 76 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 83, 86
ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 44(7),71และมาตรา 76 ได้บัญญัติเอาผิดและลงโทษแก่โรงงานและผู้แทนนิติบุคคลที่ขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงานโดยฝ่าฝืนระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเมื่อปรากฏว่า จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของม. เจ้าของรถยนต์บรรทุกคันที่บรรทุกน้ำตาลทรายออกนอกบริเวณโรงงาน จำเลยจึงมิใช่โรงงานหรือบุคคลที่กฎหมายระบุให้ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดเช่นเดียวกับนิติบุคคลซึ่งได้กระทำความผิด จำเลยย่อมขาดลักษณะหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิด จึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับโรงงานได้ การที่จะลงโทษบุคคลฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดใดจะต้องได้ความว่าบุคคลนั้นมีเจตนาที่จะสนับสนุนการกระทำความผิดนั้น โดยรู้ว่าตนได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด การขนย้ายน้ำตาลทรายออกนอกบริเวณโรงงานมิใช่เป็นการกระทำผิดเสมอไป จะเป็นความผิดต่อเมื่อการขนย้ายนั้นฝ่าฝืนระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ระเบียบดังกล่าวนี้มีว่าอย่างไรล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริง ถึงแม้จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็หาใช่ข้อกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยทราบระเบียบของคณะกรรมการ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดจำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 44(7) โดยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางขนย้ายน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงาน โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดก็ตาม แต่สาระสำคัญของการกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ที่ว่า ขนย้ายน้ำตาลทรายดิบโดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และในการขนย้ายไม่มีหนังสืออนุญาตกำกับการขนย้ายเท่านั้น รถยนต์บรรทุกและน้ำตาลทรายดิบของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5327/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23, 132 (2), 147, 288 (1)
ชั้นร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำเงินมาวางศาลเพื่อประกันค่าเสียหายภายในเวลาที่กำหนด เมื่อถึงกำหนด ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาการวางเงินประกันดังกล่าว และไม่นำเงินมาวางศาลตามคำสั่ง เช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขยายระยะเวลาการวางเงินเพื่อประกันความเสียหายตามคำขอยกคำร้อง และสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความโดยเห็นว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลที่สั่งให้ผู้ร้องวางเงินเพื่อประกันความเสียหายภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่งนั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288(1) แล้ว ศาลชั้นต้นไม่จำต้องรอไว้สั่งเมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งที่สั่งยกคำร้องขอให้ขยายระยะเวลาการวางเงินเสียก่อนเพราะไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามไว้ ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี แต่กลับอุทธรณ์ขอขยายระยะเวลาการวางเงินเพื่อประกันความเสียหาย ดังนั้นการที่จะสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาให้หรือไม่ย่อมไม่มีผลแต่อย่างใดเนื่องจากศาลสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องไปแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5334/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 126, 127, 138
การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายโดยยึดถือจำนวนเนื้อที่เป็นสำคัญปรากฏภายหลังว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลยได้รวมเอาที่ดินสาธารณะไว้ด้วยบางส่วน ทำให้เนื้อที่ดินขาดหายไป เมื่อโจทก์ไปขอเงินค่าที่ดินคืนจากจำเลย จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้ เช่นนี้ย่อมมีเหตุที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยเอาที่สาธารณะมาขายให้ แม้พฤติการณ์จะยังไม่ปรากฏชัดแจ้งก็ตาม การที่โจทก์พูดขู่จำเลยว่าหากไม่คืนเงินจะฟ้องให้จำเลยติดคุกติดตะราง จำเลยจึงยอมลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับจะใช้เงินที่ขาดคืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5332/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1330 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยอ้างว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินน.ส.3ก. เลขที่ 1206 ของโจทก์ซึ่งซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส.3ก.เลขที่ 993 ซึ่งจำเลยซื้อจากเจ้าของที่ดินเดิมและครอบครองต่อจากเจ้าของที่ดินเดิม น.ส.3ก. ของโจทก์ออกภายหลัง เฉพาะตรงที่พิพาททับที่ดินจำเลย โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองซึ่งหมายความว่า ที่ดินตาม น.ส.3 ก. ของจำเลยเป็น น.ส.3ก. ที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เคยมีการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์จะอ้างสิทธิว่าเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลไม่ได้ ซึ่งโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าน.ส.3ก.ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกทับ น.ส.3ก. ของโจทก์ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติทางใดทางหนึ่ง และตามฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยรู้ถึงการขายทอดตลาดที่ดินน.ส.3ก.ของโจทก์ ซึ่งมีอาณาเขตมาทับที่ดินตาม น.ส.3ก.ของจำเลย จำเลยจึงไม่ได้ไปร้องขัดทรัพย์หรือไปคัดค้านการขายทอดตลาด อันเป็นเรื่องที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วฟังว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทจึงไม่ชอบ จำเลยขอเพิ่มประเด็นว่า ที่พิพาทได้มาโดยสุจริตหรือไม่เพียงใดปรากฏว่าจำเลยให้การไว้ตอนแรกว่า "โจทก์บกพร่องไม่สืบเรื่องราวก่อนซื้อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะไปร้องขอคืนเงินจากกองพิทักษ์ทรัพย์…"ซึ่งหมายความว่าโจทก์ไม่ทราบว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยชอบ เพราะความบกพร่องของโจทก์ที่ไม่สืบเรื่องราวก่อนซื้อ แต่ในตอนต่อมาจำเลยกล่าวในคำให้การว่า "โจทก์ทราบดีว่าที่ดินเป็นของจำเลยโดยชอบ โจทก์ได้ร้องต่อผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์บังคับคดีล้มละลาย กรมบังคับคดีให้กันค่าขายที่ดินไว้ก่อน…" จึงเป็นคำให้การที่ขัดกันเองในตัวไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะสืบในเรื่องความสุจริตของโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ของจำเลยข้อนี้ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 293 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 54
ชั้นบังคับคดี จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนเนื่องจากโจทก์เป็นหนี้เงินกู้กรรมการของบริษัทจำเลย และกรรมการของบริษัทจำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่งแล้วศาลแรงงานกลางเห็นว่า คำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอให้งดการบังคับคดีได้ จึงไม่เห็นควรให้งดการบังคับคดีตามคำร้องและให้ยกคำร้อง เช่นนี้ เป็นการสั่งตามอำนาจที่ใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้สั่งให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนเพื่อมีคำสั่งให้งดการบังคับคดี จึงเป็นอุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5311/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 213
โจทก์ฟ้อง และนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2กระทำผิดอย่างเดียวกัน และพร้อมกันจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ก็ไม่อาจฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดด้วย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 323
เงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมนั้น ย่อมเป็นเงินที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 323 ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวจะต้องเรียกเอาภายใน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำเงินมาวางศาลอันเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินนั้นได้ หาใช่นับจากวันที่โจทก์ได้รู้ว่ามีการวางเงินไม่ เมื่อโจทก์มิได้เรียกเอาเงินดังกล่าวภายใน 5 ปี เงินจำนวนนี้จึงตก เป็นของแผ่นดินและโจทก์เป็นอันสิ้นสิทธิที่จะขอรับไป.