คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4737/2533
ประมวลรัษฎากร ม. 108, 118 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1401 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 10 กระทำกิจการหลายอย่างรวมทั้งฟ้องคดีนี้ จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป และโจทก์ดังกล่าวต่างอ้างว่ามีสิทธิใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิที่เป็นเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์คนละแปลงต่างกัน แม้จะทำหนังสือมอบอำนาจเป็นตราสารฉบับเดียวกันก็ตาม ก็ต้องเสียอากรตามรายบุคคลคนละ30 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 108 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 21(ข) จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 270 บาท โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9ปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท จึงไม่บริบูรณ์ ต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตามมาตรา 118 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามลักษณะ 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งได้แก่อายุความตามมาตรา 1382 ที่กำหนดว่าถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์มีอายุความ 10 ปี มาตราดังกล่าวมุ่งหมายถึงเฉพาะเจ้าของสามยทรัพย์ผู้ใช้สิทธิทางภารจำยอมในภารยทรัพย์เท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงเจ้าของภารยทรัพย์ แม้จำเลยจะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภารยทรัพย์มาจากนายจิตติโจทก์เจ้าของสามยทรัพย์ก็นับอายุความการใช้ทางพิพาทตั้งแต่นายจิตติเจ้าของเดิมรวมกับระยะเวลาที่จำเลยเป็นเจ้าของติดต่อกันได้เมื่อปรากฏว่าเกิน 10 ปี ย่อมได้ภารจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401 โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมเฉพาะที่ดินของโจทก์ที่ 10 ศาลอุทธรณ์ก็ต้องพิพากษาให้ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมเฉพาะแต่ที่ดินของโจทก์ที่ 10และระบุเลขที่ดินและเลขโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 10 ที่ได้ความจากทางพิจารณาลงไปให้ชัดเจน และที่ให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงคอนกรีตและประตูเหล็กยืด ก็มีในคำขอท้ายฟ้อง ศาลอุทธรณ์จึงไม่ได้พิพากษาเกินหรือนอกไปจากคำขอท้ายฟ้อง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4736/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1402 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183
คำฟ้องของโจทก์นอกจากจะบรรยายว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังบรรยายด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำผิดหน้าที่ผู้อาศัยเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่อาศัยเสียหาย คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยด้วยว่า จำเลยทั้งสามในฐานะผู้อาศัยจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดเพลิงไหม้แก่ห้องแถวของโจทก์หรือไม่ โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยในห้องแถวของโจทก์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า เพราะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 3 และเป็นมารดาจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเห็นได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยดังกล่าวมิใช่เป็นสิทธิอาศัย ทั้งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ไม่อาจนำบทบัญญัติบรรพ 4ลักษณะ 5 ว่าด้วยสิทธิอาศัยมาใช้บังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204, 368 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243
แม้สัญญาประนีประนอมยอมความตามคำพิพากษาจะกำหนดให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันที่ 20 ตุลาคม2532 เวลา 11 นาฬิกาก็ตาม แต่ตามคำร้องของโจทก์อ้างว่าได้มอบหมายให้ทนายไปที่สำนักงานที่ดินเวลา 10.45 นาฬิกาและได้แจ้งให้ทนายจำเลยที่ 2 ทราบ โดยขอให้แจ้งเจ้าพนักงานเตรียมหลักฐานการโอนไว้ด้วย และโจทก์ได้ไปถึงสำนักงานที่ดินพร้อมทั้งเช็คและเงินสดเมื่อเวลา 12.10 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมดำเนินการให้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้อง ก็ไม่อาจถือว่าโจทก์ผิดนัดผิดสัญญา เพราะเวลา11 นาฬิกาที่กำหนดนัดหมาย ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หมายถึงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกันเพื่อเริ่มดำเนินการตามแบบพิธีของทางราชการมิใช่หมายถึงเวลาที่ทำการโอนเสร็จเรียบร้อย แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ จำเลยที่ 2 แถลงคัดค้านอยู่ จะต้องมีการไต่สวนทั้งสองฝ่ายว่าความจริงเป็นประการใดจึงจะวินิจฉัยได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดโดยพิจารณาเฉพาะคำร้องนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4731/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375, 1381
โจทก์ครอบครองทำกินในที่พิพาทตลอดมา โจทก์เคยบอกจำเลยว่าได้ซื้อที่พิพาทมาจากผู้อื่นจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทโดยสุจริตโดยครอบครองเพื่อตนแล้ว เมื่อเป็นเวลาเกินกว่า1 ปี และจำเลยไม่ได้ฟ้องเอาคืนภายในเวลาดังกล่าว ที่พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4730/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 (1), 587
หลังจากจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารแล้วเศรษฐกิจของบ้านเมืองเปลี่ยนไป วัสดุก่อสร้างขึ้นราคา ทางราชการโดยมติคณะรัฐมนตรีจึงคิดค่าวัสดุก่อสร้างที่ราคาเพิ่มขึ้นชดเชยให้แก่ผู้ก่อสร้างที่รับจ้างก่อสร้างอาคารสถานที่ของทางราชการสัญญาชดเชยค่าก่อสร้างให้ผู้รับจ้างระบุให้ยึดถือสัญญาการก่อสร้างที่ได้ทำไว้ต่อกันเป็นสัญญาเดิมและเป็นหลักที่จะปฏิบัติตามสัญญานี้ ต่อไป เงินชดเชยค่าก่อสร้างจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามสัญญาก่อสร้างเดิม การรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้าง ทำของชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 โจทก์เป็นพ่อค้ารับจ้าง ทำของเรียกร้องเอาค่าทำของ จึงต้องเรียกร้องเอาภายใน2 ปี นับแต่วันส่งมอบของ กรณีของโจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2518 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม2527 เกิน 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 165(1).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 491 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง (5)
โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าสัญญาขายฝากที่ดิน ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานก็มิได้กำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ฉะนั้นที่โจทก์จำเลยนำสืบถึงปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องและคำให้การ ไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงแห่งคดี แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลอาจยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเองได้ แต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่มิได้เกิดจากข้อเท็จจริงในประเด็นในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ไม่สมควรที่จะยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4726/2533
nan
nan
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 132, 368, 420, 427, 437
จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเรือซาอุดี เย็นโบ ในการลากจูงเรือออกจากท่าเรือของโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองเรือไม่ได้เป็นผู้ควบคุมและสั่งการเดินเรือเมื่อเกิดเหตุเรือชนท่าเรือของโจทก์ กรณีละเมิดดังกล่าวมิได้เกิดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด ปรากฏตามคำร้องขอเช่าเรือลากจูงจากโจทก์ของจำเลยที่ 2 ว่า"ข้าพเจ้ายอมเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการลากจูงนี้ และไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยในกรณีที่มีการเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือที่ถูกลากจูง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ" ซึ่งหมายความว่า หากการลากจูงนั้นเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบแต่ถ้าหากการลากจูงนั้นเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นแก่เรือที่ถูกลากจูงซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนอยู่ จำเลยที่ 2 ก็ดีฝ่ายเรือที่ถูกลากจูงก็ดี ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์หรือไม่จึงต้องดูที่ว่าความเสียหายเกิดจากการลากจูงหรือไม่เมื่อปรากฏว่าความเสียหายเกิดขึ้นขณะที่เรือลากจูงดันเรือซาอุดี เย็นโบ เข้าเทียบท่าเนื่องจากเครื่องยนต์ดับ การลากจูงยังไม่เสร็จสิ้นยังไม่พ้นจากท่าเรือของโจทก์ ขณะดัน เรือเข้าเทียบท่ายังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของเรือลากจูง ฉะนั้น การที่เรือลากจูงดันเรือซาอุดี เย็นโบเข้าเทียบท่าไปกระทบปั้นจั่นและโรงพักของโจทก์เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการลากจูงซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบตามคำร้องขอเช่าหรือลากจูงซึ่งโจทก์ตกลงด้วยแล้ว คำร้องดังกล่าวถือเป็นสัญญาผูกพันจำเลยที่ 2 ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4724/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183, 225 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382
คดีมีประเด็นว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง หรือไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทแทนเจ้าของ ที่ดิน เป็นการชี้ให้เห็นว่าโจทก์อยู่ในที่พิพาทโดยไม่มีเจตนาเป็นเจ้าของจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยต่อสู้ไว้ด้วยว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของผู้อื่น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นพิพาท โจทก์ฟ้องและให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ซื้อที่ดินสองแปลงและโจทก์ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาโดยตลอดนับแต่วันซื้อ แต่โจทก์ฎีกาทำนองว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาเพียงแปลงเดียว ฎีกาของโจทก์จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น โจทก์เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยการซื้อบ้านจากผู้เช่าที่พิพาทปลูกบ้านโจทก์จึงอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของผู้เช่า เป็นการครอบครองแทนเจ้าของ โจทก์ครอบครองที่พิพาทนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4723/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 225, 246, 247, 249
ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 แม้ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาทเป็นการไม่ถูกต้อง แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีคำขอให้ศาลฎีกาแก้ไขราคาให้ ในชั้นอุทธรณ์โจทก์และจำเลยที่ 2 ก็ได้ อุทธรณ์ในลักษณะดังกล่าวโดยไม่มีคำขอบังคับเช่นเดียวกัน ศาลอุทธรณ์จึงไม่ได้วินิจฉัยให้ ดังนี้ ถือว่าฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับราคาทรัพย์เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีคำขอบังคับ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้.