คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5169/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 158, 161
การที่จำเลยครอบครองทรัพย์สินที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดก ถือได้ว่า เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754มาใช้บังคับมิได้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินพิพาทจากจำเลยได้ ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ย่อมตก อยู่แก่ฝ่ายที่แพ้คดี เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แต่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา การที่ศาลชั้นต้นให้ฝ่ายจำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถากับให้ชำระต่อศาลในนามโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 จึงชอบด้วยกฎหมาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1733 วรรคสอง, 1754 กฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 172 วรรคสอง, 177 วรรคสอง, 183, 272
โจทก์ฟ้องกองมรดกของผู้ตายโดย นายส.นายอ.นายช.ผู้จัดการมรดกและบรรยายฟ้องว่า ศาลแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโจทก์ทวงถามให้แบ่งมรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์แต่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้ ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องบุคคลทั้งสามดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก ศาลย่อมบังคับให้ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งจะต้องฟ้องเรียกเสียภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุว่าโจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีคดีจึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างถึงคืออายุความตา:มมาตรา 1755 มิใช่มาตรา 1733 วรรคสอง จึงมีประเด็นวินิจฉัยเฉพาะอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 เพียงอย่างเดียวที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1733วรรคสอง และพิพากษายกฟ้องของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่:ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 4291/2529) โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททั้งหลายเท่านั้น จำเลยไม่อาจจะยกอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ผู้ตายและ ล. เป็นสามีภริยากันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมใช้บังคับ โดยไม่มีสินเดิมทั้งสองฝ่าย ผู้ตายจึงมีส่วนในสินสมรสสองในสามส่วนซึ่งตกเป็นมรดกแก่ทายาท โจทก์เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้ทายาทอื่นโดยไม่แบ่งปันให้โจทก์ตามส่วน เป็นการแบ่งปันที่มิชอบด้วยกฎหมายโจทก์ชอบที่จะขอให้แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายใหม่ได้ จำเลยจะอ้างว่าได้แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้ทายาทอื่น………………… …………………………………………….จนหมดสิ้นแล้ว ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะแบ่งปันให้โจทก์อีกหาได้ไม่ วิธีการดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามฟ้องกันอย่างไรเป็นเรื่องของการบังคับคดี ไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษา.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1658, 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18, 55, 151 วรรคแรก
บุคคลผู้มีสิทธิที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 คงมีเพียงทายาทผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการเท่านั้น ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของผู้ตายมีใจความว่า ให้พ.เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยให้ขายบ้านและที่ดินแล้วรวมกับเงินสดซึ่งฝากไว้กับธนาคารใช้ฌาปนกิจศพของผู้ตาย ส่วนที่เหลือให้นำถวายวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย หาได้มีข้อความตอนใดระบุชื่อวัดผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรมของผู้ตายไม่การที่ พ. ผู้จัดการมรดกคนเดิมของผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ว่าจะรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายถวายวัดผู้ร้องยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่ผู้ร้องที่จะเรียกเอาทรัพย์มรดกรายนี้ได้ตามกฎหมายผู้ร้องจึงไม่ใช้ผู้มีสิทธิที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การวินิจฉัยถึงสิทธิของผู้ร้องว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่าผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ไม่ใช่กรณีที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่คืนค่าขึ้นศาลให้แก่ผู้ร้อง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5150/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271
ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17419ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมบางส่วน เนื้อที่ 300 ตารางวา ในราคาตารางวาละ 350 บาทตามรูปแผนที่ท้ายฟ้องให้แก่โจทก์แม้เจ้าพนักงานจะออกใบแทนโฉนดดังกล่าวระบุว่าตำบลสระน้ำจัน แต่รูปแผนที่ยังเหมือนเดิมทุกประการแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามคำพิพากษาดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานเขียนตำบลในใบแทนโฉนดที่ดินเปลี่ยนไป อาจเกิดขึ้นโดยคลาดเคลื่อนก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะเจ้าพนักงานสามารถจดทะเบียนให้ได้ เนื่องจากหมายเลขโฉนดตรงกัน สำหรับจำนวนเนื้อที่ 300ตารางวา ตามรูปแผนที่ท้ายฟ้อง แม้คำพิพากษาจะมิได้กำหนดความกว้างและความยาวเอาไว้ แต่ก็ปรากฏชัดอยู่ในแผนที่พิพาทที่โจทก์จำเลยนำชี้แนวเขตซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 299 ตารางวา ที่ดินพิพาทจึงมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับที่คู่ความพิพาทกันตามคำพิพากษาดังกล่าวและรูปแผนที่ท้ายฟ้องมากที่สุด คำพิพากษาดังกล่าวจึงอยู่ในวิสัยจะบังคับคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 354
โจทก์เป็นหนี้บริษัท จ. โจทก์มีหนังสือถึงนาย จ. บิดาโจทก์ขอให้ชำระหนี้แทนโดยโจทก์จะโอนหุ้นของโจทก์ในบริษัทแห่งอื่นรวม 5 บริษัทให้แก่นาย จ. เป็นการชดใช้ให้ ซึ่งในหนังสือดังกล่าวโจทก์แสดงความประสงค์ไว้ว่า โจทก์ยังหวังที่จะกลับมามีส่วนในครอบครัวต่อไปภายหน้า ถ้าเป็นไปได้เมื่อไหร่ ที่โจทก์พร้อม โจทก์อยากจะขอซื้อหุ้นที่จะโอนให้แก่นาย จ. กลับคืน โดยโจทก์ยินยอมที่จะซื้อคืนมาในราคาที่โอนไปบวกดอกเบี้ยตามอัตราที่นาย จ.หรือสมาชิกของครอบครัวจะกำหนดให้ข้อความดังกล่าวไม่เป็นการแสดงเจตนาแสดงความประสงค์ของโจทก์ในลักษณะที่เป็นคำขอให้นาย จ.ทำสัญญาด้วย และไม่เป็นการชัดเจนแน่นอนว่าข้อที่จะทำให้เกิดหรือมีขึ้นคือการซื้อหุ้นดังกล่าวนั้นจะมีทางเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่เมื่อใด ข้อความที่ว่าโจทก์ยังหวังที่จะกลับมามีส่วนในครอบครัวต่อไปภายหน้าทำให้เห็นได้เป็นการแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่โจทก์คาดหวังไว้ล่วงหน้า ถ้ามีโอกาสก็จะทำอย่างนั้นซึ่งในขณะที่ทำหนังสือถึงนาย จ. นั้น โจทก์ก็ยังไม่รู้ว่าโอกาสเช่นนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ และยังไม่แน่นอนว่านาย จ. จะรับโอนหุ้น ที่โจทก์อ้างถึงเป็นการชำระหนี้หรือไม่ ทั้งยังไม่ได้มีการโอนหุ้นไปเป็นของนาย จ. ขณะนั้นจึงต้องถือว่าเรื่องการโอนหุ้นเป็นการชำระหนี้เป็นเรื่องอนาคต แม้ต่อมา นาย จ. ได้ตอบตกลงรับโอนหุ้นเป็นการชำระหนี้เงินกู้และโจทก์ได้โอนให้ นาย จ. ไปแล้วก็ตามข้อความที่ปรากฏในหนังสือที่โจทก์มีถึงนาย จ. ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำเสนอที่โจทก์ขอซื้อหุ้นคืนจากนาย จ. แต่เป็นเพียงข้อปรากฎถึงสิ่งที่โจทก์คาดหวังไว้ในอนาคตเท่านั้น ไม่มีผลที่จะผูกนิติสัมพันธ์อย่างใดกับผู้ที่ได้รับการปรารถเช่นนั้น.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 268 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 35
โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมจะขอถอนฟ้อง ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดต่อส่วนตัว แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264,268 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน โจทก์ร่วมไม่อาจขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 ทั้งการที่โจทก์ร่วมขอถอนฟ้องก็ไม่ทำให้การกระทำผิดของจำเลยซึ่งสำเร็จไปแล้วกลับเป็นขาดองค์ประกอบความผิด เพราะโจทก์ร่วมไม่เสียหายได้อีก การกระทำของจำเลยจึงยังเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,268.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5122/2533
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 13
เครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าที่ติดตั้ง ต้องติดตั้งในโรงเรือนและต้องเป็นส่วนควบอันสำคัญจึงจะได้รับประโยชน์ตามมาตรา 13 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 เครื่องจักรผสมคอนกรีตไม่ใช่โรงเรือน เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น แม้จะติดตั้งเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี อาคารสำนักงานแม้จะใช้เป็นที่ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตโดยผ่านสวิตซ์บอร์ดซึ่งติดอยู่ที่อาคารแต่การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ ความสำคัญอยู่ที่เครื่องจักรผสมคอนกรีตฉะนั้นแม้สวิตซ์บอร์ดจะเป็นส่วนควบของโรงเรือนอันเป็นสำนักงานก็หาเป็นส่วนควบที่สำคัญเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (5), 59, 309 วรรคสอง, 339
จำเลยเพียงใช้ลูกกุญแจจี้ที่เอวผู้เสียหาย ทรัพย์ที่จำเลยเอาไปมีเพียงปากกาเขียนแบบกับดินสอ ซึ่งมีราคาไม่มากนัก มิได้เอาทรัพย์อย่างอื่นไปด้วย เมื่อผู้เสียหายขอคืนโดยอ้างว่าจะสอบในวันรุ่งขึ้น จำเลยยอมคืนดินสอ ให้โดยดี ส่วนปากกาเขียนแบบจำเลยบอกให้ไปรับคืนที่โรงเรียนที่จำเลยกำลังศึกษาอยู่ หลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้หลบหนี ผู้เสียหายนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยได้ห่างจากที่เกิดเหตุเพียงประมาณ 200 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหายจริงจัง แต่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำด้วยความคึกคะนองตามประสา วัยรุ่นที่โง่เขลาการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
การที่จำเลยใช้ลูกกุญแจจี้ที่เอวผู้เสียหายแล้วดึงปากกาเขียนแบบกับดินสอ ซึ่งเหน็บอยู่ที่สมุดของผู้เสียหายไปนั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ลูกกุญแจดังกล่าวอย่างอาวุธ และมีเจตนาให้ผู้เสียหายเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าขัดขืน ถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้จำยอมตามความประสงค์ของจำเลย โดยทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพโดยใช้อาวุธ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5154/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 260, 290 วรรคแรก
คดีเดิมซึ่งผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ศาลได้ออกหมายอายัดเงินของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาไปยัง อ. และเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลได้อายัดเงินของจำเลยไว้นั้น เป็นการอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวในขณะที่จำเลยยังไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้จึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดีอายัดเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา (จำเลย) จาก อ.เพื่อบังคับคดีได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 290 วรรคแรก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5144/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369, 537, 1356, 1358, 1359, 1360 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
แม้จำเลยจะมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในที่ดินที่เข่าและส่วนของจำเลยกับส่วนของโจทก์ยังไม่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ซึ่งจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาเช่าตามที่โจทก์ฟ้องจริงแต่มิได้ผิดสัญญาจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญา สัญญาที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยตกลงทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนตัวแต่ผู้เดียวโดยลำพัง ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจต่างหากนอกจากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดสัญญา จึงฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยมิให้เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ได้ จำเลยได้ทำวังกุ้งอยู่ก่อนแล้ว ได้จ้างผู้อื่นขุดดินทำคันกั้นน้ำ แต่ที่ดินแปลงที่จำเลยทำไม่พอทำวังกุ้งจึงได้มาตกลงเช่าที่ดินในส่วนของโจทก์เพิ่มขึ้น เห็นได้ว่าแม้จำเลยได้ลงทุนในการทำวังกุ้งมากก็ตามแต่จำเลยได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของตนนั่นเองสัญญาเช่ามีกำหนด 5 ปี ไม่มีข้อตกลงใด ๆ บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าจำเลยตกลงเช่าที่ดินโจทก์โดยมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลา 10 ปีสัญญาเช่าที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ไม่ใช่สัญญาเช่าที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดามีกำหนด 10 ปี.