คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 285, 286 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511

ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285,286 เมื่อหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ร้องที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่มิได้อยู่ในบทบัญญัติข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าวจึงต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สำหรับเงินค่าหุ้นนั้น แม้จะเป็นเงินทุนของผู้ร้องตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 และข้อบังคับของผู้ร้องก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ส่วนข้อบังคับของผู้ร้องเกี่ยวกับการหักหรือคืนเงินค่าหุ้นตลอดจนกำหนดว่าสมาชิกของผู้ร้องจะขาย โอน ถอนหุ้นดังกล่าวระหว่างเป็นสมาชิกไม่ได้นั้น ก็เป็นเรื่องภายในระหว่างสมาชิกผู้ร้องเอง มิใช่กฎหมายหามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79, 229

ศาลชั้นต้นให้ปิดประกาศแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้โจทก์ทราบหน้าศาล เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไม่มาศาล จะถือว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านในวันดังกล่าวแล้วไม่ได้ เพราะกำหนดเวลายังมิได้ล่วงพ้นไปสิบห้าวันนับแต่วันที่ปิดประกาศตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 ต้องถือว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาในวันที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษา และโจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันดังกล่าว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 148, 157, 162

จำเลยได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานด้านธุรการไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร์และงานบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยกระทำมิชอบเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนราษฎร์และงานบัตรประจำตัวประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148,157 และ 162 จำเลยจึงไม่อาจกระทำความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 30, 220

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เฉพาะแต่โจทก์เท่านั้นที่อุทธรณ์ส่วนโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ด้วย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมไม่มีข้อที่จะคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกา.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1066

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1066/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 164, 226, 609 วรรคท้าย, 624

ปัจจุบันกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลของประเทศ ไทย ยังไม่มี ในเรื่องอายุความฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าหรือสิ่งของที่ขนส่งทางทะเล ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1ว่าด้วยรับขนของ อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งรับสินค้าไปเมื่อพุทธศักราช 2522 และ 2523 โจทก์รับช่วงสิทธิเรียกร้องจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายและบุบสลายของสินค้าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ. (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2532)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1623

บิดามารดายกที่นาให้แก่พระภิกษุ ข. ภายหลังที่พระภิกษุข.บวชเป็นพระภิกษุ การที่พระภิกษุข.ขายที่นาแปลงดังกล่าวและนำเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคาร เงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุข.ถึงแก่มรณภาพ เงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุข.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118

โจทก์และจำเลยต่างมอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ไปทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ส. ได้ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้วสัญญาขายฝากที่ทำขึ้นย่อมเป็นนิติกรรมที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีผลผูกพันกันตามสัญญา มิใช่มีเจตนาอำพรางแต่อย่างใด จำเลยจะอ้างว่ามีเจตนาอำพรางสัญญาจำนองหาได้ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044 - 1049/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 169

จำเลยจ้าง โจทก์ทำงานก่อสร้างหลายโครงการ ในการจ้างค่าจ้างแต่ละครั้งไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน และจำนวนที่จ่ายให้ก็สุดแล้วแต่ฝ่ายจำเลยจนเมื่องานเสร็จตามโครงการก่อสร้างจึงปรากฏว่าจำเลยได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตามจำนวนที่ฟ้อง อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการทำงานตามโครงการก่อสร้างนั้นเมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 145

จำเลยที่ 4 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 4 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเกินกว่าส่วนที่ควรจะได้ ดังนี้ไม่ใช่คำพิพากษาแสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แม้ว่าโจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินแปลงนั้นจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ก็ตาม คำพิพากษาตามยอมบังคับโจทก์ไม่ได้ และไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 406 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 114

การที่ กรมสรรพากร ผู้คัดค้านรู้ถึงภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทลูกหนี้แล้วได้ยอมรับชำระหนี้ค่าภาษีและอากรแสตมป์ของบริษัทลูกหนี้โดยการผ่อนชำระ จึงเป็นการรับชำระหนี้โดยไม่สุจริตเมื่อการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการกระทำนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาพ.ศ. 2483 มาตรา 114 แม้การตกลงชำระหนี้ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้านดังกล่าว เป็นการกระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายก็ตาม ก็หาใช่เป็นข้อจำกัดอำนาจศาลที่จะสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าวไม่ เมื่อศาลสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้าน ก็เท่ากับว่าเป็นการชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ผู้คัดค้านจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะลาภมิควรได้ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้คัดค้านคืนเงินดังกล่าวตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ การที่ผู้คัดค้านต้องคืนเงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะการชำระหนี้ได้ถูกเพิกถอน ซึ่งเป็นไปโดยผลของคำพิพากษากรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย เพราะตราบใดที่การชำระหนี้ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้านยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนก็ยังถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบอยู่ ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย.

« »
ติดต่อเราทาง LINE