คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173 - 1174/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 27, 188 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1711, 1713

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกศาลประกาศวันเวลานัดไต่สวนคำร้องและว่าผู้ใดจะคัดค้านให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนกำหนดนี้ กำหนดระยะเวลาให้ยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว หมายถึงกำหนดวันเวลาที่จะมีการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องจริง ๆ เมื่อถึงวันนัดตามที่ระบุไว้ในประกาศของศาลศาลยังไม่ได้ไต่สวนพยานของผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนมีการไต่สวนพยานของผู้ร้องจริง ๆ จึงเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด เมื่อศาลสั่งรับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ไว้แล้วก็ชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ไม่ควรยกคำร้องคัดค้านนั้นเสียก่อน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 221 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 22

เมื่อความผิดฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครอง และฐานทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าว แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยข้อหาความผิดฐานมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองและฐานทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครองฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครอง และฐานทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาตได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 52 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ ม. , ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน

การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ข้อ 22 ซึ่งกำหนดว่า "การจ่ายค่าทดแทนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน แต่การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจะทำได้ก็แต่โดยอนุมัติของอธิบดี กรมแรงงาน หรือผู้ซึ่งอธิบดี กรมแรงงาน มอบหมายเท่านั้น"เมื่อคดีของโจทก์ไม่ปรากฏว่าอธิบดี กรมแรงงาน หรือผู้ซึ่งอธิบดี กรมแรงงาน มอบหมายได้พิจารณาอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ในคราวเดียวเต็มจำนวนแล้ว ยังปรากฏจากคำขอบังคับแห่งคำฟ้องของโจทก์ว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์เป็นเวลา2 ปี 9 เดือน แสดงว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้จำเลยเป็นรายเดือนที่ศาล แรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวเต็มจำนวน จึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391

เดิมโจทก์ จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันโดยจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระเป็นค่าซื้อที่ดินบางส่วนต่อมา เมื่อโจทก์จำเลยต่างบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกันแล้ว จำเลยก็ไม่มีหน้าที่ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์อีก โจทก์ไม่อาจนำเช็คพิพาทมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 54

โจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึงสัญญาของผู้เข้าทำงานที่จำเลยทำกับโจทก์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของจำเลย และรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาฉบับดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเพราะปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเฉพาะมิใช่เรื่องละเมิด เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3ลักษณะ 6 มิได้กำหนดอายุความไว้ คดีโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164 จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างตามฟ้องโจทก์ที่อ้างว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินโดยตรงเพราะตำแหน่งหัวหน้ากองรักษาเงินที่จำเลยดำรงอยู่นั้นเป็นผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า มีระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 72 กำหนดส่วนงานของกองรักษาเงิน และระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 กำหนดหน้าที่ของผู้รักษาเงินซึ่งเป็นคนละส่วนกัน จำเลยเป็นหัวหน้ากองรักษาเงินจึงไม่ใช่ผู้รักษาเงินตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 4 นั้นอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยวินิจฉัยว่า จำเลยไม่อาจหยิบยกประเพณีหรือทางปฏิบัติมาเป็นข้อแก้ตัวจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง หละหลวม มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร กับจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ช่วยของจำเลยทุจริต การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง จำเลยมิได้ทุจริตมิได้ประมาทหรือบกพร่องต่อหน้าที่ โจทก์ไม่มีระเบียบข้อบังคับคำสั่งให้จำเลยจดแจ้งจำนวนเงินนำเข้าออก จำเลยได้มอบหมายงานในหน้าที่ให้ผู้ช่วยของจำเลยไปแล้ว หากจำเลยต้องรับผิดก็รับผิดเพียงกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายอันเป็นไปตามสภาพการทำงานระหว่างจำเลยกับผู้ช่วยของจำเลยนั้น จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 124, 224, 377, 378 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 1

การนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงอันจะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 124 นั้น จะต้องเป็นการนิ่งในพฤติการณ์ที่คู่กรณีมีหน้าที่ควรจะบอกความจริง หรือเป็นการนิ่งประกอบด้วยพฤติการณ์อันแสดงออกซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหลง กรณีที่จะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินที่จะซื้อขายหรือไม่ไม่ใช่หน้าที่ของผู้จะซื้อ ที่จะบอกข้อความจริงดังกล่าว หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้จะขายที่ดินพิพาทจะต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอาเอง แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้จะซื้อจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวซึ่งผู้จะขายมิได้รู้มาก่อนและถ้าฝ่ายผู้จะซื้อมิได้นิ่งเสีย สัญญาจะซื้อขายที่ดินก็จะมิได้ทำขึ้นนั้น การกระทำของผู้จะซื้อก็ไม่เป็นกลฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 124 แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อ และได้แจ้งให้โจทก์รับเงินมัดจำคืน และโจทก์ไม่ยอมรับคืน แต่เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะไม่ยอมรับเงินมัดจำคืนในขณะนั้นได้และเมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา หากจำเลยจะต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยด้วย นับแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่จำเลยผิดนัด ประเด็นที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเป็นเรื่องขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยขอให้บังคับจำเลยให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และรับเงินตามราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันไปจากโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2532

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 119

การผิดสัญญาของผู้ประกันทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ประกันได้ดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมาศาล เช่นนี้ไม่มีเหตุอันควรที่จะลดค่าปรับให้ อัตราโทษตามกฎหมายที่จำเลยถูกฟ้องและข้อสันนิษฐานที่ปราศจากพยานหลักฐาน ก็ไม่เป็นเหตุที่จะขอลดค่าปรับให้ผู้ประกันเช่นกัน.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119/2532

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 90 พระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณในระหว่างเวลา ประกาศใช้กฎอัยการศึกของคณะปฏิวัติ ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ม. 66

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนมีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคนติดต่อขายเฮโรอีน แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เป็นคนไปขนเฮโรอีนมาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ดังนี้ ก่อนที่จะส่งมอบเฮโรอีนให้แก่ผู้ซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีเฮโรอีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนดังกล่าว และมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224

บริษัท ส. ซึ่งถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างค้างชำระค่าภาษีกากรแก่โจทก์รวม 334,537.34 บาท เฉพาะเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ถึง จำเลยที่ 6 และที่ 8 ค้างชำระค่าหุ้นของบริษัท ส. รวมเป็นเงิน 374,250 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินค่าภาษีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องทั้งหมด แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากหนี้เงินค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 หรือไม่ก็ตาม เมื่อเงินต้นที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์รวมกันเกินกว่าจำนวนหนี้ทั้งหมดที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ ดังนี้ ไม่มีเหตุที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2532

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 172

โจทก์ฟ้องว่า คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นการฟ้องโดยอ้างมูลละเมิดเป็นหลักแห่งข้อหาแต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งโดยไม่สุจริต ทั้งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่า จำเลยมีคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร คำสั่งของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายใดถือไม่ได้ว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิด และโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.

« »
ติดต่อเราทาง LINE